วัณโรคเทียม เกิดจากอะไร อันตรายไหม และป้องกันอย่างไรให้ตรงจุด
วัณโรคเทียม คืออะไร เป็นโรคติดต่อหรือไม่ ปัญหาสุขภาพที่ไม่ควรมองข้าม เผยสาเหตุของวัณโรคเทียม เกิดจากอะไร รักษายังไงได้บ้าง มาดูคำแนะนำกัน
จากกรณีข่าว
กัสจัง จีร่าร์ พิทักษ์พรตระกูล เน็ตไอดอลชื่อดัง ออกมาเผยถึงอาการหน้าติด
เชื้อวัณโรคเทียม จนต้องพักรักษาตัวมานานเกือบ 2 ปี หมดเงินค่ารักษาไปนับล้าน แต่ตอนนี้อาการดีขึ้นมากแล้ว ทำเอาแฟน ๆ ต่างส่งกำลังใจให้เธอรัว ๆ และหลายคนก็อดสงสัยไม่ได้ว่า
โรคนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร วันนี้กระปุกดอทคอมจึงไม่รอช้า ขอรวบรวมสาเหตุและอาการของ
วัณโรคเทียม รวมถึงวิธีป้องกันตนเองจาก
เชื้อวัณโรคเทียม มาฝาก ตามไปดูกันเลยค่ะ
วัณโรคเทียม คืออะไร และเกิดจากอะไร
วัณโรคเทียม เกิดจากเชื้อ Mycobacteria ที่อยู่ในกลุ่ม Nontuberculous mycobacteria (NTM) ซึ่งมีจำนวนมากกว่า 140 สายพันธุ์ พบได้ในสิ่งแวดล้อม ดิน น้ำ หรือสัตว์ และอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคในคนได้ โดยเฉพาะผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ หรือผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง และการติดเชื้อนี้จะมีผลต่อการเกิดโรคที่บริเวณปอด ต่อมน้ำเหลือง หรือส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย รวมถึงผิวหนังด้วย
วัณโรคเทียม เป็นโรคติดต่อไหม
การติดต่อส่วนใหญ่จะไม่แพร่กระจายเชื้อจากคนสู่คน สามารถเข้าสู่ร่างกายได้หลายช่องทาง เช่น การหายใจรับเชื้อจากสิ่งแวดล้อม หรือทางผิวหนังบริเวณที่มีแผล ซึ่งอาจรวมถึงแผลจากการศัลยกรรมที่ไม่ได้มาตรฐานด้วย
สำหรับผู้ป่วยวัณโรคเทียมจะมีอาการคล้ายวัณโรค เนื่องจากส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นที่ปอด อาการที่พบบ่อย ได้แก่
- มีไข้
- ไอเรื้อรัง
- เหนื่อยง่าย
- เสมหะเป็นเลือด
- น้ำหนักลด
- เบื่ออาหาร
- อ่อนเพลีย หรืออาจพบอาการอื่น ๆ ขึ้นอยู่กับตำแหน่งของการติดเชื้อ
วัณโรคเทียม อันตรายไหม
วัณโรคเทียมมีหลายชนิด บางชนิดรักษายากกว่าวัณโรคแท้ การรักษาให้ได้ผลต้องอาศัยการเพาะเชื้อและตรวจหาความไวต่อยา เพื่อจะได้รู้ว่าเป็นเชื้อวัณโรคเทียมชนิดใด และใช้ยาตัวไหนถึงจะได้ผลดีที่สุด
วิธีป้องกันวัณโรคเทียม
ทุกคนสามารถป้องกันการป่วยเป็นวัณโรคได้ ด้วยการรักษาสุขภาพให้แข็งแรง สวมใส่หน้ากากอนามัยเมื่อมีอาการไอ ตรวจสุขภาพอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง หรือหากสงสัยว่ามีอาการป่วยวัณโรค ควรรีบไปตรวจโดยเร็ว ด้วยการเอกซเรย์ปอดและการตรวจเสมหะ ณ โรงพยาบาลหรือสถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน เพื่อเข้าสู่กระบวนการการรักษาตามมาตรฐาน
วัณโรคเทียม ถือเป็นโรคที่ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด หากเราหมั่นดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ หรือหากรู้เร็วเมื่อมีอาการก็สามารถรักษาให้หายและไม่แพร่กระจายได้
ขอบคุณข้อมูลจาก : กรมควบคุมโรค, thansettakij.com, ยูทูบ Doctor Tany