Thailand Web Stat

นมคัด...คัดนม


นมคัด...คัดนม (Modern Mom)


          คุณแม่หลายๆ คนอาจจะเคยได้ยินคำว่า “นมคัด” กันมาบ้าง แต่อาการจริงๆ มันเป็นอย่างไร แล้วจะดูแลป้องกันอาการนี้ได้อย่างไร ต้องติดตามคอลัมน์นี้ค่ะ เพื่อให้การให้นมแม่ราบรื่น ไร้ปัญหา ตลอดช่วงเวลาดีๆ นี้ไงคะ

 นมคัด คืออะไร

          ฝรั่งเรียกอาการนมคัดว่า Engorged Breast หมายถึง อาการบวมแข็งของเต้านมอันเนื่องมาจากมีน้ำนมคั่งอยู่ในท่อน้ำนม ทำให้คุณแม่รู้สึกหนักตึงเต้านม เต้านมแข็งเจ็บ และบางครั้งผิวหนังบริเวณเต้านมก็ร้อนขึ้นด้วย

          บางคนมีไข้ระยะสั้นๆ เวลาเต้านมแข็ง ซึ่งอาการเหล่านี้ไม่ใช่อาการที่ผิดปกติ แต่ต้องได้รับการดูแลอย่างถูกต้องเพราะถ้าน้ำนมไม่ได้ถ่ายออกจากเต้านานๆ อาจนำไปสู่เต้านมอักเสบ เต้านมเป็นฝี และหยุดการเลี้ยงลูกด้วยน้ำนมแม่ได้ในที่สุด

 เกิดอะไรในเต้านม

          หลังการคลอด คุณแม่จะมีการปรับเปลี่ยนของฮอร์โมน จึงมีเลือดมาเลี้ยงที่บริเวณเต้านมมากขึ้นในวันที่ 2-4 หลังคลอด ทำให้เกิดการบวมและมีน้ำมาคั่งมากกว่าปกติ เต้านมมีขนาดใหญ่และแข็งตึงมากขึ้น

          การมีน้ำนมคั่งอยู่เต็มท่อน้ำนม อาจมีอาการของน้ำนมคั่งในท่อน้ำนม คลำพบเต้านมบวมแข็ง อาการนี้เกิดเมื่อมีการขับน้ำนมออกไม่เพียงพอ หรือมีการผลิตมากกว่าปริมาณที่ลูกกิน

          ถ้ามีน้ำนมค้างอยู่นานจะเกิดการหยุดการสร้างน้ำนมชั่วคราวจนกว่าจะมีการถ่ายเทของน้ำนมออกไป ท่อน้ำนมอุดตันและเต้านมอักเสบได้ และถ้าได้รับการดูแลไม่ถูกต้องก็จะนำไปสู่การเป็นฝีที่เต้านมได้

 6 ปัจจัย...ทำนมคัด

          1. น้ำนมไม่ได้รับการถ่ายออกจากเต้านม เนื่องจากแม่ให้ลูกกินนมไม่บ่อยพอ ลูกไม่ได้กินนมจากเต้า จากการศึกษาพบว่าระยะเวลาที่ลูกดูดนมจากเต้าในวันแรกๆ ยิ่งดูดนานแม่จะมีอาการเจ็บจากเต้านมน้อยกว่าคนที่ให้ลูกดูดน้อยกว่า

          2. แม่มีเต้านมขนาดเล็ก ปริมาณน้ำนมที่เพิ่มขึ้นเร็วจะทำให้เกิดอาการเต็มเต้าได้เร็วกว่าแม่ที่มีเต้นนมขนาดใหญ่

          3. คุณแม่ที่เคยมีลูกมาแล้วพบว่า ในลูกคนแรกเกิดอาการคัดได้น้อยกว่าลูกคนหลังๆ

          4. แม่ที่ถูกแยกจากลูกในวันแรกๆ หลังคลอด เพราะลูกไม่ได้มีการดูดนมเอา colostrum ระบายออกไปบ้าง ในขณะที่เต้านมมีเลือดมาเลี้ยงมากในสองสามวันแรกหลังคลอด

          5. การเว้นช่วงการให้กินนมนานเกินไป เช่น ลูกหลับนาน หรือแม่ทำธุระอยู่ไม่สามารถให้นมหรือบีบน้ำนมออกได้เป็นเวลานานกว่า 4-5 ชั่วโมง

          6. การอุ้มและการดูดของลูกไม่ถูกต้อง ทำให้ไม่สามารถขับน้ำนมออกได้เต็มที่

6 วิธีแก้ไข...นมคัด

          1.ให้ลูกกินนมให้บ่อยขึ้น อาจทุก 1 ชั่วโมงครึ่งหรือ 2 ชั่วโมง โดยไม่จำกัดเวลาในการดูดนม ให้กินตามความต้องการของลูกทั้งกลางวันและกลางคืน

          2. การประคบร้อน จะใช้ในกรณีที่ต้องการช่วยเปิดท่อน้ำนม และเต้านมแน่นตึงไม่บวมจนแข็งมาก อุปกรณ์ที่ใช้ประคบอาจเป็นผ้าเปียกน้ำร้อนหมาดๆ สำหรับคุณแม่ที่ไม่ชอบเปียกแฉะอาจใช้ถุงผ้าใส่เมล็ดข้าวสารหรือถั่วที่ถูกทำให้ร้อนโดยไมโครเวฟหรือการคั่วเผา บางคนอาจชอบใช้ผ้าขาวบางห่อข้าวเหนียวหุงร้อนๆ ประคบสัก 5-10 นาที ก่อนให้นมลูก

          3. การประคบเย็น ใช้ได้ดีในการลดอาการปวดเต้านม โดยการประคบหลังการให้นม และเป็นวิธีที่จะช่วยลดอาการบวมของเต้านมในกรณีที่บวมแข็งและน้ำนมไม่ไหลแม้จะบีบหรือปั๊ม ควรใช้ผ้าเย็นจัดหรือ lcepack วางประคบประมาณ 10-15 นาที ทำบ่อยๆ ในช่วงทำเต้านมแข็งและปวด อาจรับประทานยาแก้ปวดร่วมด้วยได้ หรืออาจจะใช้ใบกะหล่ำปลีแช่เย็นวางประคบเต้านม ซึ่งมีการศึกษาพบว่าสามารถช่วยลดความเจ็บปวดเต้านมและลดอาการบวมของเต้านมได้ดี

          4. การบีบน้ำนมเพื่อให้ลานนมนุ่มลง เพื่อให้ลูกดูดได้ดีขึ้น ห้ามบีบน้ำนมหรือปั๊มออกจนหมดเต้าร่วมกับการให้กินกับเต้า ยกเว้นลูกไม่สามารถดูดนมได้ จึงจะปั๊มออกทุก 3 ชั่วโมง เพื่อบรรเทาอาการน้ำนมคั่งลง

          5. สวมยกทรงที่เหมาะสม หลีกเลี่ยงการสวมเสื้อยกทรงที่มีขอบลวดหรือคับแน่นเกินไป แต่อาจสวม breast shells พลาสติกหนาที่ครอบบนเต้านมเพื่อนวดลานนมให้นิ่มและกระตุ้นกลไกน้ำนมพุ่งสัก 30 นาทีก่อนให้นม หรือจะใส่ไว้เรื่อยๆ ก็ได้

          6. การนวดเต้านม เพื่อกระตุ้นการไหลเวียนของระบบน้ำเหลือง


 
วิธีที่ 1 นวดด้วยนิ้ว ให้ใช้นิ้วชี้กับนิ้วกลางกดแล้ว ปล่อยที่บริเวณที่แข็งอาจนวดวนรอบสัก 3-4 รอบ



 
วิธีที่ 2 นวดด้วยอุ้งมือ ให้ใช้มือข้างหนึ่งประคองเต้านมเอาไว้ แล้วใช้บริเวณอุ้งมืออีกข้างกดแล้วปล่อยเพื่อนวดที่บริเวณเต้านมใกล้รักแร้ ทำซ้ำ 3-4 ครั้ง



 
คนรอบข้าง...ช่วยได้อย่างไร

          หลีกเลี่ยงการให้ข้อมูลแบบหลายทิศทางเพราะจะทำให้แม่สับสน ควรกลั่นกรองข้อมูลที่น่าเชื่อถือและมีการยืนยันว่าถูกต้อง เป็นกำลังใจและช่วยยืนยันว่า การให้ลูกกินนมแม่บ่อยขึ้นในช่วงนมคัดเป็นวิธีที่ดีสุดในการทำให้น้ำนมได้ถ่ายออกจากเต้า และกระตุ้นให้มีการสร้างขึ้นมาใหม่ตามความต้องการของลูก

          ช่วยเตรียมอุปกรณ์ประคบร้อน ประคบเย็น การบีบน้ำนม ปั๊มนมเมื่อจำเป็นต้องใช้ตามสถานการณ์

          ช่วยดูแลเรื่องความจำเป็น ความสุขสบายอื่นๆ ที่แม่ควรได้รับ เช่น เครื่องดื่ม อาหาร การพักผ่อน ฯลฯ เพราะแม่อาจอ่อนเพลียจากการต้องให้นมลูกบ่อยขึ้น

          ถ้าเข้าใจและรู้จักแก้ไขอย่างถูกต้อง ปัญหาเรื่องนมคัดก็จะไม่เป็นที่หวาดหวั่นสำหรับคุณแม่อีกต่อไปค่ะ


นมเต็มเต้า นมคัด เต้านมอักเสบ ต่างกันอย่างไร

          อาการนมเต็มเต้า อาจเกิดในวันที่ 4-7 หลังคลอดหรือเกิดตลอดการให้นม เต้านมจะตึงๆ หนักๆ ขนาดขยายขึ้น

          นมคัด ระยะเวลาที่เกิดจะเป็นหลังวันที่ 7 ไปแล้ว อาจมีอาการเต้านมแข็ง บางครั้งน้ำนมไม่ไหลออกมาเวลาปั๊มหรือบีบ อาจมีอาการร้อนของเต้านม บางครั้งมีอาการเหมือนเป็นไข้

          เต้านมอักเสบ จะมีอาการปวด บวม แดง ร้อน อาการเหมือนเป็นไข้หรือมีไข้สูง

          การดูแล สำหรับอาการนมเต็มเต้าหรือนมคัด ต้องให้ลูกกินนมจากเต้าบ่อยขึ้น แต่ละมื้อให้กินนานขึ้น ในกรณีเต้านมอักเสบและมีไข้มากกว่า 2 วันติดต่อกันอาจต้องใช้ยาปฏิชีวนะร่วมด้วย



เรื่องราวผู้หญิง ความสวยความงาม แฟชั่น ความรัก มากมาย คลิกเลย

  คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ





ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจากจาก

Vol.11 No.125 มีนาคม 2549

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
นมคัด...คัดนม อัปเดตล่าสุด 7 ตุลาคม 2552 เวลา 14:41:51 60,187 อ่าน
TOP
x close