x close

"โรคไอพีดี" ภัยใกล้ตัวเด็ก พ่อแม่ป้องกันได้ !


         
          ทุกวันนี้โรคภัยไข้เจ็บในเด็กมีสารพัดโรคมากมาย ซึ่งมีทั้งรุนแรงและไม่รุนแรงแตกต่างกันไป แต่ถึงอย่างไรก็ตาม คงไม่มีคุณพ่อคุณแม่คนไหนอยากให้ลูกเจ็บป่วยหรอกจริงไหมคะ ? ดังนั้นจึงสำคัญมาก ๆ ที่พ่อแม่จะต้องรู้จักและป้องกันโรคภัยใกล้ตัวลูก โดยเฉพาะ "โรคไอพีดี" (IPD) นับเป็นโรคติดเชื้อที่รุนแรง หากเกิดขึ้นในเด็กอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้เลยทีเดียว  (โดยอุบัติการณ์ของการเกิดโรคไอพีดี (IPD) ในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปีเป็น 11.7 ต่อแสนประชากร1)

          สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่ยังคงสงสัยกันอยู่ว่า "โรคไอพีดี" แท้จริงแล้วมันคืออะไร อันตรายกับลูกน้อยของเราอย่างไร วันนี้กระปุกดอทคอมได้นำข้อมูลดี ๆ จากคุณหมอมาฝากกันแล้วค่ะ เพียงแค่ศึกษาทำความเข้าใจและป้องกันเอาไว้เสียตั้งแต่เนิ่น ๆ รับรองว่าลูกน้อยของคุณก็จะสามารถห่างไกลจะโรคไอพีดีนี้ได้เช่นกันค่ะ

          รู้จักโรคไอพีดี

          ไอพีดี (IPD, invasive pneumococcal disease) เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัสชนิดรุนแรงและแพร่กระจาย ประกอบด้วยโรคสำคัญสองโรค ได้แก่ โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ และโรคติดเชื้อในกระแสเลือด บางครั้งอาจรวมถึงโรคปอดบวมที่มีการติดเชื้อในกระแสเลือดร่วมด้วย นอกจากนี้เชื้อนิวโมคอคคัสยังเป็นสาเหตุสำคัญของโรคหูชั้นกลางอักเสบและโรคไซนัสอักเสบอีกด้วย2

          ความสำคัญของไอพีดี

          โรคไอพีดีมีโอกาสที่จะเกิดโรครุนแรงในผู้ป่วยเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัวบางอย่าง ซึ่งอาจถึงขั้นทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตหรือมีความพิการทางสมองได้2 ในปัจจุบันเชื้อนิวโมคอคคัสมีการดื้อต่อยาต้านจุลชีพหรือยาปฏิชีวนะที่ในอดีตเคยใช้ได้ผลดีอย่างยาเพนนิซิลิน ทำให้การรักษาโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสและไอพีดีมีความยากลำบากเพิ่มขึ้น2

          อาการของผู้ป่วยไอพีดี

          อาการของผู้ป่วยไอพีดีแตกต่างกันตามประเภทของอวัยวะที่ติดเชื้อและอายุของผู้ป่วย

          - โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ผู้ป่วยเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อนิวโมคอคคัสมีอาการไข้ ปวดศีรษะ ซึมลง และอาจมีอาการชักได้โดยเฉพาะในเด็กเล็ก  

          - โรคติดเชื้อในกระแสเลือด ผู้ป่วยติดเชื้อในกระแสเลือดจากเชื้อนิวโมคอคคัสมีอาการไข้สูง ซึมลง ความดันโลหิตต่ำ ผู้ป่วยเด็กอาจมีอาการชักจากไข้สูงได้ 

          - โรคปอดบวม ผู้ป่วยปอดบวมจากเชื้อนิวโมคอคคัสมีอาการไข้สูง ไอ และเหนื่อยหอบ อาการของผู้ป่วยมักเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วมากกว่าผู้ป่วยปอดบวมจากเชื้อไวรัส นอกจากนี้โรคปอดบวมจากเชื้อนิวโมคอคคัสอาจเกิดตามหลังการติดเชื้อไวรัส โดยเฉพาะไวรัสไข้หวัดใหญ่

          การวินิจฉัยไอพีดี

          การวินิจฉัยไอพีดีอาศัยอาการของผู้ป่วยและผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ การตรวจนับเม็ดเลือดอาจพบจำนวนเม็ดเลือดขาวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่ติดเชื้อในกระแสเลือด การเพาะเชื้อในน้ำไขสันหลัง เลือด หรือเสมหะ จะช่วยยืนยันว่าโรคเหล่านี้มีสาเหตุจากเชื้อนิวโมคอคคัสจริง2

          การรักษาผู้ป่วยไอพีดี

          หลักการรักษาผู้ป่วยไอพีดีที่สำคัญคือ การให้ยาต้านจุลชีพที่เหมาะสม การเลือกใช้ยาขึ้นกับโรคที่เป็นและโอกาสในการพบเชื้อที่ดื้อยา

          ในอดีตแพทย์มักเลือกใช้ยาต้านจุลชีพในกลุ่มเพนนิซิลินในการรักษาผู้ป่วยไอพีดี แต่ปัญหาเชื้อนิวโมคอคคัสดื้อยาทำให้การเลือกใช้ยาต้านจุลชีพต้องเปลี่ยนแปลงไปจากอดีต การเลือกใช้ยาต้านจุลชีพก่อนยืนยันว่าเป็นการติดเชื้อนิวโมคอคคัสควรครอบคลุมเชื้อที่เป็นสาเหตุของโรคติดเชื้อแต่ละโรคซึ่งอาจเกิดจากเชื้ออื่น ๆ นอกเหนือไปจากเชื้อนิวโมคอคคัส

          เมื่อมีการยืนยันทางห้องปฏิบัติการว่ามีการติดเชื้อนิวโมคอคคัสอาจเปลี่ยนไปใช้ยาต้านจุลชีพที่เหมาะสมตามความไวของยาต่อเชื้อที่ตรวจพบ

          การป้องกันไอพีดี

          การป้องกันไอพีดีในเด็กทำได้โดยการหลีกเลี่ยงการนำเด็กเข้าไปในที่ชุมชนหรือสถานที่แออัดโดยไม่จำเป็น การสวมหน้ากากอนามัย การปิดปากและจมูกเวลาไอจาม และล้างมือบ่อย ๆ ในผู้ป่วยที่มีอาการไข้หรือมีอาการหวัด อาจช่วยลดการแพร่กระจายของเชื้อนิวโมคอคคัส เช่นเดียวกับการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสระบบทางเดินหายใจ และเสริมสร้างภูมิคุ้มกันอย่างเหมาะสมโดยสามารถปรึกษาแพทย์เพิ่มเติมได้2

          จากข้อมูลนี้เชื่อว่าคงจะทำให้คุณพ่อคุณแม่ตระหนักถึงความสำคัญของโรคไอพีดีกันมากขึ้น แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ต้องเครียดหรือกังวลมากจนเกินไป เพียงแค่ป้องกันตามคำแนะนำของคุณหมอ หรือรู้จักสังเกตอาการของลูกน้อยเวลาเจ็บป่วย เพียงเท่านี้ก็จะช่วยให้ลูกน้อยของคุณไม่เป็นอันตรายและสามารถรักษาได้อย่างทันท่วงทีแล้วค่ะ

เอกสารอ้างอิง
1.    Rhodes J, Dejsirilert S, Maloney SA, Jorakate P, Kaewpan A, Salika P, et al. Pneumococcal Bacteremia Requiring Hospitalization in Rural Thailand: An update on incidence, Clinical Characteristics, Serotype Distribution, and Atimicrobial Susceptibility, 2005-2010. PLoS One. 2013;8:e66038.
2.    ชิษณุ พันธุ์เจริญ, ธันยวีร์ ภูธนกิจ, จรุงจิตร์ งามไพบูลย์. ทักษะการสื่อสารกับผู้ป่วยโรคติดเชื้อ ความสำคัญของโรค การรักษา และการป้องกัน. กรุงเทพฯ: ธนาเพลส, 2553.



บทความโดย
รศ.นพ.ชิษณุ พันธุ์เจริญ
ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
และติดตามข้อมูลดีๆจากคลินิกจุฬาคิดส์คลับ ได้ที่ Fanpage : คลินิกจุฬาคิดส์คลับ




                                                                            PP-PNP-THA-0046

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
"โรคไอพีดี" ภัยใกล้ตัวเด็ก พ่อแม่ป้องกันได้ ! อัปเดตล่าสุด 23 พฤษภาคม 2559 เวลา 10:52:48 5,101 อ่าน
TOP