สิวยีสต์ หรือ สิวจากเชื้อรา หลายคนอาจเคยเป็นผื่นคล้ายสิวเม็ดเล็ก ๆ มีอาการคันยิบ ๆ แต่รักษาสิวอย่างไรก็ไม่หาย มาทำความรู้จัก สิวยีสต์ คืออะไร สาเหตุและอาการ พร้อมวิธีรักษาให้หายขาดกันเถอะ
หากมี
สิวเม็ดเล็ก ๆ ขึ้นเต็มไปหมดตามไรผม หน้าผาก แผ่นหลัง แถมอดแปลกใจไม่ได้ว่าทำไมเป็นสิวถึงคันยิบ ๆ ยิ่งช่วงที่อากาศร้อนชื้น เหงื่อออกมาก ก็ยิ่งขึ้นรัว ๆ บางคน
รักษาสิวด้วยยาแต้ม ยาทา มาทุกรูปแบบก็ไม่ยอมหาย สำหรับใครที่กำลังเจอแบบนี้บอกเลยว่าผื่นที่เราเห็นว่าคล้ายสิวนั้น แท้จริงแล้วไม่ใช่สิวทั่วไป แต่คืออาการของ “
สิวยีสต์” หรือ
สิวจากเชื้อรา นั่นเอง ซึ่งเจ้าสิวชื่อแปลกนี้คืออะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร แล้วจะรักษาให้หายขาดได้ไหม วันนี้กระปุกดอทคอมจะพามาทำความรู้จักกับ สิวยีสต์ กันค่ะ
สิวยีสต์ คืออะไร
สิวยีสต์ หรือ สิวเชื้อรา เป็นคำที่สื่อความหมายให้เข้าใจได้ง่าย เนื่องจากผื่นที่พบบนผิวหนังนั้นมีลักษณะคล้ายสิวและมีสาเหตุเกิดจากเชื้อรา แต่แท้จริงแล้วในทางการแพทย์เรียกโรคนี้ว่า “รูขุมขนอักเสบจากเชื้อรา” (Malassezia folliculitis หรือ Pityrosporum folliculitis) ซึ่งอาจพบเดี่ยว ๆ หรือพบร่วมกับสิวทั่วไปที่มีสาเหตุจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนหรือการติดเชื้อแบคทีเรียก็ได้ค่ะ
สิวยิสต์ เกิดจากอะไร
อย่างที่บอกว่า สิวยีสต์ เกิดจากเชื้อรา โดยเชื้อที่เป็นสาเหตุหลักของโรคนี้ ได้แก่ เชื้อราประเภทยีสต์ในกลุ่ม “มาลาสซีเซีย (Malassezia species)” ซึ่งปกติจะพบในผิวหนังของเราอยู่แล้วค่ะ แต่ถ้าเชื้อรามีการเจริญเติบโตมากผิดปกติก็จะทำให้เกิดโรคผิวหนังหลายชนิดตามมา อย่างน้อย ๆ ก็คือรูขุมขนอักเสบ แต่ถ้าหนักเข้าก็เป็นโรคเกลื้อน โรครังแคอักเสบ ซึ่งปัจจัยที่ทำให้เชื้อราชนิดนี้เติบโตผิดปกติ ได้แก่
- ผู้ที่มีผิวมัน เหงื่อออกง่าย ซึ่งน้ำมันบนผิวคืออาหารของยีสต์
- ผู้ที่มีรูขุมขนอุดตันจากการใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว
- สวมใส่เสื้อผ้าที่ไม่ระบายอากาศ โดยเฉพาะผ้าใยสังเคราะห์ ทำให้เหงื่อออกมาก ยีสต์ที่ชอบอากาศร้อนชื้นจึงเจริญเติบโตได้ดี
- ใช้ยาปฏิชีวนะเป็นเวลานาน (ทั้งชนิดรับประทานและทา) ทำให้ตัวยาไปกำจัดเชื้อแบคทีเรีย แต่เชื้อราจะเติบโตเพิ่มขึ้นแทน
- ใช้เครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์ หรือกินยากลุ่มสเตียรอยด์
- ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เครียดหรือเหนื่อยล้า อาจส่งเสริมให้เกิดรูขุมขนอักเสบจากเชื้อราได้ง่าย
สิวยีสต์ อาการและลักษณะเป็นแบบไหน
โรครูขุมขนอักเสบจากเชื้อราอาจดูคล้ายสิว คนจึงมักเข้าใจผิดว่าเป็นสิว ซึ่งสิวเชื้อรา หรือ สิวยีสต์ ส่วนใหญ่มักเกิดที่ผิวหนังบริเวณหน้าอก แผ่นหลัง แต่สามารถพบได้ที่ไหล่ คอ และใบหน้าเช่นกัน มีลักษณะเป็นผื่นเม็ดเล็ก ๆ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1-2 มิลลิเมตร และจากการที่เชื้อรามาลาสซีเซียเจริญเติบโตมากผิดปกติบริเวณรูขุมขน จะกระตุ้นให้เกิดการอักเสบเป็นตุ่มแดง อาจมีตุ่มหนองร่วมด้วย แต่ไม่มีลักษณะของสิวอุดตัน อาการที่เห็นได้ชัดอีกอย่างคือคันบริเวณที่เป็น โดยเฉพาะในช่วงที่อากาศร้อนชื้น ช่วงที่ต้องทำกิจกรรม หรือออกกำลังกายมากขึ้น ซึ่งแตกต่างจากสิวทั่วไปที่ไม่ค่อยมีอาการคัน
สิวยีสต์ รักษาอย่างไรให้หายขาด
หากแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรครูขุมขนอักเสบจากเชื้อรา หรือ สิวยีสต์ การรักษามักเริ่มด้วยยารับประทาน เนื่องจากมีประสิทธิภาพสูงกว่ายาทา สามารถแพร่กระจายไปยังรูขุมขน ซึ่งอยู่ลึกลงไปในชั้นหนังแท้ได้ดี แต่อาจมีผลต่อฮอร์โมน การทำงานของตับ และทางเดินอาหาร การใช้ยาต้านเชื้อราจึงควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด ขณะที่ยาทา เช่น Ketoconazole Cream มักใช้เป็นยาเสริมร่วมกับยารับประทาน หรือใช้หลังจากที่ผื่นหายแล้ว เพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ โดยใช้ระยะเวลาการรักษาประมาณ 1-2 เดือน หรืออาจจะมากกว่านั้น ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคค่ะ
สิวยีสต์ ห้ามกินอะไร
หลายคนอาจสงสัยว่าเป็นสิวยีสต์ห้ามกินขนมปังหรือเปล่า ขอบอกว่าหลีกเลี่ยงที่สาเหตุจะตรงจุดกว่านะคะ เช่น งดยาปฏิชีวนะ ยาคุมกำเนิด น้ำที่มีคลอรีน และอาหารที่มีน้ำตาลปริมาณมาก เพราะทั้งหมดนี้ทำให้ยีสต์และเชื้อราเติบโตในร่างกายได้ดี ส่งผลให้เกิดสิวจากเชื้อรานั่นเองค่ะ นอกจากนี้ถ้าไม่อยากเป็นสิวอื่น ๆ ร่วมด้วย ก็ควรงดของมัน ของทอด ชีส เนย นม ไปก่อน เพราะอาหารเหล่านี้จะกระตุ้นให้เกิดการอักเสบของสิวได้ง่าย
วิธีดูแลและป้องกันการเกิด สิวยีสต์ สิวเชื้อรา
สิวยีสต์ไม่สามารถป้องกันได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าไม่อยากให้เกิดสิวยีสต์ สิวจากเชื้อรา หรือถ้าเคยเป็นแล้วไม่อยากให้เป็นซ้ำ มีเคล็ดลับป้องกันง่าย ๆ ดังนี้
1. ล้างทำความสะอาดผิวหน้าและตัวให้สะอาดอยู่เสมอ หรือใช้สบู่และแชมพูต้านเชื้อรา ช่วยควบคุมไม่ให้เชื้อราเจริญเติบโตบนผิวหนังมากเกินไป
2. หากเป็นคนเหงื่อเยอะ ควรซับเหงื่อที่หน้าหรือตัวบ่อย ๆ ถ้าสะดวกให้พกเสื้อไว้เปลี่ยนเลย
3. งดการแต่งหน้า ทากันแดด และสกินแคร์กลุ่มที่เสี่ยงอุดตันทุกชนิด
4. กินโพรไบโอติกส์ เช่น โยเกิร์ต ผัก-ผลไม้ มิโสะซุป ก็ช่วยให้ร่างกายต่อสู้กับเชื้อราที่เจริญมากผิดปกติได้เช่นกัน
จะเห็นได้ว่า สิวยีสต์ มีลักษณะคล้ายสิวก็จริง แต่ถ้ารักษาแบบไม่ถูกจุดก็ไม่มีทางหายขาด ดังนั้นจึงควรไปตรวจวินิจฉัยกับหมอผิวหนังโดยตรง รวมถึงการใช้ยาแต่ละชนิดก็ควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์และเภสัชกรด้วย เพราะหากใช้ยาไม่ถูกต้องอาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรงกว่าเดิม แล้วจะหาว่าไม่เตือนไม่ได้นะ
ขอบคุณข้อมูลจาก : pharmacy.mahidol.ac.th, skinhospital.co.th, hellokhunmor.com