ปวดหลังช่วงเอว สัญญาณเตือนปัญหาสุขภาพ ที่สาว ๆ ไม่ควรละเลย

          ปวดหลังช่วงเอว หรือปวดหลังส่วนล่าง อาจไม่ใช่แค่การปวดเมื่อยธรรมดา แต่อาการปวดหลังช่วงเอว หากเป็นมาก ๆ หรือเรื้อรัง อาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคบางอย่าง
ปวดหลังช่วงเอว สัญญาณเตือนปัญหาสุขภาพ ที่สาว ๆ ไม่ควรละเลย

          สาว ๆ ที่นั่งทำงานอยู่ในท่าเดิมนาน ๆ อาจทำให้มีอาการปวดหลังช่วงเอว หรือปวดหลังส่วนล่างกันบ้าง ซึ่งหากเป็นมาก ๆ จนเรื้อรังอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพผู้หญิง การใช้ชีวิตประจำวัน รวมไปถึงเป็นสัญญาณเตือนของโรคบางอย่าง วันนี้กระปุกดอทคอมจึงได้รวบรวมสาเหตุของอาการปวดหลังช่วงเอว และวิธีรักษาอาการปวดหลังช่วงเอวมาบอกต่อกัน เพื่อที่หลายคนจะได้รับมืออย่างถูกต้องและทันท่วงที ตามมาดูกันเลยค่ะ

ปวดหลังช่วงเอว มีลักษณะอย่างไร

          ปวดหลังช่วงเอว หรือปวดหลังส่วนล่าง คือ อาการปวดที่เกิดขึ้นตั้งแต่บริเวณหลังชายโครงไปถึงส่วนล่างของแก้มก้น หรืออาจมีอาการปวดร้าวลงขา เกิดได้ทั้งจากการเสื่อมและโรคของกล้ามเนื้อ เอ็น กระดูก และหมอนรองกระดูกสันหลัง ซึ่งเป็นอาการปวดที่พบบ่อยที่สุดของโรคทางออร์โธปิดิกส์ หรือโรคทางกระดูกและข้อ

ปวดหลังช่วงเอว เกิดจากอะไร

          อาการปวดหลังช่วงเอว หรือปวดหลังส่วนล่าง อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุด้วยกัน ได้แก่
  • น้ำหนักตัวมากเกินไป ทำให้กระดูกต้องรับน้ำหนักเยอะ
  • การนั่งหรือยืนผิดท่าเป็นเวลานาน ๆ
  • นอนหรือนั่งอยู่ในท่าเดิมซ้ำ ๆ
  • ไม่ออกกำลังกาย ไม่ค่อยได้ยืดเหยียดกล้ามเนื้อ
  • การออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาบางชนิดที่ต้องเอี้ยวตัวเป็นเวลานาน เช่น ตีกอล์ฟ โบว์ลิ่ง และเทนนิส เป็นต้น
  • การใช้งานร่างกายอย่างหักโหมเกินไป อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บบริเวณเอวและหลัง
  • อาการปวดหลังส่วนล่าง บางคนจะเกิดในช่วงก่อนประจำเดือนมา 1-2 วัน หรือขณะที่มีประจำเดือน หลังจากนั้นอาการจะหายไปเอง
  • ตั้งครรภ์ ต้องแบกรับน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นจากน้ำหนักของทารกในครรภ์
  • เกิดจากโรคเกี่ยวกับกระดูกสันหลัง เช่น โรคความเสื่อมข้อติดกระดูกสันหลัง, โรคของหมอนรองกระดูก, โรคช่องกระดูกสันหลังตีบ, โรคกระดูกสันหลังติดเชื้อ รวมไปถึงโรคมะเร็งกระดูกสันหลัง
ปวดหลังช่วงเอว สัญญาณเตือนปัญหาสุขภาพ ที่สาว ๆ ไม่ควรละเลย

อาการปวดหลังส่วนล่าง มีกี่ระยะ

          อาการปวดหลังส่วนล่างสามารถแบ่งเป็นระยะต่าง ๆ ได้ดังนี้
  • อาการปวดหลังแบบเฉียบพลัน คือ อาการปวดหลังที่มีอย่างต่อเนื่องน้อยกว่า 6 สัปดาห์
  • อาการปวดหลังกึ่งเฉียบพลัน คือ อาการปวดหลังที่มีอย่างต่อเนื่องมากกว่า 6 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 3 เดือน
  • อาการปวดหลังเรื้อรัง คือ อาการปวดหลังที่มีอย่างต่อเนื่องมากกว่า 3 เดือน

วิธีป้องกันอาการปวดหลังช่วงเอว

          สามารถทำได้หลายวิธี โดยขึ้นอยู่กับระดับอาการปวดหลังของแต่ละคน ดังนี้
  • รักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ไม่อ้วนจนเกินไป
  • ออกกำลังกายเป็นประจำ เสริมสร้างความแข็งแรงส่วนหลัง
  • ไม่นั่งทำงานนานจนเกินไป จัดโต๊ะ-เก้าอี้ให้นั่งสบาย
  • ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น นั่งและยืนในท่าที่ถูกต้อง ไม่นอนท่าเดิมนาน ๆ
  • ใส่รองเท้าส้นสูงแค่ยามจำเป็น ควรเลือกใส่รองเท้าที่เดินสบาย เช่น รองเท้าส้นเตี้ย
  • งดยกหรือแบกของหนักเกินกำลัง ถ้าต้องยกของอย่าก้มตัวลงไป แต่ให้งอเข่า หลังตรง แล้วใช้แรงขาดันตัวขึ้นมา
ปวดหลังช่วงเอว สัญญาณเตือนปัญหาสุขภาพ ที่สาว ๆ ไม่ควรละเลย

ปวดหลังช่วงเอว รักษายังไง

          การรักษาอาการปวดหลังช่วงเอว นอกจากรักษาตามอาการป่วยแล้วยังสามารถบรรเทาอาการปวดได้ดังต่อไปนี้
  • ทาครีมบรรเทาอาการปวด หรือรับประทานยาแก้ปวดหลัง ยาแก้อักเสบ เป็นต้น
  • การนวดแก้ปวดหลัง
  • นอนพัก 2-3 วัน ลดการเคลื่อนไหวร่างกายที่อาจกระทบกระเทือนหลังส่วนล่าง
  • ใช้การประคบเย็นช่วยลดการอักเสบและบวม
  • ใช้การประคบร้อน หรือการลงไปแช่ในน้ำอุ่น ช่วยบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อ
  • ยืดเหยียดกล้ามเนื้อ เช่น ฝึกโยคะ
  • การจัดกระดูก
  • ทำกายภาพบำบัดแก้อาการปวดหลัง
  • การฝังเข็ม ครอบแก้ว ตามแบบฉบับแพทย์ของแผนจีน
  • การผ่าตัด หากรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ แล้วไม่ดีขึ้น และยังมีอาการปวดมากขึ้น เช่น มีอาการปวดร้าวตามเส้นประสาท เริ่มมีอาการชาหรืออ่อนแรง เป็นต้น

          ทั้งนี้ หากมีอาการปวดหลังช่วงเอวเรื้อรังก็ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง เพราะถ้าปล่อยไว้นานอาจกลายเป็นโรคที่รุนแรงและรักษาหายยากขึ้น

ขอบคุณข้อมูลจาก : nakornthon.com, kdmshospital.com, healthline.com

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ปวดหลังช่วงเอว สัญญาณเตือนปัญหาสุขภาพ ที่สาว ๆ ไม่ควรละเลย อัปเดตล่าสุด 4 ตุลาคม 2567 เวลา 12:05:51 4,207 อ่าน
TOP
x close