หลังจากที่มีข่าวในช่วงที่ผ่านมาว่า Revlon บริษัทเครื่องสำอางยักษ์ใหญ่ที่มีอายุกว่า 90 ปี จากสหรัฐฯ กำลังประสบปัญหาธุรกิจรุมเร้าหนัก จากความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ส่วนแบ่งการตลาดจึงมีมากขึ้น ทำให้ยอดขายลดลง รวมถึงมีปัญหาในการผลิตสินค้าที่ล่าช้าและหนี้สินล้นพ้นตัว จนไม่สามารถที่จะดำเนินกิจการต่อไปได้ ขณะนี้บริษัท Revlon ยื่นล้มละลายแล้วอย่างเป็นทางการ ตามมาตรา 11 ของกฎหมายล้มละลายแห่งสหรัฐฯ ด้วยเหตุผลเกี่ยวกับซัพพลายเชนและปัญหาเงินเฟ้อ ประกอบกับสถานการณ์โควิด 19 ทำให้ยอดขายลดลงและผลกำไรไม่เพียงพอ ทำให้บริษัทมีสินทรัพย์พร้อมหนี้สินสูงถึง 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถือเป็นจำนวนเงินมหาศาล
อย่างไรก็ตาม การยื่นขอพิทักษ์ทรัพย์ตามมาตรา 11 จะเปิดโอกาสให้บริษัทดำเนินธุรกิจต่อไปได้ แต่ต้องกำหนดแผนการใช้หนี้ด้วย โดยบริษัท Revlon คาดว่าจะได้รับเงินกู้ก้อนใหม่จากเจ้าหนี้เป็นมูลค่า 575 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเงินกู้ก้อนดังกล่าวจะนำมาเป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการต่อไป
สำหรับ Revlon ก่อตั้งในปี ค.ศ. 1932 โดยเริ่มวางจำหน่ายยาทาเล็บในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ก่อนที่จะขยายธุรกิจไปทั่วโลกในช่วงปี ค.ศ. 1955 และบริษัทถูกซื้อกิจการโดย MacAndrews & Forbes ในปี ค.ศ. 1985 ก่อนที่จะนำบริษัทเข้าซื้อ-ขายในตลาดหลักทรัพย์ในปี ค.ศ. 1996 ซึ่งภาระหนี้ของบริษัทนั้นเป็นภาระหนักอย่างมาก โดยเฉพาะช่วงหลังจากบริษัทได้ขายเงินกู้และพันธบัตรมูลค่ากว่า 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อเป็นเงินทุนในการเข้าซื้อกิจการของ Elizabeth Arden ในปี ค.ศ. 2016 ทั้งยังเป็นเจ้าของแบรนด์ต่าง ๆ เช่น Cutex และ Almay ในตลาดกว่า 150 ประเทศ
ขอบคุณข้อมูลจาก : bbc.com, theguardian.com, springnews.co.th