ภาวะทารกในครรภ์บวมน้ำ

ตั้งครรภ์

ภาวะทารกในครรภ์บวมน้ำ (Hydrops fetalis) (รักลูก)

           ภาวะทารกในครรภ์บวมน้ำนั้นหมายถึง ภาวะที่ทารกมีการสะสมของของเหลวอย่างผิดปกติในร่างกายอย่างน้อย 2 ส่วนขึ้นไป เช่น ภาวะน้ำในช่องท้อง น้ำคั่งในปอด น้ำในช่องเยื่อหุ้มหัวใจ น้ำในชั้นใต้ผิวหนัง ในบางรายพบร่วมกับภาวะน้ำคร่ำมากกว่าปกติและรกบวม ซึ่งภาวะทารกในครรภ์บวมน้ำ แบ่งได้เป็น 2 ชนิดใหญ่ ๆ คือ

           1. Immune hydrops fetalis เกิดจากภาวะที่มีปฏิกิริยาของภูมิคุ้มกันในกระแสเลือด ของมารดากับตัวเม็ดเลือดแดงของทารก ทำให้เกิดภาวะโปรตีนในกระแสเลือดต่ำ และภาวะหัวใจวาย

           2. Nonimmune hydrops fetalis เกิดจากสาเหตุอื่น ๆ เช่น ความผิดปกติของหัวใจ ทารก การติดเชื้อของทารกในครรภ์ และภาวะทารกมีโครโมโซมผิดปกติ

           อุบัติการณ์ของ Immune hydrops fetalis ลดลงอย่างมากโดยลดจาก 65 : 10,000 ของการคลอดในปี ค.ศ.1960 เป็น 10.6 : 10,000 ของการคลอดในปี ค.ศ.1990 ส่วนอุบัติการณ์ของ Nonimmune hydrops fetalis พบประมาณ 1 : 1500-1 : 4000 ของการคลอด โดยเชื้อชาติจะมีผลต่ออุบัติการณ์ และสาเหตุของภาวะทารกในครรภ์บวมน้ำ

           การเกิดภาวะทารกในครรภ์บวมน้ำ เกิดจากความไม่สมดุลของปริมาณน้ำในกระแสเลือดรวมถึงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายจากกลไกหลายประการ ซึ่งกลไกพื้นฐานของการเกิดภาวะทารกในครรภ์บวมน้ำ เกิดจากความไม่สมดุลของอัตราการเพิ่มการสะสมของของเหลว ซึ่งเกิดจากการลดลงของการไหลเวียนกลับสู่กระแสเลือด ของระบบหลอดเลือดฝอย และระบบน้ำเหลือง

           สาเหตุสำคัญของการเกิดความไม่สมดุลของของเหลวมีหลายประการ เช่น ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ ภาวะหัวใจวาย มีการขัดขวางการไหลเวียนกลับของระบบหลอดเลือดคำและระบบน้ำเหลือง

           ทารกในครรภ์ที่เกิดภาวะบวมน้ำ จะมีกลไกการปรับตัว โดยมีการเพิ่มความสามารถในการดึงออกซิเจนมาใช้เพิ่มขึ้น และส่งเลือดไปเลี้ยงอวัยวะที่สำคัญเพิ่มขึ้น เช่น สมอง หัวใจ ซึ่งกลไกดังกล่าว จะทำให้เกิดการเพิ่มขึ้นของความดันในระบบหลอดเลือดดำ เพิ่มการสะสมของของเหลว และนำไปสู่ภาวะบวมน้ำในทารก

           นอกจากนี้ยังพบว่า การสร้างอัลบูมินจากตับจะลดลง เนื่องจากมีการลดลงของการไหลเวียนเลือดที่ตับ ภาวะที่มีอัลบูมินต่ำลงจะทำให้เพิ่มการไหลเวียนของเหลว แต่ภาวะอัลบูมินต่ำ ไม่น่าจะใช่สาเหตุแรกของการเกิดภาวะทารกในครรภ์บวมน้ำ โดยเกณฑ์ในการวินิจฉัยจะใช้การตรวจพบ มีการสะสมของของเหลวอย่างผิดปกติอย่างน้อย 2 แห่งขึ้นไปในทารก เช่น การบวมของผิวหนังทั่วตัว น้ำในช่องท้อง น้ำในช่องเยื่อหุ้มหัวใจ น้ำในช่องปอด เป็นต้น

           หากมีการตรวจพบของเหลวสะสมเพียงแห่งเดียวในส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ซึ่งอาจเป็นอาการเริ่มต้นของภาวะทารกในครรภ์บวมน้ำในที่สุด การตรวจติดตามทารกเหล่านี้เป็นสิ่งจำเป็น เพื่อที่จะแน่ใจว่าจะไม่เกิดภาวะทารกในครรภ์บวมน้ำในที่สุด ซึ่งปกติจะมีเกณฑ์การวินิจฉัยภาวะทารกในครรภ์บวมน้ำโดยแบ่งเป็น

           1. การบวมของผิวหนังทั่วตัว ซึ่งจะวินิจฉัยเมื่อความหนาของผิวหนังมากกว่า 5 มล. บริเวณที่เห็นง่ายที่สุด คือ หน้าอก และหนังศีรษะ

           2. น้ำในช่องท้อง จะมีน้ำในช่องท้อง โดยจะพบปริมาณน้ำจำนวนเล็กน้อยอยู่รอบๆ ลำไส้ กรณีที่มีน้ำในช่องท้องปริมาณมากจะเห็นลำไส้ ขอบของตับ กระเพาะปัสสาวะ ม้าม และกระบังลมของทารกได้ชัดเจนมากขึ้น

           3. น้ำคั่งในช่องเนื้อเยื่อหุ้มหัวใจ ในการตั้งครรภ์ปกติหลังจากอายุครรภ์ 20 สัปดาห์ อาจพบมีน้ำในช่องเยื่อหุ้มหัวใจได้เล็กน้อย แพทย์จะเห็นแนววงโปร่งเสียงล้อมรอบหัวใจตั้งแต่ 2 มิลลิเมตรขึ้นไป สาเหตุของน้ำคั่งในช่องเนื้อเยื่อหุ้มหัวใจ เกิดจากภาวะหัวใจล้มเหลวจากการทำงานของหัวใจผิดปกติ บางรายงานพบว่าเป็นอาการแสดงอย่างแรกของภาวะทารกในครรภ์บวมน้ำ ที่มีสาเหตุมาจากความผิดปกติของหัวใจแต่กำเนิด

           4. น้ำในช่องปอด อาจพบข้างเดียวหรือสองข้างก็ได้ หากมีปริมาณน้อยจะพบที่ขอบของปอด และกระบังลม แต่ส่วนใหญ่จะมีปริมาณมาก และกดทับเนื้อปอด ซึ่งเป็นสาเหตุ การตายที่พบได้บ่อยในทารกแรกเกิดที่มีภาวะบวมน้ำ

           5. รกหนาผิดปกติ ภาวะรกหนาผิดปกติพบได้บ่อยในทารกที่มีภาวะบวมน้ำ การวินิจฉัยภาวะรกหนาผิดปกติ จะใช้ความหนาของรกที่มากกว่า 6 เซนติเมตร แต่ในบางครั้งหากมีภาวะครรภ์แฝดน้ำ รกอาจจะถูกกดให้บางจนเท่าปกติได้

           6. ภาวะครรภ์แฝดน้ำ พบได้ร้อยละ 40-75

           7. ภาวะน้ำคร่ำน้อย ในบางรายงานของทารกในครรภ์บวมน้ำ จะพบภาวะน้ำคร่ำน้อยเกิดขึ้นได้ มักเกิดในระยะต่างๆ ของโรค ส่วนมากแล้วจะมีการพยากรณ์โรคที่ไม่ดีนัก

           8. ตับ ม้าม โต เป็นผลจากการสร้างเม็ดเลือดแดงนอกไขกระดูกเพิ่มขึ้น เพื่อการตอบสนองภาวะเลือดของทารก

          ในปัจจุบัน การตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง มีบทบาทอย่างมากในการตรวจประเมินทารกในครรภ์ ในกรณีที่ทารกในครรภ์มีภาวะซีดมาก Hematocrit ต่ำกว่าร้อยละ 30 และอายุครรภ์ยังต่ำกว่า 35 สัปดาห์ จะทำการรักษาโดยการให้เลือดแก่ทารกในครรภ์

           ในอดีต นิยมการให้เลือดเข้าไปในช่องท้องทารก แต่ปัจจุบันการให้เลือดเข้าไปในหลอดเลือดเป็นวิธีที่นิยมมาก การให้เลือดทารกโดยตรง โดยไม่ต้องเปลี่ยนถ่ายเลือด เนื่องจากการไหลเวียนของเลือดผ่านรกและไตทารกจะรวดเร็วมาก


    
    


ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ปีที่ 29 ฉบับที่ 338 มีนาคม 2554

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ภาวะทารกในครรภ์บวมน้ำ อัปเดตล่าสุด 26 เมษายน 2554 เวลา 14:23:25 4,462 อ่าน
TOP
x close