กลายเป็นประเด็นดราม่าใหญ่เกี่ยวกับวงการเพลง กรณีศิลปินชื่อดังไม่ยอมขึ้นทำการแสดงที่สถานบันเทิง เนื่องจากมีข้อขัดแย้งกับทีมซาวด์ของร้าน โดยมีการพูดถึงเหตุผลที่จะไม่ขึ้นโชว์ให้คนฟังดูโชว์ที่ไม่ได้คุณภาพ ขณะที่ทางร้านได้เปิดเผยรายละเอียดทั้งหมดในการดูแลศิลปินรายนี้แทบทุกข้อตามที่ได้รับการร้องขอเต็มที่แล้วนั้น
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ล่าสุด (14 ตุลาคม 2565) โลกออนไลน์ ได้ย้อนไปแชร์บทสัมภาษณ์ของ แบงค์ แคลช ศิลปินชื่อดัง ซึ่งเปิดใจในรายการ ป๋าเต็ดทอล์ก ช่วงหนึ่งตอบถึงการที่ตัวเองเริ่มเปลี่ยนไปเพราะชื่อเสียง ยอมรับว่านิสัยเหล่านี้มันเริ่มซึมเข้ามาตามสถานการณ์ เช่น สิ่งที่คนอื่นทำไม่ได้เราทำได้ สิ่งที่คนอื่นไม่ได้รับการเอาใจแต่เราได้รับ กล้าพูดในสิ่งที่คนอื่นไม่กล้าพูด ไม่ว่าจะเป็นบนเวที หรือหลังเวที หรือกับทีมงาน มันเป็นดาบสองคมเพราะความเหลิงมันเริ่มเข้ามา เหมือนกับว่าเป็นจุดศูนย์กลางของโลกใบนี้ อยากได้อะไรก็ต้องได้ (ความรู้สึกแบบนี้) มันมาเป็นห้วง ๆ แต่เพื่อนในวงจะช่วยกันเตือน ยอมรับว่ามีช่วงหลุด ๆ ไปเหมือนกัน
เมื่อก่อนจะรู้สึกว่าตัวเองเป็นสตาร์เยอะเกินไป แล้วมักจะโทษคนอื่นมากกว่าตัวเองเสมอ เมื่อก่อนวงร็อกมันต้องสนุก วันไหนไปเล่นคอนเสิร์ตแล้วเจอคนดูไม่สนุก ก็จะโมโหทันที เราจะโทษคนอื่นทันทีว่าทำไมมาดูคอนเสิร์ตแล้วคุณไม่สนุก หรือกรณี ซาวด์มอนิเตอร์ที่อยู่หน้าเวทีไม่ดี มันทำให้มีผลต่อการร้อง เคยถึงขั้นเขวี้ยงไมค์ ที่วงก็เป็นกันบ้าง ไม่พอใจก็โยนกีตาร์ เหลืออย่างเดียวคือโยนทีวีออกนอกหน้าต่าง
มันเริ่มไม่ค่อยมีความสุขกับการเล่นคอนเสิร์ต เพราะเราไปมองว่าทุกคอนเสิร์ตคนดูจะต้องเหมือนกับในทีวีที่เราเคยดู พอมันไม่เป็นแบบนั้นเราก็จะคิดว่าทำไม แต่ตอนนั้นเราลืมมองไปว่าคนดูไม่ได้ผิดเลย เราต่างหากที่อาจจะเผลอไปแสดงอาการที่มีกำแพงกับคนดูหรือเปล่า ทำให้เขารู้สึก (ทำท่าไม่สบายใจ) แต่ถ้าเรามีความสุขคนดูก็จะมีความสุขเหมือนเรา ตอนนั้นคิดสงสัยว่าทำไมคนดูไม่สนุกเลย ตอนนี้ได้คำตอบว่า (ชี้ไปที่ตัวเองในอดีต) ก็มึงหน้าไม่ค่อยรับแขกตั้งแต่ขึ้นเวทีแล้ว
สมัยก่อนเราลืมมองไปเหมือนกัน มอนิเตอร์ไม่ดีจนเคยเกรี้ยวกราด ขว้างไมค์ แล้วบอกเป็นนักร้องคุณภาพ แค่นี้โมโหแล้ว ? แล้ววงที่มาเล่นก่อนหน้านี้ เครื่องเดียวกัน แล้วบางกรณีวงเขาไม่ได้มีซาวด์เอนจิเนียร์ดีเท่าวงเราด้วยนะ เขาไม่เห็นบ่นอะไรเลย เขาไม่เห็นด่าใครเลย เขาร้องได้ดี โชว์ได้ดี ยิ้มแย้มแจ่มใส สรุปเราเป็นนักร้องที่ดีจริงเหรอ มันเริ่มตั้งคำถามกับตัวเอง สุดท้ายมันก็ไม่ได้ดีกว่าคนอื่นหรอก
(กรณียึดติดว่าตัวเองมีชื่อเสียง ซึ่งอาจหนักจนคนไม่อยากทำงานด้วย) การใส่หัวโขน เรารู้สึกว่ามันสวยงาม อยากจะใส่ไว้ตลอด แต่เราลืมไปว่ามันหนัก แล้วถอดไม่เป็น ถอดไม่ออก แต่พอเราเริ่มถอดบทบาทนั้นได้ ลองทำงานเบื้องหลัง เป็นโปรดิวเซอร์ ทำหนัง ลงทุนต่าง ๆ จึงเริ่มเข้าใจทีมงานอื่น ๆ ทุกขั้นตอนว่า บางทีมันมีเหตุผลที่ทำไม่ได้ ได้รู้แล้วว่าหน้างานมีอะไรไม่รู้เต็มไปหมด แสดงว่าที่ผ่านมาเราโง่เขลา วันนี้เราเข้าใจแล้วก็รู้สึกสบายมากขึ้น