แผนการเงินสำหรับ "ชีวิตคู่" (i do)
เรื่อง : กองบรรณาธิการ
หลังจากตกลงปลงใจแต่งงาน ก็ถือเป็นการเริ่มต้นชีวิตคู่ และเรื่องหนึ่งซึ่งทุกคู่หนีไม่พ้นคือเรื่อง "เงิน ๆ ทอง ๆ" เพราะคู่ชีวิตส่วนใหญ่จะเริ่มวางแผนอนาคตร่วมกัน ทั้งเตรียมมองหาบ้านเพื่ออยู่อาศัย มีรถไว้ขับ และมีทายาทไว้สืบสกุล ดังนั้น การวางแผนบริหารรายรับรายจ่ายเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องมีการตัดสินใจและจัดการใช้เงินร่วมกัน ซึ่งหากทั้งคู่มีหลักในการบริหารจัดการที่ดี จะทำให้เรื่องเงินเรื่องทองภายในครอบครัวง่ายขึ้น
1. พิจารณาสถานะทางการเงินในปัจจุบัน
หลายคนคงคุ้นเคยกับการทำบัญชีรายรับรายจ่ายมาตั้งแต่เด็ก แต่หากไม่เคยทำ ก็ควรเริ่มทำได้เลย โดยการทำบันทึกรายได้และค่าใช้จ่ายภายในครอบครัว ทั้งเงินเดือนรายรับด้านอื่น ๆ แล้วตามด้วยค่าใช้จ่าย ทั้งค่าเช่าบ้านหรือผ่อนบ้าน ค่าผ่อนรถหรือค่าเดินทาง ค่าน้ำมัน ค่าอาหาร ค่าเครื่องอุปโภคบริโภค ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ค่าเสื้อผ้า และค่าใช้จ่ายส่วนตัว ประโยชน์ของการจดบันทึกจะทำให้ทั้งสองรับรู้รายได้และภาระค่าใช้จ่ายทั้งหมด เพื่อให้เกิดการวางแผนต่อไปว่าจะรับผิดชอบร่วมกันอย่างไร นอกจากนั้นยังทำให้เห็นถึงทรัพย์สิน และหนี้สินของแต่ละฝ่ายอีกด้วย
2. สร้างอนาคตร่วมกัน
การสร้างเป้าหมายในวันข้างหน้าร่วมกัน ทำให้ทั้งคู่มีความกระตือรือร้นที่จะเดินไปให้ถึงเป้าหมายนั้นอย่างตั้งอกตั้งใจ เช่น การซื้อบ้าน ซื้อรถ การท่องเที่ยว การมีลูก และการศึกษาของลูก นอกจากกำหนดเป้าหมายแล้ว ยังต้องกำหนดระยะเวลาด้วยว่าเป้าหมายนั้นจะต้องเกิดขึ้นเมื่อไร เพื่อจะได้สร้างความมั่นคงและเป็นหลักประกันสร้างความมั่นใจให้เกิดขึ้นในอนาคต เมื่อได้เป้าหมายและระยะเวลาที่ชัดเจนแล้วค่อยพิจารณาจัดลำดับของแผนการเงินในภายหลัง
3. วางแผนการใช้จ่ายและประหยัดร่วมกัน
เมื่อเป็นคู่ชีวิตกันแล้วย่อมรู้จักนิสัยใจคอกันเป็นอย่างดี ฝ่ายไหนชอบซื้อ ฝ่ายไหนชอบประหยัด รู้จักเก็บรู้จักใช้ แต่โดยส่วนมากแล้วเรื่องการประหยัดและการใช้เงินอย่างสมเหตุสมผลนั้น ฝ่ายหญิงจะมีความละเอียดรอบคอบมากกว่าฝ่ายชาย ดังนั้น จึงไม่ต้องแปลกใจที่จะเห็นว่าหลาย ๆ คู่ยกให้ฝ่ายหญิงเป็นฝ่ายดูแลการเงินและการออม จะบรรลุเป้าหมายตามแบบที่วางแผนไว้ร่วมกันหรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับแผนการใช้จ่ายของทั้งสอง
4. มอบหมายผู้รับผิดชอบการเงิน
อย่างไรก็ตาม ทั้งสองต้องทำข้อตกลงร่วมกันว่าจะมอบหมายหน้าที่การจัดการด้านการเงินภายในครอบครัวให้กับใคร โดยทั้งคู่จะต้องมีความคิดเห็นสอดคล้องและมีความสุขกับการตัดสินใจที่จะใช้รูปแบบการบริหารการเงินร่วมกันเพื่ออนาคต
5. กองทุนครอบครัวมั่งคั่ง
นอกจากหลักการในข้อต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้ว ครอบครัวควรมีกองทุนเพื่อขยายดอกผล สร้างความมั่งคั่งให้เงินทองที่ผลิดอกออกผลจาการออม การลงทุนในรูปแบต่าง ๆ ตามที่ควรจะเป็น และต้องไม่ลืมวางแผนเผื่อเหตุฉุกเฉินไว้บ้าง เพราะความไม่แน่นอนเหตุไม่คาดฝัน หรืออุบัติเหตุย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ หลายคู่อาจจะเลือกทำประกันภัยประกันชีวิต แต่ก็น่าจะวางแผนเผื่อการตกงาน การลดลงของรายได้ เศรษฐกิจตกต่ำ รวมทั้งเหตุฉุกเฉินของญาติพี่น้องของทั้งสองฝ่ายไว้ด้วย
จริง ๆ แล้วข้อแนะนำเหล่านี้อาจไม่ใช่วิธีที่สมบูรณ์แบบที่สุดสำหรับทุกคู่ เพราะแต่ละคู่ชีวิตต่างมีพฤติกรรมทางการเงินแตกต่างกัน แต่หลักการเหล่านี้ถือเป็นแนวทางเบื้องต้นให้นำไปพิจารณาและปรับใช้ เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การหาวิธีที่เหมาะกับคู่ของตนเอง
คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อน ๆ ได้ที่นี่ค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
ISSUE 62