x close

ลูกน้อยกับ ปัญหาฟันน้ำนมผุ

ปัญหาฟันน้ำนมผุ

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

          คุณพ่อคุณแม่มือใหม่ทั้งหลายอาจจะแปลกใจว่า ทำไมลูกของเราอายุยังไม่เท่าไหร่เอง แต่ฟันน้ำนมกลับผุง่ายเสียเหลือเกิน แล้วยังมีข้อมูลระบุว่า ปัจจุบันเด็กที่เป็นโรคฟันผุมีจำนวนพุ่งสูงมากขึ้นด้วย บางคนอายุยังไม่ถึง 5 ขวบ แต่ฟันผุเกือบหมดปากแล้ว

          เพราะอะไรเด็กถึงฟันผุได้ง่าย วันนี้กระปุกดอทคอม มีคำตอบมาฝากคุณพ่อคุณแม่ค่ะ

ฟันน้ำนมผุ ได้ตั้งแต่อายุเท่าไหร่

          ปัญหาฟันน้ำนมผุ หรือ ฟันผุในวัยเด็กนั้น สามารถเกิดได้ตั้งแต่เด็กอายุยังไม่ถึง 1 ปีเลยค่ะ คือช่วงประมาณ 9 เดือนเด็กก็ฟันผุได้แล้ว (ฟันน้ำนมซี่แรกของเด็กจะขึ้นประมาณอายุ 6 เดือน) เนื่องจากชั้นเคลือบฟันน้ำนมหนาประมาณครึ่งหนึ่งของฟันแท้เท่านั้น ทำให้ฟันน้ำนมผุได้ง่ายกว่ามาก และยังมีแคลเซียม ฟอสฟอรัสเป็นองค์ประกอบน้อยกว่าอีก

          โดยฟันน้ำนมซี่หน้าบนจะผุได้ง่ายกว่าฟันหน้าล่าง เนื่องมาจากการดูดขวดนม แล้วที่บริเวณฟันบนจะมีน้ำลายไหลผ่านน้อยกว่าฟันล่าง ทำให้น้ำลายไม่ได้ช่วยชะล้างคราบน้ำนม น้ำตาลที่ติดอยู่บนฟันออกไปได้ จึงเกิดการสะสมของน้ำตาลที่ฟัน รวมทั้งอีกจุดที่ผุง่ายก็คือ ฟันกรามด้านบดเคี้ยว เพราะเป็นซี่ใน ทำความสะอาดได้ยากนั่นเอง

ปัญหาฟันน้ำนมผุ เกิดจากอะไร

          หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ ฟันน้ำนมผุ มาจากการเลี้ยงดูของครอบครัวค่ะ โดยเฉพาะคนปัจจุบันมักฝึกให้ลูกดื่มนมจากขวดนม แล้วปล่อยให้เด็กนอนหลับไปพร้อมกับที่ยังกัดขวดนมอยู่ นั่นจึงทำให้น้ำตาลที่อยู่น้ำนม หรือนมผงสามารถเข้าไปทำลายเคลือบฟันของเด็กได้

          นอกจากเรื่องขวดนมแล้ว ปัญหาฟันน้ำนมผุ ยังอาจเกิดได้จากโครงสร้างของฟันเด็กที่ไม่สมบูรณ์ อาจเป็นเพราะคลอดก่อนกำหนด มีน้ำหนักตัวแรกเกิดน้อย แม่ติดเชื้อขณะตั้งครรภ์ รวมทั้งสาเหตุสำคัญที่ทำให้เด็กยุคนี้ฟันผุง่ายก็คือ การรับประทานขนมตามใจชอบ แล้วไม่ยอมแปรงฟันนั่นเอง อีกทั้งผู้ปกครองหลายคนมักมีความเชื่อผิด ๆ ว่า เดี๋ยวฟันน้ำนมก็ต้องหลุดไป มีฟันแท้มาแทนที่ จึงไม่ได้ใส่ใจการแปรงฟันของลูกมากนัก และลูกก็ยังไม่สามารถทำความสะอาดฟันอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยตัวเองได้ จึงทำให้ฟันผุได้ง่ายนั่นเอง

ผลกระทบเมื่อลูกน้อยฟันผุ

          แน่นอนว่า หากลูกฟันผุมาก ๆ ย่อมมีอาการปวดฟันตามมา โดยเฉพาะฟันกรามที่หากผุในระยะเริ่มแรกแล้ว จะสามารถลุกลามเป็นฟันผุได้ในเวลาเพียง 6-12 เดือน และยังสามารถทำให้ฟันซี่ที่อยู่ข้างเคียงผุตามไปได้ด้วย

          เมื่อฟันกรามของลูกผุ เวลาลูกบดเคี้ยวอาหารก็จะเกิดความเจ็บปวด ไม่สามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติ ทำให้น้ำหนักตัวลดลง บางคนอาจถึงขั้นขาดสารอาหารส่งผลต่อระดับการเจริญเติบโต การพัฒนาการของกล้ามเนื้อบริเวณใบหน้า และช่องปาก รวมทั้งกระดูกขากรรไกรได้ด้วย

          นอกจากนี้ยังพบว่า เด็ก ๆ ที่มีฟันน้ำนมผุจะมีเชื้อโรคในช่องปากมาก เสี่ยงที่จะทำให้ฟันแท้ที่จะขึ้นมาผุ หรือเป็นฟันซ้อน ฟันเกได้อีกด้วย และหากฟันน้ำนมผุมากเข้า ยังอาจลุกลามไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เกิดการติดเชื้อที่ใบหน้า ลำคอ หรือทำให้ต่อมน้ำเหลืองโตได้อีก ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะความต้านทานเชื้อโรคในตัวเด็ก มีน้อยกว่าผู้ใหญ่มากนั่นเอง

          และนอกจากปัญหาด้านสุขภาพแล้ว ที่จะลืมไม่ได้เลยก็คือ ปัญหาด้านจิตใจและอารมณ์ เพราะเด็กที่มีฟันผุบางคนต้องถอนฟัน หรืออาจมีฟันหน้าสีดำคล้ำ ทำให้เด็กขาดความมั่นใจในตนเอง เด็กจะไม่กล้าพูด กล้าคุย เพราะกลัวเพื่อนล้อเลียนอีกต่างหาก

การรักษา ฟันน้ำนมผุ

          หากลูกมีฟันผุ คุณหมอจะทำการอุดฟันให้ค่ะ แต่หากฟันผุทะลุเข้าไปถึงโพรงประสาทฟัน คุณหมอจะต้องรักษาด้วยการรักษารากฟัน หรือถอนฟันแทน แต่สำหรับกรณีที่ฟันผุยังไม่ได้ทำลายรากฟัน และกระดูกเบ้าฟันไปมาก คุณหมอจะแนะนำให้เก็บรักษาฟันน้ำนมไว้ใช้งาน รอจนฟันแท้จะขึ้นมาแทนที่

          การอุดฟันที่ผุลึกมาก การถอนฟัน หรือการรักษารากฟัน คุณหมอจะฉีดยาชา หรือป้ายยาชาให้ เพื่อไม่ให้เด็ก ๆ รู้สึกเจ็บปวดจนทนไม่ไหว

วิธีป้องกันไม่ให้ฟันน้ำนมผุ

          เมื่อปัญหาฟันน้ำนมผุ เป็นปัญหาใหญ่ และส่งผลต่อการเจริญเติบโตของเด็กอย่างคาดไม่ถึง ดังนั้น หากคุณพ่อคุณแม่ไม่อยากให้ฟันน้ำนมของลูกผุ ต้องหมั่นใส่ใจเรื่องความสะอาดของช่องปากของลูก และปฏิบัติตามข้อแนะนำต่อไปนี้ค่ะ

 
          ฝึกให้เด็กทารกเข้านอนโดยไม่มีนิสัยติดขวดนม

          ป้องกันไม่ให้เด็กถือขวดเดินเล่น หรือปล่อยให้เด็กนอนกัดขวดนม หรือเผลอหลับขณะดื่มนมอยู่

          สอนให้เด็กใช้แก้วน้ำแทนขวดนม ตั้งแต่อายุ 6-12 เดือน และควรเลิกใช้ขวดนม เมื่ออายุ 1 ปีไปแล้ว

          ฝึกนิสัยไม่ให้ลูกทานขนมจุบจิบ อาหารรสหวาน เพราะเป็นสาเหตุของฟันผุ ควรให้ทานอาหารที่มีประโยชน์ และทานให้เป็นเวลา

          ล้างปากให้ลูกหลังดื่มนม กินขนม หรือหลังรับประทานอาหารทุกครั้ง

          แปรงฟันให้ลูกด้วยยาสีฟันที่ผสมฟลูออไรด์ วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น

          สอนวิธีทำความสะอาดช่องปาก และการแปรงฟันอย่างถูกวิธีให้ลูก

          พาลูกไปพบทันตแพทย์ เพื่อตรวจฟันเป็นประจำทุก 6 เดือน เพื่อจะได้รับความรู้ และแนวทางปฏิบัติในการดูแลสุขภาพในช่องปากอย่างถูกต้อง

          หากคุณพ่อคุณแม่ฝึกฝนลูก ๆ จนเกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง ทีนี้เมื่อลูก ๆ โตขึ้นจะเกิดความเคยชิน ก็จะสามารถดูแลสุขภาพฟันด้วยตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ แล้วทีนี้ ปัญหาฟันน้ำนมผุ ก็จะไม่ใช่ปัญหาที่คุณพ่อคุณแม่ต้องมานั่งกังวลอีกแล้วล่ะค่ะ






 
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ลูกน้อยกับ ปัญหาฟันน้ำนมผุ อัปเดตล่าสุด 24 กันยายน 2553 เวลา 17:00:50 5,751 อ่าน
TOP