รู้ทัน ตาขี้เกียจ

ตาขี้เกียจ

รู้ทัน ‘ตาขี้เกียจ’ (Mother & Care)
เรื่อง : มิมิจัง

          รู้หรือไม่ว่าดวงตาคู่เล็ก ๆ ของเราทุกคนนั้น ไม่ได้มีการมองเห็นอย่างสมบูรณ์มาตั้งแต่เกิดหรอกนะคะ แต่จะมีการพัฒนาทั้งในด้านตัวลูกตา ส่วนประกอบของลูกตา และระบบประสาทตั้งแต่อยู่ในท้องแม่ จนกระทั่งคลอดออกมา จวบจนอยู่ในช่วงอายุประมาณ 6-7 ปี ดวงตาของเราจึงจะมีการพัฒนาอย่างสมบูรณ์

          สิ่งสำคัญ คือในช่วงตั้งแต่แรกเกิดจนถึงประมาณ 7 ปี จึงจำเป็นอย่างยิ่ง ที่ดวงตาจะต้องได้รับการกระตุ้นให้สามารถมองเห็นได้ดีทั้ง 2 ข้าง แต่เอ๊ะ! แล้วถ้าเกิดการพัฒนาของดวงตา และการมองเห็นของเด็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึงขวบปีที่ 7 เป็นไปอย่างไม่สมบูรณ์จะเกิดอะไรขึ้นบ้างนะ

ตาขี้เกียจเป็นอย่างไร

          ตาขี้เกียจ คือ ภาวะที่ดวงตามีประสิทธิภาพในการมองเห็นไม่สมบูรณ์ ความคมชัดในการมองเห็นของตาข้างใดข้างหนึ่ง หรือทั้งสองข้างมัวลง ซึ่งจะเกิดขึ้นในเด็กแรกเกิดจนกระทั่งถึงช่วงอายุ 6-7 ปี ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง และทันท่วงทีก่อนถึงช่วงวัยที่ตาจะพัฒนาสมบูรณ์ เด็กก็จะเป็นตาขี้เกียจตลอดไป ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้

สาเหตุ

           1. โรคตาเข หรือตาเหล่ เด็กที่เป็นโรคนี้จะมองเห็นภาพซ้อนกัน ดังนั้นสมองจึงสั่งให้ยกเลิกการรับภาพจากตาข้างที่เหล่หรือเข ส่งผลให้ตาข้างนั้นไม่ได้รับการกระตุ้นและหยุดชะงักพัฒนาการมองเห็น จึงทำให้ประสิทธิภาพในการมองค่อย ๆ ลดลง และในที่สุดก็จะมัวลง

           2. โรคสายตาสั้น ยาว หรือเอียงมาก ๆ ทั้งสองข้างไม่เท่ากัน คือการที่สายตาข้างหนึ่งอาจสั้น ยาวหรือเอียงมาก ๆ ในขณะที่อีกข้างสายตาปกติอาจจะสั้น ยาว หรือเอียงน้อยกว่า ดังนั้นเด็กจึงใช้สายตาจากข้างที่มองชัดกว่าเป็นหลัก ส่วนอีกข้างอาจใช้มองน้อย หรือไม่ได้ใช้เลย ทำให้ตาข้างนั้นไม่มีการพัฒนา

           3. โรคสายตาสั้น ยาว หรือเอียงมาก ๆ ทั้งสองข้างเท่ากัน หากเป็นเพราะสาเหตุนี้ จะทำให้เด็กมีอาการของตาขี้เกียจทั้ง 2 ข้าง

           4. โรคจากความผิดปกติของตา ส่งผลให้แสงผ่านเข้าไปกระตุ้นในตาได้ไม่ดี เช่น เด็กที่เป็นต้อกระจกตั้งแต่เกิด เลือดออกในน้ำวุ้นลูกตา หนังตาตกมากจนปิดรูม่านตา เป็นต้น

การรักษา

          ตาขี้เกียจสามารถรักษาให้หายได้ เพียงแต่ควรรักษาก่อนที่การมองเห็นจะพัฒนาอย่างเต็มที่ นั่นก็คือในเด็กที่มีช่วงอายุ 6-7 ปี นั่นเอง สำหรับการรักษาสามารถทำได้ดังนี้
   
           1. รักษาตามสาเหตุ เช่น หากมีอาการของโรคทางตาที่ต้องเข้ารับการผ่าตัด ก็ให้ทำการผ่าตัดก่อน แล้วจึงค่อยมากระตุ้นการมองเห็นจากอาการตาขี้เกียจในภายหลัง หรือการใส่แว่นตา เพื่อช่วยแก้อาการผิดปกติทางสายตา ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดโรคตาขี้เกียจ

           2. ปิดตาข้างที่ดี เพื่อกระตุ้นให้ตาข้างที่ขี้เกียจใช้งานได้ดีขึ้น เพราะหากยิ่งใช้ลูกตามองสิ่งต่าง ๆ มากเท่าไหร่ ก็จะทำให้ประสาทในการรับภาพทำงานดีขึ้นจนเป็นปกติ ทั้งนี้การรักษาโดยวิธีการดังกล่าวก็มีข้อควรระวังด้วย เพราะหากปิดตาข้างที่ดีนานเกินไป อาจทำให้ตาข้างที่ดีเกิดภาวะตาขี้เกียจได้เหมือนกัน

           3. บำบัดสายตา เป็นการฟื้นฟูตาขี้เกียจโดยการใช้เครื่องมือฝึกกล้ามเนื้อตาต่าง ๆ และโปรแกรมการฝึกบริหารกล้ามเนื้อตาด้วยคอมพิวเตอร์

วิธีป้องกัน และสังเกตอาการ

            เนื่องจากเด็กเล็กโดยเฉพาะเด็กแรกเกิด ยังไม่สามารถพูดหรือสื่อสารให้คุณพ่อคุณแม่เข้าใจถึงความผิดปกติ ในการมองเห็นของตัวเองได้ ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของคุณพ่อคุณแม่ และผู้เลี้ยงดูในการสังเกตพัฒนาการทางสายตา ของลูกว่าเป็นไปตามพัฒนาการในแต่ละช่วงวัยรึเปล่า แสดงอาการผิดปกติในด้านการมองเห็นบ้างไหม โดยมีหลักสังเกตง่าย ๆ ตามนี้เลยค่ะ

          ในช่วง 3 เดือนแรก เด็กจะมองเห็นได้ในระยะใกล้ ๆ สามารถสบตาและยิ้มเมื่อเห็นหน้าคุณพ่อคุณแม่

          3-6 เดือนเริ่มมองตามสีและสิ่งของ สามารถหยิบ จับ คว้าได้

          7-12 เดือน สามารถมองตามวัตถุที่เคลื่อนไหวได้

          1-3 ปี สามารถจดจำใบหน้าคนคุ้นเคยได้ มือและสายตาทำงานประสานกันได้ดี

          3-6 ปี พัฒนาการมองเห็นดีขึ้นเกือบเท่าผู้ใหญ่และควรพาไปตรวจวัดสายตา

          หากเด็กมีอาการแปลก ๆ เช่น มองเห็น แต่ของที่อยู่ใกล้ ๆ ชอบหยีตา กะพริบตาบ่อย ๆ เดินชนสิ่งต่าง ๆ เป็นประจำ จำหน้าคนใกล้ตัวไม่ได้ มีภาวะตาเข ตาเหล่ ตาโตไม่เท่ากัน หนังตาปิดลงมามากผิดปกติ เป็นต้น อาการเหล่านี้คือสัญญาณอันตรายว่า อาจมีอาการผิดปกติทางด้านสายตากับเด็กได้ ควรรีบพาเด็กไปพบจักษุแพทย์ เพื่อทำการตรวจวัดสายตาและรักษาอาการต่าง ๆ ได้อย่างทันท่วงที





ขอขอบคุณข้อมูลจาก

Vol.7 No.74 กุมภาพันธ์ 2554


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
รู้ทัน ตาขี้เกียจ อัปเดตล่าสุด 9 พฤษภาคม 2554 เวลา 12:05:57 1,816 อ่าน
TOP
x close