เป็นข่าวที่สร้างความโศกเศร้าให้กับวงการบันเทิงไทยเป็นอย่างมาก สำหรับการจากไปของ เอก สรพงศ์ ชาตรี หนึ่งในพระเอกตลอดกาลของเมืองไทย ที่นับได้ว่าเป็นตำนานอยู่คู่วงการบันเทิงไทยมาอย่างยาวนานกว่า 50 ปี ก่อนจะเสียชีวิตในวัย 71 ปี ด้วยโรคมะเร็งปอด
อ่านข่าว : ปิดตำนาน สรพงศ์ ชาตรี เสียชีวิตแล้ว หลังป่วยมะเร็ง อาการทรุดหนัก
ทั้งนี้ แม้ว่า สรพงศ์ ชาตรี จะจากไปแล้ว แต่ภาพจำและผลงานของเขาก็ยังคงอยู่ในใจของแฟน ๆ ไม่เสื่อมคลาย
สำหรับประวัติของ พี่เอก สรพงศ์ ชาตรี มีชื่อจริงว่า พิทยา เทียมเศวต ภายหลังเปลี่ยนเป็นกรีพงศ์ เทียมเศวต เป็นนักแสดงที่มีชื่อเสียงอย่างมากช่วงปลายยุค 70 ถึงกลางยุค 80 จนถึงปัจจุบัน และยังได้รับเลือกเป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง พ.ศ. 2551
สรพงศ์ ชาตรี เกิดเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2493 ที่ อ.มหาราช จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นบุตรของนายชื้น และ นางพริ้ว เทียมเศวต จบการศึกษาชั้น ป.4 แล้วบวชเรียนตั้งแต่อายุ 8 ขวบ ที่วัดเทพสุวรรณ จ.พระนครศรีอยุธยา และวัดดาวดึงส์ บางยี่ขัน ธนบุรี จนกระทั่งลาสิกขาเมื่อ พ.ศ. 2512 เมื่ออายุได้ 19 ปี ก่อนจะได้พบกับหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล ซึ่งชักชวนให้มาอาศัยอยู่ที่วังละโว้ ของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ
สรพงศ์ ชาตรี เริ่มงานแสดงครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2512 ในบทตัวประกอบและเป็นเด็กยกของในกองถ่ายละครเรื่อง นางไพรตานี ช่อง 7 และเป็นตัวประกอบในละคร ห้องสีชมพู และ หมอผี ซึ่งหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล เป็นผู้กำกับ
สำหรับชื่อ สรพงศ์ ชาตรี ที่ใช้ในการแสดง มีผู้ตั้งให้คือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ และหม่อมอุบล ยุคล ณ อยุธยา โดยคำว่า "สร" มาจาก อนุสรมงคลการ "พงศ์" มาจาก สุรพงศ์ โปร่งมณี (ผู้พามาฝากตัวกับหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม) และ "ชาตรี" มาจาก ชาตรีเฉลิม
สรพงศ์ ชาตรี มีผลงานภาพยนตร์เรื่องแรก เป็นตัวประกอบในเรื่อง สอยดาว สาวเดือน (พ.ศ. 2512) ซึ่งไม่มีบทพูดและออกมาเพียงฉากเดียว เช่นเดียวกับผลงานภายนตร์เรื่องที่ 2 คือเรื่อง ต้อยติ่ง ในปีเดียวกัน และในเรื่องที่ 3 คือเรื่อง ฟ้าคะนอง (พ.ศ. 2513) จึงเริ่มมีบทพูด แม้จะออกมาเพียงฉากเดียวก็ตาม
สรพงศ์ ชาตรี ได้รับบทพระเอกเต็มตัวครั้งแรก ในภาพยนตร์เรื่องที่ 4 คือ มันมากับความมืด (พ.ศ. 2514) ผลงานกำกับภาพยนตร์เรื่องแรกของหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม จากนั้นได้รับบทในภาพยนตร์ของหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิมแทบทุกเรื่อง ทั้งบทพระเอก พระรอง และเป็นผู้ช่วยผู้กำกับในบางครั้ง
สรพงศ์ ชาตรี มีผลงานแสดงกว่า 500 เรื่อง โดยได้รางวัลตุ๊กตาทองจากเรื่อง ชีวิตบัดซบ และเรื่อง สัตว์มนุษย์ 2 ปีติดต่อกัน และมีชื่อเสียงในต่างประเทศจากเรื่อง แผลเก่า (พ.ศ. 2520) กำกับโดย เชิด ทรงศรี ซึ่งนับว่าประสบความสำเร็จสูงสุด
สรพงศ์ ชาตรี ได้รับรางวัลทางการแสดงจากหลายสถาบัน เช่น รางวัลตุ๊กตาทองพระสุรัสวดี ดารานำชายยอดเยี่ยม จากเรื่อง สัตว์มนุษย์, ชีวิตบัดซบ, มือปืน, มือปืน 2 สาละวิน และ เสียดาย 2 รางวัลสุพรรณหงส์ ดารานำชายยอดเยี่ยม จากภาพยนตร์เรื่อง ถ้าเธอยังมีรัก และ มือปืน รางวัลนักแสดงประกอบชายจากเรื่อง องค์บาก 2 และรางวัลชมรมวิจารณ์บันเทิง นักแสดงชายยอดเยี่ยม จากเรื่อง มือปืน 2 สาละวิน
ชีวิตส่วนตัว สรพงศ์ ชาตรี มีบุตรทั้งหมด 4 คน คือ พิมพ์อัปสร (ขวัญ), พิศุทธินี (เอิง), พิศรุตม์ (เอม) และพัทธกฤต เทียมเศวต (อั้ม) ซึ่งพิมพ์อัปสร บุตรคนแรก เกิดกับ ทัศน์วรรณ เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา ส่วนบุตรคนที่ 2-4 เกิดกับ คุณแอ๊ด พิมพ์จันทร์ ใจวงศ์ ปัจจุบันสมรสกับ ดวงเดือน จิไธสงค์ รองมิสไทยแลนด์เวิลด์ พ.ศ. 2529 และรองนางสาวไทย พ.ศ. 2530
สรพงศ์ ชาตรี ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ศิลปศาสตร์ สาขาสังคมศาสตร์เพื่อการพัฒนา จากมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ในปี พ.ศ. 2552 ดำรงตำแหน่งประธานมูลนิธิสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) เมตตาบารมี อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา และเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (จากผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านศิลปะร่วมสมัย) สาขาศิลปะการแสดงในคณะกรรมการส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย
สำหรับผลงานละครของ สรพงศ์ ชาตรี ในยุคหลัง ๆ ที่หลายคนคุ้นหน้าคุ้นตาในฐานะนักแสดงอาวุโส อาทิ เปรตวัดสุทัศน์ (2546, 2555), แหวนทองเหลือง (2547) ชิงชัง (2552), ขุนศึก (2555), อาญารัก (2556) สาวน้อยอ้อยควั่น (2558), อตีตา (2559), แม่อายสะอื้น (2561), ฤกษ์สังหาร (2562), อุ้มรักเกมลวง (2563) ฯลฯ