แพร พิมพ์ลดา ลองใช้รถสาธารณะ #Carfreeday เสียทั้งเงิน ทั้งเวลา กลับไปใช้รถยนต์เหมือนเดิม

           แพร พิมพ์ลดา รีวิวใช้รถสาธารณะ ในวันปลอดรถยนต์ Car Free Day สรุปเสียทั้งเงินมากกว่าเดิม และเวลาที่มากกว่าเดิม เหนื่อยกว่าเดิม คนเข้ามาเห็นด้วยกันเยอะ ระบบขนส่งไม่ดี ทางเท้าพัง ผลักคนไปใช้รถส่วนตัว

           เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2566 ถือเป็นวันที่ Car Free Day ที่เป็นการรณรงค์ให้ใช้รถสาธารณะ และจอดรถส่วนตัวไวที่บ้าน แพร พิมพ์ลดา พิธีกรและอินฟลูเอนเซอร์ชื่อดังเจ้าของเพจ pearishungry เลยเอารถยนต์จอดไว้ที่บ้าน แล้วเดินทางโดยรถสาธารณะ 1 วัน ผลที่ได้นั้น ทำเอาแพรต้องกลับไปใช้รถยนต์ตามเดิม !

           โดยที่แพร เผยว่า ตนได้ทดลองใช้ชีวิตด้วยขนส่งสาธารณะ จะได้ดูว่ารอดไหม เพราะก่อนที่เราจะชวนคนให้มาใช้รถสาธารณะก็ควรได้ใช้และเข้าใจมันจริง ๆ แต่ปรากฏว่า หากจะให้คนที่ใช้รถยนต์ส่วนตัวมาใช้รถสาธารณะนั้น มันเป็นไปไม่ได้แล้ว

           การเดินทางของแพรคือ คอนโดที่ราชเทวี ไปช่อง 9 จากนั้นก็ไปที่ศูนย์การแพทย์ และกลับคอนโดที่ราชเทวี แพรเริ่มเดินทางจากคอนโดโดยใช้รถไฟฟ้าบีทีเอส ก็เผชิญกับคนเยอะในชั่วโมงเร่งด่วน จากนั้นก็ไปต่อ MRT อโศก แต่ระยะทางจาก MRT ไปถึงช่อง 9 นั้น จากที่ควรเดินต่อแต่เนื่องจากเดินไม่ทัน แพรเลยต้องนั่งวินมอเตอร์ไซค์ หลังจากทำงานเสร็จที่ช่อง 9 ก็ไปที่ศูนย์แพทย์พัฒนา จากที่ขับรถไปแค่ 10 นาที ถ้านั่งรถสาธารณะก็ 1 ชั่วโมง แพรจึงติดรถ เต๋อ รัฐนันท์ ไปที่เซ็นทรัลพระราม 9 จากนั้นก็นั่ง MRT พระราม 9 ไปลงห้วยขวาง และต่อรถเมล์ ซึ่งถ้าแพรนั่งรถเมล์จาก อสมท. มาที่ศูนย์วัฒนธรรมก็ไม่ไกล แต่การเลือกเส้นทางนี้กลายเป็นอ้อมแทน

           หลังจากที่ลงรถเมล์ก็เดินเท้าต่ออีก 1 กม. ก็ถึงศูนย์การแพทย์เพื่อทำกายภาพบำบัด เมื่อทำกายภาพบำบัดเสร็จ ก็นั่งรถไปลงที่รามคำแหง 21 เพื่อนั่งรถเมล์นั่งยาวไป และเดินเท้าไป คอนโด

แพร พิมพ์ลดา

           และแพรก็พบข้อเสียใหญ่ ๆ 3 อย่างคือ

           1. เสียพลังงานมากกว่าเดิม : การเดินทางต้องใช้รถหลายต่อ ทั้ง รถไฟฟ้า รถไฟใต้ดิน และเดินต่อ เพราะสถานที่ส่วนใหญ่รถสาธารณะเข้าไม่ถึง ยังไงก็ต้องพึ่งวินมอเตอร์ไซค์หรือแท็กซี่ เมื่อแพรลองเดินทางเป็นระยะทาง 1 กม. ปรากฏว่าหมดแรง ทั้งจากอุปสรรคทางเท้าและแดดเมืองไทยที่ร้อนมาก

           2. เสียเวลามากกว่าเดิม : จากที่ขับรถส่วนตัวใช้เวลา 15 นาที ก็เป็น 1 ชั่วโมง หรือเส้นทางที่ใช้เวลา 10 นาที ก็เป็น 1.15 ชั่วโมง กลายเป็นใช้เวลาบนท้องถนนซะเยอะ

           3. เสียเงินมากกว่าเดิม : ยิ่งต่อรถมาก ราคาก็ยิ่งมาก และคิดคำนวณค่าใช้จ่ายเบ็ดเสร็จแล้วมากกว่าขับรถอีก

           แพรมองว่ายิ่งต่อรถมาก ราคาก็ยิ่งแพง และแม้ว่าขนส่งสาธารณะมันจะดีขึ้นแล้ว แต่ก็ยังถือว่ายากอยู่ดี แพรก็นึกสงสัยเช่นกันว่าเราจะรณรงค์กันทำไม เพราะผลลัพธ์มันกลับด้าน ขนส่งไม่พร้อม รณรงค์แค่ไหนก็กลับไปที่จุดเดิม

แพร พิมพ์ลดา

           ทั้งนี้ ได้มีคนเข้ามาแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก และบอกว่าถ้าอยู่ กทม. แล้วไม่มีรถส่วนตัว ก็ต้องหาที่ทำงานที่ใกล้ที่พักอย่างเดียวเลย เพราะถ้าที่ทำงานไกลจากบ้านและไม่มีรถแล้ว ไหนจะต้องต่อรถ ถ้าตรงนั้นไม่มีรถสาธารณะก็แท็กซี่อย่างเดียว ในขณะที่บางคนก็บอกว่า สิ่งที่ประสบพบเจอเวลาใช้รถสาธารณะคือเสียเวลารอนาน อันเป็นผลมาจากการจราจรที่ติดกันยาวเพราะรถส่วนตัว ถ้าจะใช้รถไฟฟ้าก็แพง แต่ข้อดีของรถสาธารณะคือหลับได้ เล่นมือถือได้ และไม่ต้องแบกความรับผิดชอบเรื่องค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับรถเอาไว้กับตัว

           ในขณะที่บางคนก็บอกว่า เรื่องนี้ต้องดูจุดประสงค์ของการรณรงค์ด้วยว่าคือต้องการอะไร การจะให้คนเปลี่ยนจากรถยนต์มาใช้รถสาธารณะ มันเป็นไปไม่ได้ เพราะความสะดวกต่างกัน ต่อให้ที่ ๆ เราอยู่นั้นดีแค่ไหน หรือไม่ต้องต่อรถเลย การเดินทางด้วยรถสาธารณะยังไงก็ต้องรอ เจอรถติด และเสียเวลามากกว่าอยู่แล้ว แต่ Car Free Day นั้น มีขึ้นเพื่อรณรงค์เรื่องลดโลกร้อน ลดการผลิตคาร์บอน ช่วยธรรมชาติ เป็นการให้คนสละความสะดวกสบายของตัวเอง ซึ่งในเมืองไทยนั้นจะทำแบบนี้ก็ยากอีก เพราะเราคุ้นชินกับการใช้รถแล้วไม่ต้องเดิน ลงจากรถแล้วถึงที่หมายทันที หรือต่อให้เดินก็ไม่ไหวกัน เพราะทั้งทางเท้าไม่ดีและอากาศที่ร้อน จะให้ลงรถไฟแล้วเดินแบบญี่ปุ่นก็ไม่ไหว ซึ่งในไทยรถสาธารณะมีค่อนข้างหลากหลายรูปแบบ และมีทางเลือกให้เลือกเนอะ แค่ต้องชินทางและทดลอง และต้องทำใจว่ามันไม่สะดวก สบาย ทันใจ รวดเร็วไปกว่ารถส่วนบุคคลอยู่แล้ว

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
แพร พิมพ์ลดา ลองใช้รถสาธารณะ #Carfreeday เสียทั้งเงิน ทั้งเวลา กลับไปใช้รถยนต์เหมือนเดิม โพสต์เมื่อ 23 กันยายน 2566 เวลา 09:56:59 113,358 อ่าน
TOP
x close