x close

จมูกทะลุ อาการเป็นอย่างไร เช็กวิธีสังเกตอาการได้ที่นี่ !

          จมูกทะลุ สิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้กับทุกคนที่ทำศัลยกรรมจมูก ซึ่งอาการจมูกทะลุจะเป็นอย่างไร รีบมาเช็กวิธีสังเกตอาการไว้ก่อนที่จะสายเกินแก้กันเถอะ

          ทุกวันนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่า การทำศัลยกรรมจมูก เป็นศัลยกรรมยอดฮิตของสาว ๆ เลยทีเดียว ซึ่งเทคนิคอันดับต้น ๆ ของการทำศัลยกรรมจมูกในประเทศไทยนั้นก็คือการใช้ "ซิลิโคน" และแน่นอนว่าการนำสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในร่างกาย อาจจะทำให้มีความกังวลใจหรือปัญหาหลาย ๆ อย่างตามมาได้ ซึ่งปัญหาหลัก ๆ ที่คนทำศัลยกรรมจมูกมักจะเจอ และเป็นกันมากก็คือ "อาการจมูกทะลุ" นั่นเอง เนื่องมาจากหลายสาเหตุและหลายปัจจัยด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น เนื้อจมูกน้อย แต่อยากเสริมจมูกให้โด่ง ๆ, ซิลิโคนที่ใช้ไม่ได้มาตรฐาน, เกิดจากการแก้จมูกแล้วแก้จมูกอีก ทำให้เนื้อจมูกบางลง หรือแม้แต่การเสริมจมูกไปนาน ๆ ก็อาจเสี่ยงทำให้จมูกบางลงและเกิดการทะลุได้เช่นเดียวกัน ซึ่งปัญหาจมูกทะลุนี้ ถือเป็นเรื่องใหญ่ของคนทำจมูกเลยทีเดียว ดังนั้นถ้าไม่อยากให้สายเกินแก้ ลองมาดูวิธีสังเกตอาการและสัญญาณเตือนของจมูกทะลุเอาไว้กันก่อนดีกว่า หากมีอาการเหล่านี้จะได้รีบไปพบศัลยแพทย์เพื่อให้แก้ไขได้อย่างทันท่วงที จะได้ไม่ต้องมานั่งเสียใจภายหลังยังไงล่ะคะ

จมูกทะลุ

1. ปลายจมูกสะท้อนแสง

          จมูกจะสะท้อนแสง มันวาวมากกว่าปกติ หรือมีสีขาว ๆ ใส ๆ สังเกตง่าย ๆ ที่บริเวณปลายจมูก หากมีอาการนี้แสดงว่าเนื้อที่ปลายจมูกเริ่มบางมาก ๆ แล้ว จึงทำให้มองเห็นผิวของซิลิโคนที่อยู่ใต้ผิวหนังสะท้อนออกมา

2. ลูบปลายจมูกแล้วรู้สึกเสียว ๆ

          เมื่อซิลิโคนเกิดการดันออกมาอยู่ใกล้ผิวหนังมากเกินไป จึงเป็นสาเหตุให้ผิวจมูกเริ่มบางลง และเมื่อเอามือลูบจะรู้สึกว่าเสียวแปล๊บ ๆ เนื่องมาจากจมูกมีเซลล์รับสัมผัสที่มากกว่าบริเวณอื่น ๆ และหากผิวยิ่งบางลงเท่าไรก็จะยิ่งรู้สึกเสียวมากขึ้นด้วย

จมูกทะลุ

3. มีอาการเจ็บไม่หาย

          จะรู้สึกว่ามีอาการเจ็บนิด ๆ โดยเฉพาะบริเวณปลายจมูก ซึ่งอาการเจ็บนั้นจะไม่หาย และจะเจ็บมากขึ้นหรือเจ็บเท่าเดิมเป็นระยะเวลานาน บางคนอาจมีน้ำขุ่น ๆ ใส ๆ ไหลออกมาด้วย เนื่องมาจากเกิดการอักเสบข้างในจมูกนั่นเอง

4. จมูกมีร่องบุ๋ม

          ร่องบุ๋มบริเวณจมูกมักเกิดจากผิวหนังจมูกด้านบนลงมาติดกับขอบของซิลิโคน กลายเป็นพังผืด ทำให้ผิวส่วนนั้นเกิดการรัด จึงทำให้มองเห็นขอบของซิลิโคนได้ชัดมากขึ้น


จมูกทะลุ

5. รูปร่างซิลิโคนเปลี่ยนแปลง

          จมูกที่เคยศัลยกรรมมาสวย ๆ จะเริ่มมีการเปลี่ยนรูปทรง เช่น จมูกเบี้ยว จมูกบวม หรือจมูกยาวงุ้มผิดปกติ เนื่องมาจากการเสริมจมูกไปนาน ๆ จะทำให้เกิดเนื้อเยื่อหุ้มบริเวณซิลิโคน ทำให้เนื้อเยื่อมีความหนาและแข็ง จนเกิดการบีบรัดซิลิโคนทำให้เอียงหรือเลื่อนลงมา ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้จมูกบางลงจนเกิดการทะลุได้

6. ปลายจมูกแดง ดำคล้ำ หรือขาวซีด

          เนื่องจากจมูกบางลง จึงทำให้สีผิวจมูกบริเวณนั้นเกิดความแตกต่างจากผิวบริเวณอื่น ๆ เช่น อาจมีสีขาวซีด แดง หรือดำคล้ำ สังเกตได้จากเวลาแต่งหน้าอาจต้องลงเมคอัพบริเวณนี้มากกว่าส่วนอื่น ๆ เพื่อปกปิดสีผิวที่ไม่สม่ำเสมอกันนั่นเอง

จมูกทะลุ

7. มีก้อนตะปุ่มตะป่ำบริเวณจมูก

          หากคลำบริเวณจมูกแล้วรู้สึกว่ามีเม็ดตะปุ่มตะป่ำแข็ง ๆ ที่สันจมูก อาจมาจากหินปูนมาเกาะที่ซิลิโคน ทำให้เกิดเป็นก้อนนูน ๆ ขึ้นมา ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้กับคนที่เสริมจมูกมาเป็นเวลานาน ทั้งนี้ บางคนอาจมีอาการเจ็บร่วมด้วย และถือเป็นอีกหนึ่งในอาการที่สามารถทำให้จมูกทะลุได้ แนะนำให้รีบไปพบศัลยแพทย์โดยด่วน

8. มีสิวหัวช้างที่จมูก


          สำหรับใครที่เป็นสิวหัวช้าง กินยา ทายา แล้วไม่หาย อาจเกิดการอักเสบลุกลามทำให้เนื้อเยื่อที่หุ้มซิลิโคนเสริมจมูกเกิดอาการอักเสบ และติดเชื้อได้ ซึ่งการอักเสบนี้จะส่งผลทำให้ผิวหนังบริเวณจมูกบางลง เป็นสาเหตุทำให้ซิลิโคนทะลุได้

จมูกทะลุ

9. แท่งซิลิโคนโผล่ออกมา

          สุดท้ายคืออาการที่ซิลิโคนโผล่ออกมาที่ปลายจมูก เห็นเป็นปลายขาว ๆ ชัดเจนแล้วว่าจมูกของคุณเกิดการทะลุแล้ว ให้รีบไปพบศัลยแพทย์เป็นการด่วน ทั้งนี้ อย่าจับหรือดึงซิลิโคนออกมาโดยเด็ดขาด เพราะอาจจะทำให้อาการหนักและแก้ไขได้ยากกว่าเดิม

          เมื่อรู้วิธีสังเกตแล้วว่าอาการจมูกทะลุเป็นอย่างไร ทีนี้คุณสาว ๆ ก็ลองสังเกตดูตัวเองสิคะ ว่ากำลังมีอาการเหล่านี้อยู่หรือเปล่า หากเข้าข่ายว่ากำลังมีอาการจมูกทะลุแล้วละก็ แนะนำให้รีบไปพบศัลยแพทย์เพื่อทำการแก้ไขโดยด่วน เพราะถ้าหากทะลุแล้วจะต้องรอให้แผลหายสนิทเสียก่อนจึงจะสามารถทำศัลยกรรมแก้ไขจมูกใหม่ได้ ซึ่งอาจต้องใช้เวลานานถึง 3-6 เดือนเลยทีเดียว และบางคนก็อาจจะมีรอยแผลเป็นฝากเอาไว้ให้ดูต่างหน้าอีกด้วย

ข้อมูลจาก : auiza.com, เฟซบุ๊ก drsurawejrama, gamesgrandmasterclinic.blogspot.com


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
จมูกทะลุ อาการเป็นอย่างไร เช็กวิธีสังเกตอาการได้ที่นี่ ! อัปเดตล่าสุด 6 กุมภาพันธ์ 2563 เวลา 10:09:43 120,340 อ่าน
TOP