x close

6 ปัญหาเรื่องนอนของลูกเบบี๋


6 ปัญหาเรื่องนอนของลูกเบบี๋  (Mother & Care)

           รู้หรือไม่ว่า? ขณะที่ลูกหลับ ร่างกายได้พักผ่อน สมองมีการซ่อมแซม เพื่อสร้างเครือข่ายเส้นใยประสาท ฮอร์โมนการเจริญเติบโต (FROWTH HORMONE) ก็หลั่งออกมาได้ดี เมื่อตื่นขึ้นมาสมองของลูกจึงพร้อมเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่ ฉะนั้น การให้ลูกน้อยได้นอนหลับอย่างเต็มที่จึงมีความสำคัญมาก 

           แต่เด็กแต่ละคนมีนิสัยการนอนที่แตกต่างกันไม่ว่านอนมาก นอนน้อย นอนง่าย นอนยาก หรือไม่ยอมนอน ฉบับนี้ เราจึงค้นหาคำตอบ สารพันปัญหาการนอนของลูก ที่พ่อแม่หลายๆ ท่านอาจจะกำลังปวดหัวกันอยู่

           1. นอนกรน

          ขณะที่ลูกนอนหลับ คุณอาจพบว่า เสียงหายใจของลูกดัง (ฟี่ๆ) เหมือนเสียงกรนของผู้ใหญ่ อันที่จริงแล้ว การนอนกรนไม่ใช่ปัญหาการนอนโดยตรงของเด็ก เพียงแต่ว่าเด็กเล็กๆ เวลานอนหงาย มักมีเสียงหายใจดัง ฟี่ๆ ซึ่งมีสาเหตุมาจาก

            ช่วงแรกเกิด หลอดลมที่อยู่ด้านหน้ากระดูกอ่อนที่เป็นโครงสร้างของหลอดลมยังเจริญไม่เต็มที่ ในเด็กบางคนทำให้หลอดลมหล่นลงมาขัดขวางอากาศที่ถูกหายใจเข้าสู่ทางเดินหายใจ เมื่อลูกหายใจเข้า-ออก จึงเกิดเสียงดัง

            เด็กที่มีน้ำหนักตัวมาก อาจจะมีต่อมอะดีนอยด์ ซึ่งเป็นต่อมน้ำเหลืองชนิดหนึ่งอยู่ในผนังทางเดินหายใจด้านหลังจมูก มีขนาดโตกว่าปกติ นอกจากนี้ในเด็กที่มีน้ำหนักตัวมาก อาจมีไขมันอยู่ในทางเดินหายใจด้านหลังจมูกมากกว่าเด็กที่มีน้ำหนักตัวน้อยกว่า เมื่อลูกนอนหงาย ต่อมอะดีนอยด์และไขมันอาจจะตกลงมากีดขวางทางเดินหายใจ

          สังเกตง่ายๆ ในเด็กกลุ่มนี้ หากนอนหงายเสียงกรนจะดังมากขึ้น มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่พบว่าเด็กนอนกรนจนตัวเขียว เพราะขาดออกซิเจน เนื่องจากกระดูกบริเวณหลอดลมไม่แข็งแรง ดังนั้น ตราบใดที่พัฒนาการทั่วไปเป็นปกติ ลูกไม่งอแงหรือเศร้าซึม ไม่มีอาการขาดออกซิเจน การนอนกรนถือว่าเป็นเรื่องปกติที่พบได้ เพราะหลังจาก 4-5 เดือนไปแล้ว กระดูกอ่อนบริเวณหลอดลมจะแข็งแรงขึ้นเสียงกรนก็จะหายไป ลูกน้อยจึงสามารถนอนได้ตามปกติ

           2. นอนสะดุ้ง

          เป็นปฏิกิริยาสะท้อนกลับโดยอัตโนมัติ (Reflex) ของเด็กทารกทุกคน แค่คุณแม่ ทำให้เกิดเสียงดัง หรือทำให้เกิดการสั่นสะเทือนกับบริเวณที่ลูกนอนอยู่เบาๆ ลูกน้อยจะมีปฏิกิริยาตอบกลับด้วยการขยับแขนขาในทันที 

           ดังนั้น เมื่อมีสิ่งมากระตุ้น เช่น เสียงพูดคุยหรือเปิดประตู ก็อาจทำให้ลูกสะดุ้งตกใจได้ เมื่อลูกโตขึ้นปฏิกิริยาเหล่านี้ก็จะค่อยๆ หายไป ไม่แนะนำให้ใช้ผ้าห่มปิดทับหน้าอก เพื่อกันการสะดุ้งหรือผวาให้ลูกน้อย เพราะบ้านเราเป็นเมืองร้อน อาจทำให้เหงื่อออกเกิดการอับชื้น เป็นผดผื่นที่ผิวหนังตามมาได้

           3. นอนน้อย ตื่นบ่อย

          ช่วยแรกเกิด วงจรการนอนของเด็กจะสั้นกว่าผู้ใหญ่ ทำให้เด็กเล็กๆ ตื่นบ่อย แต่เมื่อลูกโตขึ้น วงจรการนอนยาวขึ้น ทำให้ลูกหลับได้นาน 

           รวมทั้งกระเพาะของลูกก็ยังเล็กทำให้ย่อยเร็ว ตื่นมากินนมทุก 2-3 ชั่วโมง ในช่วง 3 เดือนแรก อีกทั้งเด็กแต่ละคน ก็มีรูปแบบการนอนที่แตกต่างกัน บางคนนอนทั้งวันไม่ตื่น หรือหลับๆ ตื่นๆ ทั้งวันทั้งคืนก็เป็นไปได้ แต่เมื่อลูกโตขึ้นวงจรการนอนจะนานขึ้น ทำให้เห็นได้ว่าลูกหลับลึกโดยไม่แสดงท่าทีว่ารู้สึกตัวตื่นด้วยการขยับหรือบิดตัวได้นานมากขึ้น

          สิ่งที่คุณแม่ควรทำคือ ให้ลูกเรียนรู้ปรับตัว และแยกแยะเรื่องเวลาอย่างชัดเจนตั้งแต่หลังคลอด ด้วยการสร้างบรรยากาศการนอน เช่น เวลากลางวัน ควรให้ห้องนอนหรือห้องที่ลูกอยู่มีแสงสว่างเพียงพอ ไม่ปิดทึบหรือมืด ส่วนกลางคืน แสงไฟในห้องไม่ควรสว่างจ้า จนไปรบกวนการนอนของเด็ก

           4. นอนนานไม่ยอมตื่น

          หากสาเหตุที่คุณแม่กังวลเป็นเพราะลูกนอนนานไม่ตื่นขึ้นมากินนม แบบนี้ต้องสังเกตพฤติกรรมการนอนของลูกว่า ลูกนอนสบาย เป็นปกติดี ไม่มีปัญหา ก็ไม่ต้องกังวลหรือปลุกให้ลุกขึ้นมากินนมทุกๆ 3-4 ชั่วโมง อาจยืดหยุ่นช่วงเวลาการกินกันได้ ตามความเหมาะสม

          การที่ลูกนอนนาน ไม่ใช่ประเด็นสำคัญให้ต้องกังวล แต่ให้สังเกตการณ์เจริญเติบโตเรื่องน้ำหนักตัวกับปริมาณการกินของลูก ว่าเป็นไปตามเกณฑ์ที่เหมาะสมหรือไม่ เพื่อจะได้ดูแลแก้ไขทัน

           5. ไม่ยอมนอน

          ปัญหาการไม่ยอมนอน เรื่องใหญ่ที่พ่อแม่เผชิญนั้น ต้องย้อนมาดูว่า ลูกไม่ยอมนอนเพราะอะไร ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสม

          คุณแม่ควรให้ลูกนอนกลางวันเท่าที่จำเป็น โดยเฉพาะช่วงแรกเกิด หากลูกนอนเกิน 3 ชั่วโมงควรปลุกให้ตื่น ถ้าลูกไม่หิวไม่เป็นไร อาจหากิจกรรมเรื่องเล่นให้ลูก เพื่อให้ลูกนอนกลางวันน้อยลง สามารถหลับในตอนกลางคืนได้มากขึ้นส่วนเวลากลางคืนควรสร้างบรรยากาศก่อนนอน หรือเปิดไฟน้อยดวงเท่าที่จำเป็นหากต้องลุกขึ้นมาดูแลลูกในตอนกลางคืน

           6. ร้องกวน ตอนนอน

          ควรดูแลแก้ไขตามสาเหตุนั้นๆ เช่น ลูกเจ็บป่วย ชื้นแฉะ ไม่สบายตัว ทำให้ลูกต้องงอแงร้องไห้ ตื่นขึ้น แต่หากการร้องของลูก เป็นเพียงช่วงเวลาสั้นๆ ในตอนกลางคืน ก็ไม่จำเป็นต้องเข้าไปโอบอุ้ม เปิดไฟให้สว่าง หรือให้นมมื้อดึกเพราะเป็นการสร้างเงื่อนไขให้กับเด็ก (ร้องไห้ให้อุ้ม ร้องให้โอ๋ทุกครั้ง) แต่ควรให้ลูกได้หลับด้วยตัวเอง หรือปลอบโยนด้วยการแตะเบาๆ เพื่อให้ลูกรู้ว่าคุณอยู่ใกล้ๆ




ขอขอบคุณข้อมูลจาก
 









 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
6 ปัญหาเรื่องนอนของลูกเบบี๋ อัปเดตล่าสุด 23 กรกฎาคม 2552 เวลา 18:07:44 2,057 อ่าน
TOP