ปรับฮอร์โมนแม่ท้อง (รักลูก)
"ฮฮร์โมน" คือสารเคมีที่ร่างกายสร้างไว้สำหรับควบคุมการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ให้เป็นปกติค่ะ ซึ่งช่วงท้องจะมีการเปลี่ยนแปลง จึงต้องคอยจัดการให้เจ้าฮอร์โมนนี้ปกตินะคะ
ท้อง...ฮอร์โมนเปลี่ยน
ขณะตั้งครรภ์ระดับฮอร์โมนในร่างกายจะมีการเปลี่ยนแปลง เพื่อเตรียมร่างกายให้พร้อมสำหรับการตั้งครรภ์ ความเป็นแม่ จึงเริ่มต้นขึ้นเมื่อมีการปฏิสนธิ มีการแบ่งเซลล์ และการฝังตัวของตัวอ่อนที่โพรงมดลูก หลังจากนั้นภายหลังการฝังตัวของตัวอ่อน จะมีเซลล์ส่วนหนึ่งชื่อเซลล์โทรโฟบลาสท์จะเจริญไปเป็นรก และรกจะทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนควบคุมการตั้งครรภ์ให้ดำเนินต่อไป ซึ่งรกเป็นโครงสร้างเชื่อระหว่างมดลูกของคุณแม่และลูก ติดอยู่กับผนังด้านในของมดลูก เสมือนเป็นอวัยวะหนึ่งของคุณแม่ โดยมีสายสะดือเป็นตัวเชื่อมต่อระหว่างรกกับทารก
4 ฮอร์โมน...แห่งการเปลี่ยนแปลง
การจะดำเนินการตั้งครรภ์ต่อไปได้ต้องอาศัยฮอร์โมนหลายชนิด ซึ่งรกจะทำหน้าที่เป็นต่อมไร้ท่อชั่วคราวในมดลูก ในการผลิตฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับกลไกการเจ็บครรภ์ค่ะ
1. ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน
ผลิตจากรังไข่ช่วง 6-8 สัปดาห์แรก หลังจากนั้นรกจะผลิตฮอร์โมนนี้เพิ่มขึ้นตลอดการตั้งครรภ์ ซึ่งทำงานร่วมกับเอสโตรเจน ในการเตรียมเยื่อบุโพรงมดลูกให้เหมาะสมแก่การฝังตัวของตัวอ่อน และช่วยให้มีการสะสมไขมันมากขึ้นเพื่อใช้เป็นพลังงานและแหล่งอาหาร สำหรับการตั้งครรภ์และลูกน้อยด้วยค่ะ
2. ฮอร์โมนเอสโตรเจน
มีบทบาทในการเสริมสร้างเนื้อเยื่อต่าง ๆ โดยช่วยกระตุ้นให้เยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัวขึ้น เหมาะสำหรับให้ไข่ที่ผสมแล้วมาฝังตัว ทำให้ผนังช่องคลอดหนาและยืดขยายได้ดีขึ้น
3. ฮอร์โมนฮิวแมนดอร์โอนิกโกนาโดโทรฟิน (HCG)
ที่สร้างมาจากถุงน้ำคร่ำที่อยู่ติดกับมดลูกค่ะ ซึ่งมีปริมาณสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงแรก ซึ่งช่วยเพิ่มเลือดให้มาเลี้ยงที่ผนังมดลูกมากขึ้น สร้างความพร้อมในการฝังตัวของตัวอ่อน
4. ฮอร์โมนฮิวแมนพลาเซนต้าแลกโตรเจน (hPL)
เป็นฮอร์โมนที่ช่วยให้ร่างกายคุณแม่สามารถนำสารอาหารประเภทโปรตีน และกลูโคสผ่านไปยังทารกมากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีส่วนกระตุ้นให้มีการเปลี่ยนแปลงของเต้านม เพื่อเตรียมการผลิตน้ำนมมากยิ่งขึ้นด้วย
9 วิธี...ปรับฮอร์โมนให้สมดุล
ด้วยอิทธิพลของฮอร์โมนต่าง ๆ ที่สูงขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์ประกอบกับรูปร่างที่ขยายใหญ่ขึ้น ส่งผลให้คุณแม่ต้องพบการเปลี่ยนแปลงมากมายค่ะ
1.อาการแพ้ท้อง
คุณแม่อาจจะมีแค่อาการพะอืดพะอม หรือคลื่นไส้อาเจียน คุณแม่บางคนอาจจะมีอาการรุนแรงมากจนกินอะไรไม่ได้เลย และเกิดภาวะขาดน้ำ เช่น ตาลึกโบ๋ ปากแห้ง หรือปัสสาวะน้อยและสีเข้ม ซึ่งอาการเหล่านี้เกิดจากปริมาณฮอร์โมน HCG ที่เปลี่ยนแปลงไป แต่ว่าอาการจะดีขึ้นหลังอายุครรภ์ประมาณ 4 เดือนไปแล้วค่ะ
เคล็ดลับปรับสมดุล : คุณแม่ลองแบ่งอาหารเป็นมื้อย่อย แต่หลายมื้อ ปริมาณมื้อละน้อยๆ หลีกเลี่ยงอาหารมัน ๆ นะคะ เน้นอาหารที่ย่อยง่าย เช่น น้ำผลไม้สด ขนมปังกรอบ แต่หากแพ้รุนแรงก็ใช้วิธีจิบน้ำหวานหรือทานไอศกรีม จะช่วยบรรเทาอาการแพ้ท้องรุนแรงได้ดี นอกจากนี้ลองหากิจกรรมเพลิน ๆ ทำจะได้ไม่จดจ่อกับอาการคลื่นไส้ แต่หากยังไม่ดีขึ้น ควรรีบปรึกษาคุณหมอ ไม่ควรซื้อยามากินเองนะคะ
2.ท้องอืด อาหารไม่ย่อย
ขณะที่คุณแม่ตั้งครรภ์การทำงานของหูรูดหลอดอาหารที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้อาหารที่กินเข้าไปย่อยช้าลงมาก การทำงานของลำไส้ไม่ค่อยบีบตัว จึงเกิดปัญหาท้องอืด อาหารไม่ย่อย และท้องผูกได้ง่าย
เคล็ดลับปรับสมดุล : คุณแม่ควรกินอาหารที่ย่อยง่าย เน้นผักผลไม้ และหลีกเลี่ยงอาหารี่มีการสร้างก๊าซ เช่น ถั่วน้ำอัดลม หรืออาหารรสจัดมาก ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมื้อเย็น เพราะจะทำให้เกิดอาการจุกเสียดตอนกลางคืนจนนอนไม่หลับได้
3.การรับรสเปลี่ยนไป
ฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงในขณะที่ตั้งครรภ์นั้น ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงของต่อมน้ำลาย ทำให้การรับรสชองคุณแม่เปลี่ยนไปได้ และอาจรู้สึกอยากอาหารแปลก ๆ ไปจากเดิม จึงควรระวังเลือกอาหารที่มีประโยชน์ และปรุงสุกสะอาดเสมอ
เคล็ดลับปรับสมดุล : คุณแม่ที่เริ่มตั้งครรภ์อ่อนๆ ต้องใช้เวลาประมาณ 1-2 เดือนในการค้นหาตัวเองว่าครรภ์นี้จะกินอะไรได้ดี และกินอะไรแล้วกระตุ้นให้อาเจียน พออายุครรภ์มากขึ้น ก็จะปรับตัวได้ดีขึ้น
4.ปวดศีรษะ
คุณแม่ที่มีประวัติเป็นไมเกรน ด้วยอิทธิพลของฮอร์โมนขณะตั้งครรภ์ ทำให้มีการกำเริบของอาการไมเกรนได้บ่อยมากขึ้น
เคล็ดลับปรับสมดุล : ทำบรรยากาศในห้องให้สดชื่น เช่น ปลูกดอกไม้ที่กลิ่นหอม ๆ หรือใช้สเปรย์กลิ่นลาเวนเตอร์ ฉีดให้กระจายทั่วห้องจะทำให้รู้สึกดีและรู้สึกสงบ ที่สำคัญได้ผลดีและยังช่วยลดอาการปวดศีรษะจากความเครียด
5.ผิวหนังบริเวณหน้าท้องและเต้านมมีสีเข้มขึ้น
คุณแม่บางคนอาจมีผื่นแดง ๆ ขึ้นได้ง่ายด้วยค่ะ จากผลของฮอร์โมนเอสโตรเจนที่เพิ่มขึ้น ทำให้ผิวหนังไวต่อแสงแดดมากขึ้น คุณแม่จึงมีโอกาสเป็นฝ้าได้ง่าย
เคล็ดลับปรับสมดุล : คุณแม่ควรหลีกเลี่ยงแดดจัดในช่วงบ่าย ทาครีมกันแดด หรือพกร่มเมื่อต้องออกไปธุระข้างนอกเสมอนะคะ
6.เมื่อยล้าและเหนื่อยง่าย
เกิดจากระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่เพิ่มขึ้น ทำให้คุณแม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าง่าย และต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นด้วย
เคล็ดลับปรับสมดุล : การดื่มน้ำขิงร้อนๆ และแช่เท้าด้วยน้ำอุ่นหลังจากเลิกงาน ช่วยผ่อนคลายได้ดีทีเดียว
7. เต้านมขยายใหญ่
เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเอสโตรเจน และฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน ทำให้คุณแม่รู้สึกเจ็บเต้านมเมื่อเริ่มตั้งครรภ์ นอกจากนี้เต้านมจะมีการเพิ่มขนาดต่อม และบริเวณฐานหัวนมจะเป็นสีดำมากขึ้น
เคล็ดลับปรับสมดุล : คุณแม่ควรจะเลือกชุดชั้นในที่ขนาดเหมาะสมกับขนาดเต้านมที่เปลี่ยนไป ไม่ควรเลือกขนาดที่รัดแน่นจนเกินไป
8.ปวดแขน ขา
ฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงอาจทำให้เส้นเอ็นและข้อต่อต่าง ๆ หย่อนลง คุณแม่อาจปวดบริเวณรอยต่อ กระดูกเชิงกรานตรงหัวเหน่าซึ่งศีรษะของลูกไปกดทับด้วย
เคล็ดลับปรับสมดุล : เวลาปวดให้ใช้ยานวดคลายกล้ามเนื้อชนิดร้อนหรือเย็นนวดบาง ๆ หรือประคบด้วยความเย็น ดื่มน้ำขิงหรือใบแปะก๊วยวันละแก้ว ก็จะช่วยบรรเทาอาการปวดได้ ซึ่งอาการเหล่านี้จะหายไปประมาณเดือนที่ 3 หลังคลอด
9.อารมณ์เปลี่ยนแปลง
อารมณ์เปลี่ยนแปลงเป็นปัญหาที่พบในคุณแม่แทบทุกคน บางคนรู้สึกหงุดหงิดบ้างก็ซึมเศร้า รู้สึกจิตใจห่อเหี่ยวไม่อยากแต่งหน้าไปทำงานด้วยซ้ำ
เคล็ดลับปรับสมดุล : คุณแม่จะต้องเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นก่อนว่า เป็นเรื่องของธรรมชาติไม่ต้องเครียดหรือกังวลค่ะ ผ่อนคลายด้วยการฟังเพลงเพราะ ๆ อ่านนิตยสารและพูดคุยกับคุณแม่ท่านอื่น จะทำให้ผ่อนคลายขึ้น และไม่รู้สึกว่าต้องเผชิญปัญหาอย่างโดดเดี่ยว
เพื่อให้พัฒนาการต่าง ๆ ของลูกน้อย แต่ละช่วงครรภ์เป็นไปอย่างสมบูรณ์และเหมาะสม คุณแม่จะต้องดูแลสุขภาพท้องด้วยการดูแลสุขภาพกายใจให้สมดุล และมีความสุขอยู่เสมอนะคะ
เรื่องราวผู้หญิง ความสวยงาม แฟชั่น ความรัก มากมาย คลิกเลย
คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อน ๆ ได้ที่นี่ค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
ปีที่ 29 ฉบับที่ 338 มีนาคม 2554