x close

โอ๋ ภัคจีรา ผ่าตัด โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง แล้วรอพักฟื้น

โอ๋ ภัคจีรา

โอ๋ ภัคจีรา 



เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

          โอ๋ ภัคจีรา ผ่าตัดต่อมไธมัสแล้ว ที่โรงพยาบาลศิริราช หลังป่วยด้วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง อาการปกติดี แพทย์สั่งงดเยี่ยม 4 วัน

          หลังจากที่ดารา-พิธีกรสาวอารมณ์ดี โอ๋ - ภัคจีรา พสวงศ์ ออกมาเปิดเผยว่า ตัวเองป่วยเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือ โรคเอ็มจี (Myasthenia Gravis) จนกลายเป็นข่าวฮือฮาไปทั่ววงการบันเทิงนั้น ล่าสุดวันที่ 15 ตุลาคม 2553) ก็ถึงคิวที่ โอ๋ ภัคจีรา จะต้องเข้ารับการผ่าตัดต่อมไธมัส เพื่อรักษา โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ที่โรงพยาบาลศิริราช

          โดยก่อนหน้านี้ โอ๋ ภัคจีรา ต้องทนทุกข์กับอาการของ โรคเอ็มจี หรือ โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ที่ทำให้เธอรู้สึกตาแห้ง แสบตา มองอะไรไม่ค่อยเห็น เหนื่อยง่าย กล้ามเนื้อไม่มีแรง ลิ้นแข็ง บางครั้งถึงขนาดยิ้ม หรือพูดก็ยังยาก และต้องทานยาทุก 6-8 ชั่วโมง เพื่อควบคุมอาการ รวมถึงดูแลตัวเองตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด  

          สำหรับการผ่าตัดรักษา โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ในครั้งนี้ โอ๋ ภัคจีรา จะต้องผ่าตัดนำต่อมไธมัสบริเวณกลางอกออก เนื่องจากต่อมไธมัสทำงานผิดปกติ ทำให้การสั่งงานควบคุมร่างกายเสียไป ซึ่งแม้ว่าจะทำการผ่าตัดแล้ว แต่ โอ๋ ภัคจีรา ก็จะยังคงเป็น โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงอยู่ แต่ถึงอย่างนั้นการผ่าตัดต่อมไธมัสออกก็มักจะส่งผลให้อาการของโรคเอ็มจีเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น 

          ล่าสุด หลังการผ่าตัดเสร็จสิ้น แพทย์เผยว่า การผ่าตัดเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ผู้ป่วยยังมีอาการเจ็บแผลอยู่บ้าง แพทย์ต้องให้ยานอนหลับ และให้ดาราสาวนอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลต่ออีก 4 วัน และห้ามงดเยี่ยมจนถึงวันจันทร์ที่ 18 ตุลาคม เนื่องจากกลัวว่าจะเกิดการติดเชื้อ และต้องดูอาการข้างเคียงด้วย



โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือ โรคเอ็มจี

โรคมัยแอสทีเนีย กราวิส หรือ โรคเอ็มจี 


 รู้จัก โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือ โรคเอ็มจี 

          โรคมัยแอสทีเนีย กราวิส (Myasthenia gravis) หรือ โรคเอ็มจี ที่ฟังดูชื่อแปลก ๆ เพราะเป็นชื่อภาษากรีกและละติน มีความหมายว่า "grave muscular weakness" ซึ่งเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ประเภทหนึ่ง มักเกิดกับกล้ามเนื้อเล็ก ๆ บริเวณใบหน้า โดยมีการทำงานสื่อสารกันระหว่างเส้นประสาท และกล้ามเนื้อลายผิดปกติ ทำให้เกิดกล้ามเนื้ออ่อนแรง มักเกิดกับผู้ใหญ่ และพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย แต่หากอาการของโรคมัยแอสทีเนีย กราวิส เริ่มเป็นหลังอายุ 40 ปี จะพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง

          ทั้งนี้ ผู้ป่วยโรคมัยแอสทีเนีย กราวิส จะมีอาการหนังตาตก ตาพร่ามัว พูดไม่ชัด เคี้ยวและกลืนลำบาก เพราะมีการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อใบหน้า แต่หากเป็นมากก็อาจทำให้กล้ามเนื้อทั้งตัว เช่น กล้ามเนื้อแขนและขาอ่อนแรงลงได้ รวมทั้งกล้ามเนื้อที่เกี่ยวกับระบบหายใจ ทำให้หายใจลำบาก ไอไม่ได้ หรือหากรุนแรงมาก ๆ สามารถทำให้ระบบหายใจล้มเหลวได้เลยทีเดียว แต่สำหรับกล้ามเนื้อหัวใจและกล้ามเนื้อเรียบต่าง ๆ ในร่างกายจะไม่ได้รับผลกระทบไปด้วย

          โรคมัยแอสทีเนีย กราวิส จัดเป็นโรคเรื้อรัง อาการต่าง ๆ มักเป็น ๆ หาย ๆ อยู่ตลอดเวลา และอาการจะดีขึ้นเองหลังจากหยุดพักใช้งาน แต่มีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้อาการโรคนี้รุนแรงขึ้น ได้แก่ การติดเชื้อ เป็นไข้ ร้อนหรือเย็นเกินไป เครียด ออกแรงมากเกินไป มีประจำเดือน ตั้งครรภ์ โรคเกี่ยวกับไทรอยด์ และการทานยาบางชนิด

 สาเหตุของ โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือ โรคมัยแอสทีเนีย กราวิส

          1. ร่างกายผู้ป่วยสร้างแอนติบอดี้ต่อโปรตีนชนิดหนึ่ง ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวรับสารอะซิติลโคลีน โดยมักพบว่า ในตัวผู้ป่วยโรคมัยแอสทีเนีย กราวิส จะมีโปรตีนตัวรับสารอะซิติลโคลีนน้อยกว่าคนปกติถึงหนึ่งในสาม เพราะร่างกายสร้างแอนติบอดี้มากำจัดโปรตีนชนิดนี้ไปเกือบหมด

          2. สารอะซิติลโคลีน ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อการหดตัวของกล้ามเนื้อ ไม่สามารถทำงานได้ แม้ร่างกายจะหลั่งสารนี้ออกมาอย่างปกติ เนื่องจากโปรตีนตัวรับถูกทำลายโดยแอนติบอดี้ที่ร่างกายสร้างขึ้น

          3. กรรมพันธุ์ พบผู้ป่วยโรคมัยแอสทีเนีย กราวิส บางรายมีญาติพี่้น้องป่วยเป็นโรคเดียวกันนี้เช่นกัน แม้ส่วนใหญ่จะพบว่า โรคมัยแอสทีเนีย กราวิส มักเกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายก็ตาม

          4. ความผิดปกติของต่อมไธมัส ทำให้เกิดโรคมัยแอสทีเนีย กราวิส ได้เช่นกัน โดยพบว่า เกิดจากเนื้องอกถึงร้อยละ 10 และเกิดจากต่อมไธมัสโตผิดปกติมากถึงร้อยละ 70 ซึ่งจะทำให้เกิดการสร้างแอนติบอดีต่อโปรตีนตัวรับสารอะซิติลโคลีนในปริมาณสูง จึงส่งผลต่อการหดตัวของกล้ามเนื้อตามมา ดังนั้น จึงมักพบผู้ป่วยที่อายุระหว่าง 30-60 ปี ราวร้อยละ 20 มีอาการเนื้องอกที่ต่อมไธมัสด้วย

 การรักษา โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือ โรคมัยแอสทีเนีย กราวิส

          - การให้ยาต้านฤทธิ์ของเอนไซม์โคลีนเอสเทอเรส ทำให้สารอะซิติลโคลีนไม่ถูกทำลาย และการที่มีสารนี้อยู่นานขึ้น ก็สามารถจับกับตัวรับได้มากขึ้น ช่วยให้ออกฤทธิ์ได้ดีขึ้น

          - การให้ยาในกลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ ช่วยให้อาการดีขึ้นหรืออาการหายขาดได้มากถึงร้อยละ 75 ของผู้ป่วยทั้งหมด

          - การให้ยากดภูมิคุ้มกัน

          - การให้ยาอิมมูโนโกลบูลินชนิดฉีดเข้าเส้นเลือด

          - การผ่าตัดต่อมไธมัส

          - การเปลี่ยนถ่ายพลาสมา

          - การรักษาทางกายภาพบำบัด ในการป้องกันปัญหาข้อติดและช่วยฝึกการหายใจ

          โดยสรุปแล้ว โรคมัยแอสทีเนีย กราวิส เป็นโรคที่เกิดการความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ซึ่งเราคงไม่สามารถป้องกันได้อย่างร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่หากใครเป็นโรคนี้แล้ว ก็สามารถรักษาให้หายได้ ถ้าได้รับคำแนะนำ และการรักษาจากแพทย์อย่างถูกวิธี





เรื่องที่คุณอาจสนใจ
โอ๋ ภัคจีรา ผ่าตัด โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง แล้วรอพักฟื้น อัปเดตล่าสุด 16 ตุลาคม 2553 เวลา 16:32:07 7,079 อ่าน
TOP