คะแนนน้อย...เรื่องเล็กของเด็กอนุบาล (รักลุก)
โดย: มรกต
หากลูกวัยอนุบาลทำคะแนนได้น้อยกว่าเพื่อนๆ และทำให้คุณรู้สึกผิดหวังหรือสับสนว่าจะทำอย่างไรต่อไปดี ? อ่านเรื่องราวต่อไปนี้ก่อนสิคะ
พ่อจ๋าแม่จ๋าอย่าดุหนู
หากคุณพ่อคุณแม่รู้สึกไม่ปลื้มเมื่อลูกได้คะแนนน้อย คุณหมอแนะนำว่าควรจัดการกับอารมณ์ของตนเองก่อนค่ะ เพราะถ้าคุณพ่อคุณแม่เครียดหรือดุลูก จะทำให้ลูกรู้สึกว่าถูกกดดันและเกิดความเครียดตามไปด้วย
สาเหตุที่ทำให้ลูกได้คะแนนน้อยนั้น อาจเพราะเขาไม่พร้อมในบางเรื่อง เช่น สมาธิสั้น ขาดความพยายามหรือแรงจูงใจ มีปัญหาด้านการอ่าน การเขียน หรืออาจเป็นเพราะลูกยังไม่ได้สนใจเรื่องการอ่านเขียนอย่างเต็มที่ ซึ่งก็ถือว่าไม่ใช่ปัญหาใหญ่สำหรับเด็กวัยนี้ค่ะ
คุณพ่อคุณแม่ควรทำความเข้าใจว่าการเรียนอนุบาล เป็นแค่การเตรียมความพร้อมที่ จะช่วยให้ลูกอยากเรียนรู้ อยากอ่าน อยากเขียน อยากไปโรงเรียน อยากไปเล่นกับเพื่อนเท่านั้น และคะแนนเรียนก็เป็นแค่ตัววัดความสามารถทางด้านการอ่านและการเขียน ซึ่งเป็นความฉลาดแค่ 2 ด้านของพหุปัญหาหรือความฉลาดทั้งหมดของคนเรา
ดังนั้น การที่ลูกทำคะแนนได้น้อยหรือไม่ถึงเกณฑ์ที่โรงเรียนกำหนด จึงไม่สามารถบอกได้ว่าลูกไม่เก่งหรือไม่ดีนะคะ คุณพ่อคุณแม่ต้องไม่ผูกความเก่งของลูกด้วยคะแนนเรียน และหากลูกทำคะแนนได้ไม่ถึงเกณฑ์ที่คุณพ่อคุณแม่หวัง ก็ต้องกลับมาคิดและหาวิธีแก้ไขให้ดีขึ้นจะดีกว่าค่ะ
อย่าเพิ่งคิดถึงเรื่องคะแนน
วัยอนุบาลเป็นวัยของการเรียนแบบ และมองสิ่งแวดล้อมเป็นหนัก หากคุณพ่อคุณแม่และคุณครูซึ่งเป็นสิ่งแวดล้อมที่สำคัญของเขา ทำให้เขาเครียดเรื่องการเรียนตั้งแต่แรก ก็จะส่งผลทั้งในปัจจุบันและในอนาคตค่ะ
คุณหมอเล่าว่าเด็กอนุบาลบางคนเรียนได้ 90% แต่ก็ยังเครียด เพราะยังเขียนไม่ตรงตามเส้นประ ทั้งๆ ที่เรียนได้ที่ 1 แต่ก็ยังรู้สึกผิดหวังและเครียด
คุณหมอยังบอกอีกว่า เรื่องการเรียนสามารถก่อปัญหาสุขภาพจิตให้เด็กได้ ตั้งแต่อนุบาล 2-3 และต่อเนื่องไปจนถึง ป.1-ป.6 เลยทีเดียว โดยจากการศึกษาวิจัยเรื่องปัญหาสุขภาพจิตของเด็กไทย พบว่าอารมณ์ซึมเศร้าของเด็กไทย มีความสัมพันธ์กับเรื่องของผลการเรียนต่ำค่ะ
ดังนั้น หากคุณพ่อคุณแม่ไม่เข้าใจปัญหาการเรียนของลูก แต่กลับตั้งความคาดหวังไว้มาก เอาความคาดหวังนั้นไปผูกว่าลูกจะเก่งหรือไม่เก่งขึ้นอยู่กับคะแนน แล้วก็ไปกดดันลูก จะทำให้เขามีปัญหาสุขภาพจิตได้
คะแนนเรียนเป็นแค่จุดเริ่มต้นที่บอกได้ว่าลูกจะชอบเรียนทางไหน แต่ไม่ใช่ความสำเร็จทั้งหมดของเขาค่ะ เพราะความสำเร็จของเด็ก หรือคน ๆ หนึ่งไม่ได้ขึ้นอยู่กับการเรียนเก่งอย่างเดียว แต่ต้องเป็นความเก่งในทุก ๆ ด้าน เช่น มีความเพียรพยายาม สามารถปรับตัวเข้ากับคนอื่นได้ เล่นกับคนอื่นเป็น รู้จักช่วยเหลือตัวเอง ช่วยเหลือพ่อแม่ ฯลฯ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จะเป็นความเก่งและความภูมิใจของเขาได้ทั้งหมด
ให้กำลังใจหนูหน่อยสิจ๊ะ
นอกจากไม่ควรดุหรือกดดันลูกด้วยความคาดหวังเรื่องคะแนนแล้ว คุณพ่อคุณแม่ควรให้กำลังใจลูก พร้อมกับตั้งเป้าหมายว่าจะฝึกฝนหรือช่วยให้เขา ทำได้ดีขึ้นอย่างไรในอนาคต แต่ในวัยอนุบาลได้เท่าไหร่ก็เท่านั้น
คุณพ่อคุณแม่ต้องมองลูกในแง่ดี พยายามสร้างความมั่นใจให้ลูกว่าต่อไปเขาก็จะทำได้ แต่ต้องฝึกฝนมากขึ้นค่ะ
วิธีส่งเสริมให้ลูกทำสิ่งต่าง ๆ ได้ดีขึ้นทั้งเรื่องการเรียนและเรื่องอื่น ๆ คือ ชม เชียร์ และให้กำลังใจ เช่น บอกลูกว่า "หนูได้คะแนนน้อยก็ไม่เป็นไร เพราะหนูก็เขียนได้เยอะ เขียนได้ถูกหมด แต่อาจจะเขียนไม่ตรง ไม่เป็นระเบียบก็ไม่เป็นไร เดี๋ยวโตขึ้นหนูก็เขียนได้ดีเองแต่หนูก็ต้องฝึกฝน ต้องพยายามมากขึ้นหน่อย" แล้วชมในเรื่องอื่น ๆ ที่ลูกทำได้ดี เช่น "ความจริงหนูก็ยังเก่งเรื่องอื่น ๆ เช่น วาดรูปเก่ง เรื่องอื่นหนูก็ค่อย ๆ ฝึกไป เดี๋ยวหนูก็ทำได้ดีเอง" เป็นต้น
หนูควรเก่งรอบด้าน
คุณหมอบอกว่า เด็กที่เรียนเก่งมากแต่กลับมีปัญหาสุขภาพจิตตั้งแต่เรียนอนุบาล ประถม จนกระทั่งเป็นวัยรุ่น สาเหตุหนึ่งเนื่องจากคุณพ่อคุณแม่ไม่ได้ฝึกทักษะด้านอื่น ๆ ให้ลูกค่ะ บางบ้านถึงขนาดไม่ให้ลูกทำอะไรเลย เน้นให้เรียนอย่างเดียว
วิธีนี้นอกจากทำให้ลูกขาดทักษะทางด้านอื่นๆ แล้ว ยังทำให้เขาขาดแรงจูงใจในการทำสิ่งต่าง ๆ เมื่อเจออุปสรรคก็ไม่ฟันฝ่า แม้เป็นอุปสรรคเพียงเล็กน้อยก็ท้อถอย แต่พ่อแม่กลับคาดหวังว่าลูกจะสามารถทำได้ ทั้ง ๆ ที่ไม่เคยฝึกฝนลูกเลย ทำให้ลูกรู้สึกกดดันและเครียดจนเกิดปัญหาสุขภาพจิตได้ค่ะ
ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงต้องวางแผนฝึกฝนลูกทุกด้าน ไม่ใช่เน้นเรื่องการเรียนเพียงอย่างเดียว
หนูเครียดแล้วนะ
การแสดงออกถึงความเครียด และความวิตกกังวลของลูกวัยอนุบาลมีหลายอย่างค่ะ เป็นพฤติกรรมที่เขาควบคุมตัวเองไม่ค่อยได้ เช่น กัดเล็บ ปัสสาวะรดที่นอน กลั้นปัสสาวะ-อุจจาระไม่ค่อยอยู่ เขียนหนังสือแล้วก็ลบ เขียนแล้วก็ลบจนกระดาษขาด เล่นแรงขึ้น แกล้งคนอื่น ร้องไห้ง่าย มีพฤติกรรมเด็กกว่าวัย ขยิบตา ขยับไหล่อยู่เสมอ เป็นต้น
นอกจากนั้น การที่เด็กถูกดุ ถูกตี ในเรื่องที่เขายังทำบางอย่างไม่ได้ หรือยังทำได้ไม่ดี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเรียน หรือเรื่องอื่นๆ ล้วนแต่ทำให้เขาเครียดเพราะถูกกดดัน จนกลายเป็นปัญหาสุขภาพจิตได้ค่ะ
ธรรมชาติของลูกวัยอนุบาล คือได้เรียนรู้จากการเล่น การสังเกต และจากการได้ลงมือทำกิจกรรมต่าง ๆ คะแนนมากหรือน้อย คงไม่สำคัญเท่าการที่ลูกได้เรียนรู้อย่างมีความสุขและเหมาะ สมตามวัยแน่ ๆ ค่ะ
เรื่องราวผู้หญิง ความสวยงาม แฟชั่น ความรัก มากมาย คลิกเลย
คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก