8 คำถาม เรื่องการรักษาคีลอยด์ (นิตยสาร APPEAL)
คีลอยด์ (Keloid) จัดได้ว่าเป็นเนื้องอกชนิดหนึ่งที่เกิดจากแผลเป็นที่สร้างความรำคาญใจให้กับผู้ที่เป็นหลายๆ คน บางคนมีขนาดเล็กเพียงแค่ไม่กี่เซนติเมตร แต่บางคนมีขนาดใหญ่เท่าฝ่ามือซึ่งถือว่าใหญ่มาก แต่ก็ยังไม่กล้าที่จะรักษาอย่างจริงจัง เพราะยังคงมีคำถามที่คาใจอยู่หลายข้อ ฉบับนี้แอพพีลขอมาไขข้อข้องใจกับเรื่องของการรักษาแผลเป็นคีลอยด์ให้ได้กระจ่างและรู้จริงมาฝากกัน
Q1: การรักษาแผลเป็นคีลอยด์ต้องรักษากี่ขั้นตอน
สำหรับการรักษาแผลเป็นคีลอยด์นั้น ในปัจจุบันมีวิธีการรักษาด้วยเทคนิคใหม่ที่เรียกว่า Scarless Technique ที่เป็นการผสมผสานกันระหว่างการใช้การผ่าตัด แสงเลเซอร์ และตัวยา เพื่อให้การรักษามีประสิทธิภาพสูงสุด ได้ผลดีกว่าวิธีการรักษาแบบดั้งเดิมที่เคยทำมา และลูกค้าได้รับพึงพอใจมากที่สุด
Q2: อะไรคือข้อจำกัดของการรักษาแผลเป็นที่เรียกว่าคีลอยด์ (Keloid)
แผลเป็นคีลอยด์ จะมีลักษณะคล้ายเนื้องอก มีขนาดใหญ่ขึ้นและจะลุกลามผิวปกติของเราไปเรื่อย ๆ อาจจะไม่อันตรายเหมือนเนื้องอกที่เป็นเนื้อร้ายหรือมะเร็ง แต่ก็สร้างความรำคาญใจให้กับผู้ที่เป็น ข้อจำกัดของการรักษา
แผลเป็นคีลอยด์อยู่ที่การเอาเซลล์ที่ผิดปกติออกไม่หมดก็จะกลับมาเป็นอีกเกือบ 100% โดยที่ก้อนคีลอยด์ใหม่จะโตเร็วและมีขนาดใหญ่กว่าเดิม นอกจากนี้คนไข้อาจจะต้องมีเวลาในการมารักษาพอสมควรเพื่อการรักษาที่ต่อเนื่อง และป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำอีกนั่นเอง
Q3: ปัจจัยที่ทำให้เกิดแผลเป็นคีลอยด์ (Keloid)
แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถเกิดแผลเป็นคีลอยด์ได้ ซึ่งปัจจัยหลัก ๆ ที่ทำให้เกิดขึ้นได้นั้น อันดับแรกจะเป็นเรื่องของกรรมพันธุ์ ปัจจัยที่สองเป็นเรื่องของตำแหน่งบนร่างกาย ที่พบบ่อยมีอยู่ 4 จุด คือ บริเวณหู เกิดจากการเจาะหู, บริเวณไหล่ เกิดจากการฉีดยา, บริเวณหน้าอกหรือหลัง เกิดจากการเป็นสิว และบริเวณหน้า อย่างเช่นตรงขากรรไกร เกิดจากการเป็นสิวหรือรอยแผลอื่น ๆ ปัจจัยที่สามเป็นเรื่องของการอักเสบหรือติดเชื้อ เช่น แผลบริเวณนั้นมีการอักเสบหรือติดเชื้อมากน้อยแค่ไหน ถ้าอักเสบเยอะหรือติดเชื้อและแผลหายช้าก็จะมีโอกาสเป็นเนื้องอกคีลอยด์ได้มากกว่า นอกจากนี้ขนาดและความลึกของแผลก็จะมีผลต่อการเกิดเนื้องอก คีลอยด์อีกด้วย
Q4: ในกรณีที่คนไข้ไม่มารักษาคีลอยด์ (Keloid) จะเป็นอันตรายได้หรือไม่
สำหรับคนไข้ที่ไม่ได้ตัดสินใจมารักษาคีลอยด์ แผลเป็นชนิดนี้อาจไม่ได้ก่อให้เกิดอันตรายใด ๆ กับร่างกายในแบบที่รุนแรง แต่จะทำให้ตัวคนไข้เองมีอาการปวดคันบริเวณแผล และก้อนคีลอยด์จะลุกลามขยายวงกว้างออกไป โตจนถึงจุดหนึ่งแล้วจึงจะหยุดขยายขนาดซึ่งในกรณีคนที่มีคีลอยด์ขนาดใหญ่มากอาจจะรู้สึกรั้งเวลาขยับเขยื่อนร่างกาย เช่นบริเวณ ใบหู คอ แขน หรือขา เป็นต้น นอกจากนี้ถ้าแผลคีลอยด์เกิดบริเวณนอกร่มผ้า เช่น ใบหน้า ต้นแขน ก็จะมีผลต่อความไม่มั่นใจ ความสวยงาม ซึ่งส่งผลต่อการปฏิบัติงานในบางสาขาอาชีพ
Q5: จุดไหนที่เป็นคีลอยด์ (Keloid) แล้วจะรักษายากที่สุด
ส่วนที่รักษาง่ายที่สุดคือบริเวณใบหู เพราะแผลจะเล็ก เป็นเพียงแผลที่เกิดขึ้นเพราะการเจาะหูเท่านั้น มีขนาดแค่ 1-2 เซนติเมตร แต่การรักษาคีลอยด์ที่ยากที่สุดคือ คีลอยด์ที่มีลักษณะใหญ่มาก อย่างเช่น แผลเป็นบริเวณหน้าอกที่มีขนาดเท่าฝ่ามือ
Q6: ระยะเวลาในการรักษาคีลอยด์ (Keloid)
ระยะเวลาในการรักษาแผลเป็นคีลอยด์นั้น ขึ้นอยู่กับขนาดของแผลเป็นเป็นหลัก หากใหญ่มากและนูนมากก็จะใช้เวลานาน โดยทั่วไปใช้เวลาเฉลี่ย 1-6 เดือน เพราะหลังจากการผ่าตัดและเลเซอร์แล้ว จำเป็นต้องใช้ยาร่วมด้วยไปอีกสักระยะ และนอกจากนี้จะต้องติดตามผลการรักษาต่อไปอีกอย่างน้อย 6 เดือนขึ้นไป
Q7: ราคาในการรักษา
โดยทั่วไปราคาจะขึ้นอยู่กับลักษณะและขนาดของแผล หากไม่ใหญ่มากนักแค่ประมาณ 1-5 เซนติเมตร จะราคาอยู่ที่ 10,000-20,000 บาท หลังจากนั้นก็จะเป็นค่าใช้จ่ายในการติดตามผล ทายา รับประทานยาต่อไป
Q8: มีโอกาสกลับมาเป็นอีกหรือไม่
การรักษาแผลเป็นคีลอยด์นั้นสามารถรักษาให้หายได้ แต่ในทางการแพทย์เราจะไม่ใช้คำว่า หายขาด เพราะยังไม่มีผลที่ยืนยัน 100% ว่าแผลเป็นคีลอยด์นั้นจะไม่กลับมาอีก แต่การรักษาด้วยวิธีนี้สามารถช่วยกำจัดและชะลอการเกิดขึ้นใหม่ของแผลเป็นได้ หากมีการติดตามผลอย่างต่อเนื่อง แม้ในบางรายอาจมีการเกิดขึ้นมาใหม่แต่จะไม่มีขนาดใหญ่เท่าก่อนรักษาแน่นอน
ขอขอบคุณข้อมูลจาก