การบาดเจ็บทางมือ (สมาคมศัลยแพทย์ตกแต่งแห่งประเทศไทย)
มือ ถือว่าเป็นอวัยวะที่สำคัญส่วนหนึ่งของร่างกาย มือของคนเรานั้นไม่เพียงแต่มีหน้าที่จับต้องหรือหยิบของเท่านั้น ยังให้ความรู้สึกในการจับต้อง สัมผัส วัตถุต่างๆ ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นตาที่สามของร่างกาย สามารถจะบอกลักษณะ รูปร่างลักษณะได้โดยไม่ต้องใช้ตาดู แต่ถ้าความรู้สึกของมือ เสียไปเนื่องจากอุบัติเหตุหรือสาเหตุใดก็ตามจะทำให้ความสามารถในการทำงานของมือเสียไปด้วย
การดูแลเบื้องต้น
หลังจากที่มีอุบัติเหตุทางมือ มีดบาด แก้วบาด หรือถูกปั้นจั่นกระแทกมือ หรือมือใส่เข้าไปในเครื่องปั่นผลไม้ ผู้ป่วยก็จะมีเลือดออกวิธีที่จะป้องกันไม่ให้เลือดออกมากก็คือการใช้ผ้าก๊อซปิดและกดด้วยนิ้วมือ ลงบนบาดแผล พร้อมกับพันด้วยผ้ายืด และยกมือให้สูงกว่าระดับหัวใจ สามารถที่จะทำให้เลือดหยุดไหล ถ้าบาดแผลที่นิ้วหรือข้อมือ ก็ควรจะทาบด้วยไม้กระดานเล็กปิดด้วยผ้าก๊อซและพันด้วยผ้ายืดไว้ ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันไม่ให้นิ้วหรือข้อมือบิดไปมา จะทำให้เลือดไปเลี้ยงที่ปลายนิ้วไม่สะดวก และปลายนิ้วอาจจะตายได้ และยกมือให้สูงกว่าระดับหัวใจ จะทำให้เลือดออกน้อยลงและปวดน้อยลง
ท่านจะทราบได้อย่างไรว่า บาดแผลนั้นมีเอ็นหรือเส้นประสาทขาดไปบ้าง ?
จะต้องดูลักษณะบาดแผล ตามธรรมดามือคนเรานั้นอยู่ในท่าธรรมดา นิ้วแต่ละนิ้วก็จะงอเล็กน้อย ถ้านิ้วไหนมีเส้นเอ็นขาดทางทาบฝ่ามือนิ้วนั้นจะเหยียดตรงและงอไม่ได้ ถ้าบาดแผลห่าง ด้านหลังมือขาด นิ้วนั้นก็จะกระดกไม่ได้ ก็แสดงว่าเส้นเอ็นหลังมือขาด ถ้ามีเส้นประสาทที่มือขาดหรือโดนกระแทกที่มือก็จะรู้สึกชาที่มือ
ถ้าผู้ป่วยมีนิ้วหรือมือขาดก็จะเก็บอวัยวะส่วนนั้นมาโรงพยาบาลให้อยู่ในสภาพที่ต่อนิ้วหรือมือนั้นได้อย่างไร ?
หาถุงพลาสติกและหนังยาง โดยการเก็บชิ้นส่วนของอวัยวะนั้น ล้างด้วยน้ำสะอาด และเก็บใส่ถุง พลาสติก และใช้หนังยางรัดปากถุงให้แน่น จากนั้นนำมาใส่ถุงพลาสติกที่บรรจุน้ำแข็งอีกชั้นหนี่ง แล้วใช้หนังยางรัดปากถุงอีกครั้ง อวัยวะส่วนนั้นจะไม่แช่อยู่ในน้ำ แต่อวัยวะส่วนนั้นจะอยู่กับความเย็นหรืออุณหภูมิที่พอเหมาะจะไม่ทำให้เนื้อเยื่อนั้นเน่าเสีย ถ้ามีการต่อเส้นเลือดและเส้นประสาทด้วยกล้องจุลทัศน์ โอกาสที่นิ้วหรืออวัยวะส่วนนี้จะมีโอกาสที่จะต่อก็ติดดีขึ้น
วิธีการเก็บนี้ใช้ได้กับทุกอวัยวะที่ถูกตัดขาด คุณผู้ชายควรท่องจำไว้
เมื่อเวลาที่นิ้วหรือมือขาด จะต่อได้ทุกกรณีไปหรือไม่
ในการต่อนิ้วมือนั้น ทางแพทย์ก็อาจจะต้องพิจารณาหลายอย่างก่อนที่จะหาการต่อ ขั้นแรกจะต้องดูว่าอวัยวะส่วนนั้นช้ำหรือถูกบด ถูกกระชาก จนเนื้อเยื่อ หรือเส้นเลือดเสียไปหรือยัง ถ้าเนื้อเยื่อหรือเส้นเลือดส่วนนั้นถูกบดทำลายไปมาก การต่อก็จะไม่ประสบความสำเร็จ รวมทั้งระยะเวลาที่เกิดอุบัติเหตุ ถ้าเวลาที่ยิ่งเนิ่นนานเกินไป โอกาสติดเชื้อและมีเนื้อตายมากขึ้นซึ่งจะเกิดกับอวัยวะส่วนขาดที่มีขนาดใหญ่เช่น มือ แขน ขา (ประมาณ 6 ชั่วโมง) ส่วน ของนิ้วที่ขาด เราสามารถคอยได้นานกว่านั้น อาจถึง 20 ชั่วโมง (ถ้าเก็บถูกวิธี)
มีข้อบ่งชี้อะไรบ้างในการต่อนิ้ว
1. นิ้วหัวแม่มือ ซึ่งเป็นนิ้วที่มีความสำคัญที่สุดของทุกนิ้ว ทำหน้าที่ถึง 40% ของนิ้วทั้งหมด จึงมีความจำเป็นต้องต่อนิ้วหัวแม่มือ
2. นิ้วที่ขาดหลายๆนิ้ว การจะต่อให้ได้ทุกนิ้ว
3. นิ้วที่ขาดในเด็ก สมควรที่จะต้องต่อให้ เพราะว่าเด็กยังมีอายุยังน้อยและมีอนาคตอีกไกล
4. ตำแหน่งที่ขาด มีผลต่อ การทำงานของนิ้วที่ต่อแพทย์จะพิจารณาว่าคุ้มค่าต่อการต่อหรือไม่
หลังผ่าตัดศัลยกรรมทางมือแล้ว ผู้ป่วยควรจะดูแลตนเองอย่างไร
ในการผ่าตัดทางมือ เมื่อมีเอ็นหรือเส้นประสาทขาดหรือกระดูกมือหัก หลังจากผ่า ตัดแล้วศัลยแพทย์จะใส่เฝือกหรือ Splint ไว้หลังผ่าตัด เนื่องจากว่าการทำผ่าตัดทางมือ วิสัญญีแพทย์จะฉีดยาชาเฉพาะที่ ผู้ป่วยจะชาและไม่มีความรู้สึกตั้งแต่หัวไหล่ถึงปลายนิ้วมือ ผู้ป่วยไม่สามารถจะควบคุมการทำงานของมือได้ ศัลยแพทย์ก็จะจัดมือให้อยู่นิ่งๆ เพื่อแผลนั้นหายเร็วขึ้น และให้ยกมือเหนือระดับหัวใจ จะได้ลดอาการปวดของแผลที่มือนั้น เส้นเอ็นและเส้นประสาทและกระดูกจะหายติดกันดีใช้เวลาประมาณ 3-4 อาทิตย์ จึงจะถอดเฝือกออกได้ ในระหว่างช่วงเวลานี้ผู้ป่วยควรจะดูแลความสะอาด อย่าให้เปียกน้ำ เพราะโอกาสที่แผลจะติดเชื้อได้ ไม่ควรถอดเฝือกออกก่อนระยะเวลาที่แพทย์กำหนด เพราะว่าจะทำให้กระดูกเคลื่อนตัวได้ หรือเอ็นเส้นประสาทที่ต่อไว้ขาดได้เช่นกัน
หลังจากถอดเฝือกออกแล้ว ผู้ป่วยควรจะปฏิบัติตัวอย่างไร
หลังจากที่ผู้ป่วยเข้าเฝือกอยู่นานถึง 3-4 อาทิตย์ ข้อมือ นิ้วมือก็จะขยับไม่ได้สะดวก กล้ามเนื้อมือและแขนก็จะรีบ หลังจากถอดเฝือกจึงควรจะให้ผู้ป่วยขยับนิ้วมือได้เล็กน้อย ให้เด็กคุ้นเคย แพทย์ก็จะนัดผู้ป่วยมาอีก 1 อาทิตย์ เพื่อทำกายภาพบำบัดที่มือและนิ้วนั้น ในขณะเดียวกันกับผู้ป่วยก็จะใด้เรียนรู้ในการบริหารของนิ้วมือ และได้ปฏิบัติและทำเองที่บ้าน หลังจากผู้ป่วยใช้นิ้วมือได้ดีขึ้น แพทย์ก็จะส่งผู้ป่วยไปฝึกงานให้คุ้นเคยกับงานที่ผู้ป่วยทำอยู่
ขอขอบคุณข้อมูลจาก