เรื่องหูด...ของเบบี๋

โรคหูด

เรื่องของ หูด
(momypedia)
โดย: อาราดา

            หากลูกของคุณเกิดมีตุ่มไตขึ้นบริเวณผิวหนัง นั่นอาจเป็นอาการของโรคผิวหนังที่เรียกว่า "หูด" ก็เป็นได้ค่ะ อ๊ะๆ อย่าคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัวลูกเกินไปล่ะคะ เพราะหูดบางชนิดฮิตเป็นในเด็กวัยคิดส์เสียด้วย

            มาดูวิธีป้องกันและรักษาจากผู้เชี่ยวชาญด้านโรค ผิวหนัง รศ.นพ. มนตรี อุดมเพทายกุล รองผู้อำนวยการศูนย์ผิวหนัง มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เพื่อจะได้ระแวดระวังไม่ให้หูดมาป่วนตามผิวหนังของลูกกันค่ะ

โรคหูดคืออะไรนะ

            โรคหูดถือเป็นโรคติดเชื้อที่เกิดขึ้นบริเวณผิว หนัง ไม่ก่อให้เกิดอาการเจ็บปวดแต่อย่างใดค่ะ เพียงแต่ทำให้เกิดความรำคาญ และรบกวนจิตใจผู้ที่เป็นเล็กน้อยเท่านั้น ส่วนใหญ่แล้วหูดแต่ละชนิดก็จะขึ้นต่างบริเวณไปค่ะ บางชนิดขึ้นที่นิ้วมือ ฝ่ามือ บางชนิดขึ้นบริเวณใบหน้าและลำคอค่ะ

หูดแบบไหนชอบขึ้นผิวใส ๆ วัยคิดส์

            หูดธรรมดา (Common Warts) ส่วนใหญ่พบบริเวณนิ้วมือและฝ่ามือฝ่าเท้า ลักษณะเป็นตุ่มนูนบริเวณผิวหนังคล้ายกับดอกกะหล่ำ ขนาดประมาณ 2-5 มิลลิเมตร แต่ถ้าเป็นที่ฝ่าเท้าผื่นก็จะแบนเป็นไตแข็ง เวลาเดินจะรู้สึกเจ็บค่ะ เกิดจากการติดเชื้อไวรัสฮิวแมนแปปปิวโรมาไวรัส หรือ HPV (Human Papilloma Virus) ค่ะ

            เมื่อเจ้าหนูไป สัมผัสกับสิ่งของเครื่องใช้ที่ผู้เป็นหูดไปสัมผัสโดน อาทิ ผ้าเช็ดตัวหรือพื้นผิวต่างๆ ก็มีโอกาสติดเชื้อไวรัสได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เจ้าหนูคนไหนที่มีนิสัยชอบแทะเล็บมือต้องรีบแก้ไขโดยด่วน ค่ะ เพราะจะยิ่งเสี่ยงติดเชื้อหูดได้มากกว่าเดิม เนื่องจากผิวหนังบริเวณที่แทะ อาจมีแผลเปิดรอให้เจ้าไวรัสเข้าไปก่อหูดก็เป็นได้

อาการอย่างนี้รีบพบแพทย์ด่วน!

            เมื่อเป็นก้อนเนื้อลักษณะคล้ายหูดดังกล่าว เกิดขึ้นบริเวณใดก็ได้บนร่างกาย ของเด็กเล็ก (แรกเกิด-3 ปี)

            เมื่อพบว่าลูก (วัยใดก็ตาม) มีหูดขึ้นบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์และทวารหนัก

            หูดข้าวสุก (Molluscum contagiosum) เป็นหูดที่เกิดขึ้นบ่อยในเด็กวัย 3-9 ปี เกิดจากการติดเชื้อไวรัส Poxvirus โดยการสัมผัสผู้ติดเชื้อ หรือตามผิวสัมผัสที่ผู้ติดเชื้อสัมผัสโดนค่ะมี ลักษณะเป็นตุ่มกลม พื้นผิวหูดเงาๆ มีสีขาวและสีเนื้อ บางตุ่มอาจจะมีรอยบุ๋มตรงกลาง คล้ายสะดือโบ๋ โดยเริ่มขึ้นเพียง 1-2 ตุ่ม แล้วค่อยๆ ลามไปทั่ว เมื่อติดเชื้อเจ้าหนูอาจเกิดหูดชนิดนี้ขึ้นบริเวณลำตัว ลำคอและใบหน้า เป็นเม็ดเล็กๆ คล้ายผด หรืออาจเป็นเม็ดใหญ่ก็ได้ค่ะ

            สรุปได้ว่า โรคหูดที่พบบ่อยในวัยคิดส์มีอยู่ 2 ชนิด และยังมีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัส ซึ่งแพร่กระจายผ่านการสัมผัสไม่ว่าจะสัมผัสบุคคลที่เป็นโรค หรือสัมผัสสิ่งของที่ผู้เป็นโรคไปหยิบจับค่ะ ดังนั้น วิธีป้องกันก็คือต้องสอนให้เจ้าหนูมีสุขอนามัยที่ดี โดยหมั่นล้างมือให้สะอาด และไม่ใช้ของร่วมกับผู้อื่น

            ที่สำคัญคือ เชื้อไวรัสเหล่านี้เติบโตได้ดีในพื้นที่เปียกชื้น ไม่ว่าจะเป็นตามห้องน้ำหรือสระว่ายน้ำ ฉะนั้นเมื่อใดที่ต้องใช้บริการสระว่ายน้ำสาธารณะ ก็ควรให้เจ้าหนูใส่รองเท้าแตะ เมื่อต้องเดินรอบสระ แต่ต้องระวังอย่าให้ลื่นหกล้มด้วยนะคะ นอกจากนี้ ถ้าคุณสังเกตเห็นว่า สระว่ายน้ำดูไม่สะอาดเอาเสียเลยก็เลี่ยงไปใช้บริการที่ อื่นเพื่อช่วยป้องกันลูกจากเชื้อหูดอีกแรงค่ะ และอาจจะมีเชื้อโรคอื่น ๆ อีก เช่น เชื้อหวัด เป็นของแถมนะคะ

For Kids… ป้องกันหูดอย่างไรดี

            ไม่แกะหรือเกา เพราะอาจทำให้เกิดบาดแผลตามร่างกาย และติดเชื้อไวรัสหูดได้

            รักษาความสะอาดบริเวณที่เป็นหูด ล้างมือบ่อย ๆ และเช็ดให้แห้งด้วยผ้าขนหนูประจำตัวเท่านั้น

            ตัดเล็บให้สั้นและไม่กัดเล็บ

            ใส่รองเท้าแตะบริเวณสระว่ายน้ำสาธารณะ

            บอกคุณพ่อคุณแม่เมื่อมีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นบริเวณร่างกาย เพื่อคุณพ่อคุณแม่จะได้ช่วยหาวิธีรักษา หรือพาไปพบคุณหมอเพื่อตรวจดูอาการ

รักษาอย่างไรให้ได้ผล

            ความจริงแล้วโรคหูดข้าวสุกเป็นโรคที่หายได้เองภายใน 3-5 ปีค่ะ แต่เชื่อว่าการรักษานั้นนอกจากช่วยให้ลูกหายจากหูดข้าวสุกแล้ว ยังช่วยให้คุณพ่อคุณแม่อุ่นใจไม่รู้สึกกังวลอีกต่อไปด้วย ซึ่งวิธีในการรักษาโรคหูดสำหรับลูกนั้นมีอยู่ด้วยกันหลายวิธีค่ะ

            1. สำหรับหูดข้าวสุก หมอจะป้ายยาชาแล้วลูกจะได้ไม่รู้สึกเจ็บเมื่อใช้เข็มสะกิด จากนั้นใช้ปากคีบคีบหูดออก ทาแอลกอฮอล์เพื่อฆ่าเชื้อเป็นอันเสร็จ

            2. สำหรับหูดอื่นๆ รวมทั้งหูดข้าวสุก หมออาจจะรักษาด้วยวิธีต่อไปนี้

            2.1 จี้หูดด้วยเลเซอร์

            2.2 ฆ่าเชื้อไวรัสด้วยความเย็น วิธีทำคือ คุณหมอจะใช้ไนโตรเจนเหลวจิ้มบริเวณที่เป็นหูดเพื่อทำให้เซลล์ตาย ค่ะ

            2.3 กรณีที่เจ้าหนูมีปัญหาคือกลัวเจ็บ ใช้กรดซาลิไซลิกแอสิด แต้มบริเวณหูดทุกวันจนกว่าหูดจะหลุด หรือมียาทารักษาที่ชื่อว่า Imiquimod ซึ่งเมื่อทาแล้ว จะไปทำปฏิกิริยาที่ทำให้เชื้อหยุดการเจริญเติบโตและตายในที่ สุด แต่ข้อเสียคือยาทาชนิดหลังนี้มีราคาสูงค่ะ

For School ป้องกันโรคหูดอย่างไรให้ไกลคิดส์

            สอนเรื่องการรักษาสุขอนามัยขณะที่อยู่ในโรงเรียน ไม่ใช้อุปกรณ์ร่วมกับผู้อื่น เช่น ถ้วยน้ำ, ผ้าเช็ดหน้า ล้างมือด้วยสบู่ อย่างถูกหลักให้สะอาด ก่อนทานอาหาร และหลังการเล่นเครื่องเล่นต่าง ๆ

            นอกจากนี้ ทางโรงเรียนควรเช็ดอุปกรณ์ของเล่น สื่อการสอนต่าง ๆ ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ เช่น 70 % Alcohol อย่างสม่ำเสมอค่ะ

            จะเห็นว่าวิธีในการรักษาโรคหูดนั้นมีอยู่ด้วยกันหลายวิธีเชียวค่ะ แต่ที่นิยมได้แก่การทายาชาแล้วใช้คีมคีบ และวิธีจี้หูดด้วยเลเซอร์ แต่ถ้าเจ้าหนูกลัวเจ็บ คุณพ่อคุณแม่เห็นทีต้องยอมใช้วิธีรักษาด้วยยาทาแล้วล่ะค่ะ

            หูดใครเป็นก็คงกังวลใจไม่น้อย ยิ่งลูกเป็นคุณพ่อคุณแม่ยิ่งกังวลเข้าไปใหญ่ แต่ถ้ารู้จักป้องกัน ปลูกฝังเจ้าหนูให้มีสุขอนามัยที่ดี แถมยังเข้าใจวิธีรักษาที่ง่ายแสนง่ายด้วยแล้ว คงช่วยให้คุณเบาใจได้ไม่น้อยนะคะ



ขอขอบคุณข้อมูลจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เรื่องหูด...ของเบบี๋ อัปเดตล่าสุด 15 กันยายน 2558 เวลา 11:26:16 24,891 อ่าน
TOP
x close