ย้อมผมทุกเดือนอันตรายไหม ? กรมการแพทย์เตือน ปิดหงอกบ่อยส่งผลเสียต่อร่างกาย

          ย้อมผมทุกเดือน อันตรายไหม คนที่มีผมหงอกแล้วไม่มั่นใจ ต้องการปิดผมขาว ก็ต้องทำสีผม แต่ถ้าย้อมผมบ่อย ๆ จะส่งผลเสียยังไงบ้าง มาดูข้อมูลจากกรมการแพทย์กัน
ย้อมผมทุกเดือน อันตรายไหม

          ขึ้นชื่อว่าผมหงอก ใครก็ไม่อยากมี เพราะทำให้ดูแก่ ซึ่งนอกจากผมขาวที่เกิดขึ้นตามอายุแล้ว บางคนก็มีผมหงอกก่อนวัย จึงต้องการปิดผมขาว เพื่อให้ดูไม่โทรม โดยวิธีที่ง่ายที่สุดคือการย้อมผม ทั้งนี้ วงจรผมที่ขึ้นตามธรรมชาติทำให้หลายคนต้องย้อมผมหงอกบ่อย ๆ แต่รู้หรือไม่ว่าหากผลิตภัณฑ์ที่ใช้เป็นผลิตภัณฑ์เคมีก็อาจส่งผลเสียต่อร่างกายได้ สำหรับคนที่กังวลว่า ย้อมผมทุกเดือน อันตรายไหม กระปุกดอทคอมมีข้อมูลจาก กรมการแพทย์ มาฝากกัน

ปิดหงอกทุกเดือน ส่งผลเสียอย่างไร ?

          สถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ ให้ความรู้ความเข้าใจประชาชนเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ปิดผมขาว ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่หาได้ง่าย ราคาไม่แพงมากนัก นั่นก็คือ ยาย้อมผมเคมี หรือ Permanent Hair Dye
          โดย นายแพทย์ไพโรจน์ สุรัตนวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า สีผมธรรมชาติโดยเฉพาะคนไทยและคนเอเชียทั่วไปจะมีสีน้ำตาลเข้มไปจนถึงเกือบดำ สีดำในเส้นผมธรรมชาติมาจากเม็ดสีเมลานินที่สร้างจากเซลล์เมลาโนไซต์ในรากผม ซึ่งผมจะเริ่มเปลี่ยนเป็นสีขาวเนื่องจากการทำงานของเมลาโนไซต์ที่ลดลง และมีจำนวนน้อยลงตามอายุที่มากขึ้นและกรรมพันธุ์ สำหรับผู้ที่ต้องการปิดผมขาวอาจต้องใช้ผลิตภัณฑ์ปิดผมขาว ซึ่งการย้อมสีผมบ่อย ๆ อาจส่งผลเสียต่อร่างกาย ดังนี้
  • ทำให้เกิดการระคายเคืองผิวหนังบริเวณศีรษะ
  • ก่อให้เกิดอาการแพ้ โดยอาการแพ้นั้นอาจเป็นผื่นเล็กน้อยบริเวณที่สัมผัส
  • อาจมีการแพ้ในระดับรุนแรง ผิวหนังมีอาการผื่นบวม คัน มีน้ำเหลืองซึม หน้าบวม ตาบวม ต่อมน้ำเหลืองบริเวณศีรษะและคอบวมโต โดยอาจมีไข้ร่วมด้วยได้ในบางราย
ย้อมผมทุกเดือน อันตรายไหม

          แพทย์หญิงนันท์นภัส โปวอนุสรณ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคผิวหนัง สถาบันโรคผิวหนัง กล่าวเพิ่มเติมว่า Permanent Hair Dye มีส่วนประกอบหลัก ๆ ดังนี้
  1. Developer คือ สารที่ใช้ล้างสีผมเดิม ส่วนประกอบหลักคือ Hydrogen Peroxide ทำหน้าที่กัดสีผมเดิมออก เพื่อให้ได้สีผมใหม่ที่มีความสดและสม่ำเสมอ Hydrogen Peroxide นี้ นอกจากทำให้เส้นผมแห้งเสียแล้วยังระคายเคืองหนังศีรษะ ด้วยความที่เป็นด่างสูง
  2. Alkaline Agent คือ สารที่ทำลายโปรตีนเส้นผม ทำให้เกล็ดผมเปิดออกเพื่อให้สีย้อมเข้าไปถึงแกนของเส้นผมได้ง่าย ส่วนประกอบหลักคือ แอมโมเนีย เมื่อเส้นผมต้องสัมผัสกับแอมโมเนียบ่อย ๆ จะทำให้ผมขาดร่วงง่าย
  3. Color คือ สารย้อมหลัก ๆ ที่ใช้กัน โดยทั่วไปคือ PPD (para-phenylenediamine) และ PTDS (para-toluene diamine sulfate) ซึ่งเป็นสารย้อมทางเลือกสำหรับคนที่แพ้ PPD แต่สามารถแพ้ข้ามชนิดกันได้ สีย้อมที่ยิ่งเข้มดำยิ่งมีสารย้อมที่เข้มข้นกว่าสีอ่อน
  4. ส่วนประกอบอื่น ๆ ซึ่งแล้วแต่แบรนด์ต่าง ๆ จะเพิ่มเติมเข้าไปเพื่อจุดประสงค์การขาย เช่น สารสกัดจากธรรมชาติต่าง ๆ น้ำหอม และสารกันเสีย
          นอกจากนี้ยังมีรายงานผู้ป่วยที่มีการสัมผัสกับสารย้อมต่อเนื่องเป็นระยะเวลาหนึ่งมีค่าเอนไซม์ตับที่เพิ่มขึ้น และมีผู้ป่วยที่มีไตเสื่อมจากการสัมผัสสารย้อมเช่นกัน ดังนั้น หากเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องทำสีผม ควรยืดระยะเวลาระหว่างการทำสีแต่ละครั้งให้ยาวนานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อลดการสัมผัสกับสารที่ก่ออันตรายต่อร่างกายให้น้อยที่สุด

          รู้แบบนี้แล้ว ใครที่ย้อมผมบ่อย ทำสีผมทุกเดือน ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และเว้นระยะเวลาการทำสีผมให้ไม่เกินปีละ 6 ครั้ง เพื่อความปลอดภัยและสุขภาพที่ดีนะคะ

ขอบคุณข้อมูลจาก : เฟซบุ๊ก กรมการแพทย์

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ย้อมผมทุกเดือนอันตรายไหม ? กรมการแพทย์เตือน ปิดหงอกบ่อยส่งผลเสียต่อร่างกาย อัปเดตล่าสุด 13 สิงหาคม 2567 เวลา 14:38:15 15,952 อ่าน
TOP
x close