x close

ไม่ป้อน ไม่กิน ไม่ได้แล้ว!



ไม่ป้อน ไม่กิน ไม่ได้แล้ว! (รักลูก)

         
ลูกจะเข้าอนุบาลอยู่แล้ว ยังไม่ยอมกินข้าวเองอีก ต้องให้คอยป้อนอยู่เรื่อย…เฮ้อ

          หยุด…อย่ากังวลกลัวจนเกินไปค่ะ ขอบอกว่าปัญหานี้แก้ได้ง่าย เพียงแค่คุณพ่อคุณแม่ต้องปรับวิธีคิดและยอมให้ลูกทำอะไรด้วยตัวเองบ้าง ส่วนที่เหลือก็แค่ฝึกฝนเจ้าตัวเล็กตามเทคนิคต่อไปนี้ค่ะ

          ถ้าไม่ป้อน…หนูไม่ยอมกิน

          โดยปกติเด็กจะมีพัฒนาการของกล้ามเนื้อมัดเล็ก ที่พยายามใช้มือหยิบฉวยคว้าสิ่งของเมื่ออายุประมาณ 3-4 เดือนค่ะ และจะเริ่มพัฒนามาเป็นการหยิบด้วยนิ้วโป้งกับนิ้วอื่นๆ ตอนย่างเข้าเดือนที่ 5-6 จากนั้นเจ้าตัวเล็กของคุณจะควบคุมกล้ามเนื้อมือจนสามารถหยิบจับ หรือถ่ายของระหว่างมือได้แม่นยำมากขึ้น พอถึงเดือนที่ 8-9 พ่อแม่ก็ควรเริ่มฝึกให้ลูกหยิบอาหารกินเองได้แล้ว เพราะกล้ามเนื้อมัดเล็กของลูกพัฒนาและแข็งแรงขึ้นค่ะ

          แต่ถ้าอายุ 2 ขวบกว่าแล้วยังไม่ยอมตักข้าวกินเอง ต้องรอให้คุณป้อนข้าวเป็นประจำ นั่นก็เป็นเพราะว่า ไม่ได้รับการฝึกให้กินเองอย่างถูกต้องตั้งแต่เล็กๆ ค่ะ เพราะเด็กจะเรียนรู้จากการลงมือทำ ถ้าได้ลองทำเองบ่อยๆ ก็จะข้าใจ และสามารถทำได้เองในที่สุด แต่ถ้าคุณพ่อคุณแม่ไม่ฝึกให้ลูกกินเอง เมื่อถึงวัยที่ควรกินเองได้แล้ว ลูกก็จะกลายเป็นเด็กช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ หรือมีพัฒนาการที่ช้ากว่าเด็กวัยเดียวกัน และคนที่จะเป็นกังวลที่สุดก็คงไม่พ้นตัวคุณนั่นเองค่ะ

          ฝึกให้ลูกกินเอง…ตามวัย

          คุณพ่อคุณแม่ควรฝึกให้ลูกกินเองตามวัย และตามพัฒนาการของกล้ามเนื้อมัดเล็กของเขา ซึ่ง พญ.จันท์ฑิตา พฤกษานานนท์ หัวหน้าหน่วยพัฒนาบุคลากรการเจริญเติบโต โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มีเทคนิคดีๆ มาแนะนำดังนี้ค่ะ

           อายุ 9-10 เดือน ใช้นิ้วโป้งและนิ้วชี้หยิบกระดุมหรือเชือกได้ 

          Let’s start : ควรเริ่มฝึกลูกให้ใช้มือหยิบอาหารกินเอง (finger food) แต่ต้องเป็นอาหารชิ้นเล็กๆ นิ่มๆ ลูกจะได้ไม่สำลักหรือติดคอ เช่น มะละกอสุก ขนมปังนิ่ม หรือมะกะโรนีต้มเปื่อย และขณะที่ลูกหยิบอาหารเข้าปาก คุณแม่ควรบี้ให้อาหารนิ่มขึ้น ป้องกันการสำลักค่ะ

           อายุ 1 ขวบ ดื่มน้ำจากแก้วที่มีมือจับได้ 

          Let’s start : ฝึกให้ลูกถือแก้วน้ำดื่มเอง ควรเริ่มใช้แก้วใบเล็กๆ เพราะจะได้ถือได้อย่างถนัดมือ ในช่วงแรกของการฝึกลูกน้อยอาจสำลักได้ จึงควรให้เริ่มฝึกจากการดื่มน้ำเปล่าก่อน และใส่น้ำในปริมาณน้อยๆ

           อายุ 1 1/2 ขวบ สามารถต่อบล็อกไม้ได้ 2-3 ชิ้น และยังสามารถถือช้อนป้อนอาหารเข้าปากได้

          Let’s start : ฝึกใช้ช้อนตักอาหารเข้าปาก ควรใช้ถ้วยและช้อนที่มีขนาดเล็กๆ ให้เหมาะกับมือของเด็ก

           อายุ 2 ขวบขึ้นไป สามารถใช้ช้อนตักอาหารกินเองได้ และดื่มน้ำจากแก้วได้ โดยไม่หกเลอะเทอะ 

          Let’s start : ควรสอนวิธีใช้ช้อนตักอาหารที่ถูกต้อง ใส่อาหารในถ้วย แต่เพียงเล็กน้อยเพื่อให้ลูกรู้สึกภูมิใจว่ากินเองได้หมดถ้วย

          หลักคิด 

          1. เริ่มฝึกกันใหม่ ต้องเริ่มฝึกให้ลูกกินเองตั้งแต่วันนี้เลยค่ะ โดยคุณพ่อคุณแม่ต้องไม่บังคับหรือกดดันลูกนะคะ เพราะเด็กวัย 1 ขวบขึ้นไป จะเริ่มเป็นตัวของตัวเองแล้ว และไม่ชอบการบังคับเป็นที่สุดค่ะ

          2. จัดโต๊ะอาหารและกินข้าวไปพร้อมๆ กัน ลูกจะได้เห็นบรรยากาศของมื้ออาหาร และยังได้เรียนรู้วิธีการกินอาหารจากคุณพ่อคุณแม่ด้วย แต่ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีให้ลูกเห็นนะคะ พยายามอย่าเลือกกินอาหารต่อหน้าลูก

          3. ไม่ดูทีวีหรือทำกิจกรรมอื่น เพราะอาจเบี่ยงเบนความสนใจในการกินอาหารของลูก

          4. ไม่ควรใช้อาหารเป็นรางวัลหรือการลงโทษลูก ถ้าเอาเรื่องกินอาหารมาใช้เป็นให้รางวัลหรือลงโทษ ลูกอาจจะเครียด หรืออาจใช้เรื่องกินมาเป็นเครื่องมือต่อต้านคุณพ่อคุณแม่ได้

          5. กำหนดเวลาการกิน ในแต่ละมื้อไม่ควรให้ลูกกินข้าวเกิน 20-30 นาที ค่ะ

          6. จัดปริมาณอาหารให้เหมาะสม ต้องไม่ลืมว่าลูกยังกินข้าวได้ในปริมาณน้อย จึงไม่ควรตักเยอะเกินไป เพราะอาจทำให้ไม่อยากกินข้าว อมข้าว หรือกลายเป็นเด็กอ้วนไปเลยก็ได้ ทางที่ดีควรสังเกตจากน้ำหนักของลูกว่าต่ำกว่าเกณฑ์หรือเปล่า ถ้ายังไม่ต่ำก็ไม่มีปัญหา

          7. ปล่อยให้เลอะเทอะบ้าง ช่วงแรกที่ฝึกให้กินเองลูกอาจจะทำอาหารเลอะเทอะเป็นเรื่องธรรมดา ซึ่งการที่ลูกได้ลองใช้มือหยิบจับขย้ำอาหารดูบ้าง เป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยให้ลูกรู้จักอาหาร แต่คุณต้องไม่ลืมสอนลูกไปด้วยนะคะว่าอาหารเอาไว้กินไม่ใช่ของเล่น

          8. ลดของว่างระหว่างมื้อ ไม่ควรให้ลูกกินจุบจิบทั้งวัน เพราะจะทำให้ลูกไม่หิวเมื่อถึงมื้ออาหารค่ะ

          ข้อควรระวัง . . .

          1. อย่าติดสินบนลูก เช่น “ถ้ากินแตงกวาชิ้นนี้หมด แม่จะให้กินเค้กนะ” จะทำให้ลูกรู้สึกถูกบังคับและไม่ได้ช่วยให้ลูกอยากกินแตงกวาจริงๆ แถมยังสร้างนิสัยการกินผิดๆ ให้กับลูกด้วย

          2. ไม่บังคับให้ลูกกินอาหารที่ไม่ชอบ เช่น ผักนานาชนิด เพราะถ้ายิ่งบังคับ ลูกจะต่อต้าน ทำให้เกลียดอาหารชนิดนั้นไปเลย วิธีแก้คือ ควรปรับเปลี่ยนเมนูอาหารให้ลูก โดยเริ่มจากนำอาหารที่ลูกไม่ชอบมาทำเมนูใหม่ๆ เช่นไข่ตุ๋นใส่ผัก หรือเลือกใช้ผักหลากสีอย่าง แครอท มะเขือเทศ ถั่วลันเตา มาทำอาหาร ก็เพิ่มความน่าอร่อยไปอีกแบบ

          3. อย่ายัดเยียดป้อนลูก “อีกคำนะ”
เพราะถ้าลูกอิ่มแล้ว แต่ถ้าคุณพ่อคุณแม่ยังให้กินอีกเรื่อยๆ บางครั้งลูกอาจอาเจียนหรือขย้อนอาหารออกมา คนป้อนก็จะรู้สึกกังวลหรือหงุดหงิด ทำให้มื้ออาหารของลูกกลายเป็นเรื่องน่าเบื่อไปเลย






ขอขอบคุณข้อมูลจาก



ฉบับเดือนพฤษภาคม 2552





เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ไม่ป้อน ไม่กิน ไม่ได้แล้ว! อัปเดตล่าสุด 5 สิงหาคม 2552 เวลา 17:41:08 15,442 อ่าน
TOP