ภูมิแพ้ ของแม่ตั้งครรภ์ ป้องกันได้

ตั้งครรภ์ - ภูมิแพ้ตั้งครรภ์

ภูมิแพ้ของแม่ตั้งครรภ์ป้องกันได้
(modernmom)
โดย: พญ.สิรินันท์ บุญยะลีพรรณ

          โรคภูมิแพ้ เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ที่มีปฏิกิริยาไวมากผิดปกติต่อสารก่อภูมิแพ้ แต่คุณแม่รู้หรือไม่ว่า สามารถป้องกันไม่ให้อาการถูมิแพ้กำเริบได้ระหว่างตั้งครรภ์

อาการภูมิแพ้กับแม่ตั้งครรภ์

          ขณะตั้งครรภ์จะมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย ซึ่งอาจจะเป็นผลให้อาการของโรคภูมิแพ้แตกต่างไปจากก่อนตั้งครรภ์ จากการศึกษาในผู้ป่วยโรคหืด พบว่า 1 ใน 3 ของผู้ป่วย จะมีอาการทุเลาลงในระหว่างตั้งครรภ์ ซึ่งมักพบในรายที่ควบคุมโรคได้ดีมาก่อนตั้งครรภ์ ส่วน 1 ใน 3 มีอาการเหมือนก่อนตั้งครรภ์ และอีก 1 ใน 3 มีอาการกำเริบมากขึ้น ซึ่งมักจะพบกับคุณแม่ที่ไม่ได้ควบคุมให้ดีก่อนการตั้งครรภ์

          เพราะฉะนั้น การควบคุมโรคให้ดีตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ จะส่งผลดีถึงในช่วงตั้งครรภ์ด้วยค่ะ ส่วนช่วงอายุครรภ์ 24-36 สัปดาห์ ที่อาการมักจะกำเริบบ่อย รวมถึงระหว่างการคลอดที่คุณแม่มักกลัวว่าจะมีอาการหอบระหว่างคลอด พบว่ามีอาการกำเริบแค่ 1 ใน 10 เท่านั้น

ยาบรรเทาภูมิแพ้กับแม่ตั้งครรภ์

          สำหรับยาที่ใช้กับแม่ตั้งครรภ์นั้น มีการออกกฎไว้อย่างเข้มงวด เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยให้แก่ผู้บริโภค และยังมีการติดตามประเมินผลอย่างต่อเนื่อง หากยาใดมาพบภายหลังว่าให้โทษต่อร่างกายก็จะถูกสั่งเพิกถอนตำรับยา ห้ามจำหน่าย และด้วยการควบคุมอย่างเข้มงวดนี้เอง ทำให้คุณหมอมีความมั่นใจในการใช้ยามากกว่าการใช้อาหารเสริม หรือสมุนไพร ซึ่งไม่มีมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคที่เข้มงวดเท่ายาค่ะ

          ดังนั้นการจะใช้ยาใด ๆ ในสตรีมีครรภ์ จึงต้องพิจารณาผลดี ผลเสีย ความเสี่ยงของยาก่อนเสมอ และจะใช้ก็ต่อเมื่อมีผลดีเหนือความเสี่ยง ในการสั่งยาให้สตรีมีครรภ์แพทย์จึงอาจต้องขอเปิดตำรา เพื่อดูว่ายาที่ต้องการสั่งให้ใช้นั้น จัดอยู่ในระดับความปลอดภัยระดับ A และ B หรือไม่

          สำหรับยาพ่นสูดสำหรับโรคหืดนั้น ส่วนใหญ่สามารถใช้ได้ โดย Budesonide มีความปลอดภัยระดับ B คือเป็นยาที่มีความปลอดภัยจากการศึกษาในสัตว์ทดลองที่ตั้งครรภ์ แต่ไม่มีการศึกษาทดลองในมนุษย์ หรือเป็นยาที่มีผลต่อสัตว์ทดลอง แต่จากการศึกษาในมนุษย์ ไม่พบความผิดปกติของทารก ยาภูมิแพ้ที่จัดอยู่ในกลุ่มนี้ เช่น Chlorpheniramine, Loratadine, Ceterizine, Budesonide และการจะเลือกใช้ยาตัวใด ขึ้นกับประวัติและผลการรักษาด้วยยานั้นตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ และขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์ด้วยค่ะ ยาพ่นจมูกที่ใช้ในโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ โดยทั่วไปมักปลอดภัย ยกเว้นยาพ่นหรือยาหยดเพื่อแก้อาการคัดจมูกที่ไม่ควรใช้เกิน 7 วัน

ดูแลตัวเองให้ห่างไกลภูมิแพ้

          สำหรับคุณแม่ Working Mom ที่ต้องทำงานในห้องแอร์ และต้องออกไปทำงานนอกบ้าน ย่อมเสี่ยงต่อสารกระตุ้น ที่จะทำให้อาการของโรคภูมิแพ้กำเริบได้ง่าย ๆ หัวใจสำคัญของการรักษาโรคภูมิแพ้ คือ

          เลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ โดยเฉพาะสารที่คุณแม่แพ้ ซึ่งสามารถทราบได้แน่ชัดจากผลการทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง (Allergy Skin Test)

          หลีกเลี่ยงสารที่เป็นมลพิษต่อระบบทางเดินหายใจด้วย เช่น ควันบุหรี่ ควันธูป ควันท่อไอเสียรถยนต์ ฝุ่นละออง สเปรย์ต่างๆ แต่หากแพ้ละอองเกสร หากเป็นฤดูที่มีละอองเกสรปลิวมากในอากาศ การอยู่ในห้องที่มีเครื่องปรับอากาศจะดีกว่าอยู่ภายนอก

           ใช้หน้ากากอนามัย เมื่อต้องอยู่ในที่อากาศไม่บริสุทธิ์ เช่น ริมถนน ที่มีฝุ่นละออง ที่มีฝูงชนมาก เพื่อลดความเสี่ยงในการได้รับสารก่อภูมิแพ้ มลพิษ และเชื้อโรค

          เลือกอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีสารก่อภูมิแพ้ต่ำ เช่น ดูแลเรื่องการป้องกันไรฝุ่น ไม่เลี้ยงสัตว์เลี้ยงในบ้าน

อาหารเสริมและสมุนไพร...ทางเลือกที่แม่ต้องรู้

          ระยะหลังเทรนด์และกระแสความนิยมเรื่องอาหารเสริม และสมุนไพรมาแรง หมอแนะนำว่า ก่อนเลือกใช้ควรคำนึงถึงผลข้างเคียง ผลเสีย และหาข้อมูลให้ครบรอบด้าน โดยเฉพาะคุณแม่ที่เป็นภูมิแพ้และกำลังตั้งครรภ์อยู่ มักกลัวการใช้ยาเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว แม้จะเป็นยาที่แพทย์สั่ง หรือหากจะหันไปเลือกใช้ยาสมุนไพรหรืออาหารเสริมแทน ก็อย่าลืมหาข้อมูลหรือปรึกษาคุณหมอก่อนจะกินด้วยนะคะ

          ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจกันด้วยว่า อาหารเสริมนั้นไม่ใช่ยาค่ะ ข้อบังคับต่าง ๆ ทางกฎหมายจึงไม่เข้มงวดเท่ายา เพราะฉะนั้น อาหารเสริมที่มาจากต่างประเทศก็เข้าหลักเกณฑ์นี้เหมือนกัน เรียกว่าใครใคร่ขายขาย ผู้บริโภคต้องรับความเสี่ยงเอง คำว่าสารที่มาจาก "ธรรมชาติ"ไม่ได้แปลว่าปลอดภัยเสมอไป สามารถมีผลข้างเคียง อาการไม่พึงประสงค์ หรือเกิดปฏิกิริยาต่อยาหรือสารอื่นได้เช่นเดียวกับยาค่ะ

          ส่วนสมุนไพร หากคุณแม่จะใช้ควรระวังเรื่อง "เชื้อรา" โดยเฉพาะพวกสมุนไพรที่ผลิตโดยไม่ได้มาตรฐาน นอกจากนี้เรายังพบธาตุโลหะหนักในอาหารเสริมบางรายการด้วย แล้วอาหารเสริม สมุนไพร ก็สามารถก่อให้เกิดอาการแพ้ได้ เช่น อาจทำให้เกิดผื่น คัน หรือแม้แต่กระตุ้นให้โรคหืดกำเริบ บางครั้งอาจมีสารให้โทษบางอย่างปนเปื้อนอยู่ในผลิตภัณฑ์ โดยไม่แจ้งไว้ในฉลาก เช่น สารสเตียรอยด์ การรับประทานอาหารเสริมปริมาณมากกว่าที่ร่างกายต้องการจริง อาจเกิดโทษหรือเป็นอันตรายได้ อาหารเสริมบางอย่าง ยังอาจมีปฏิกิริยาต่อยาที่แพทย์สั่งหรือยาที่ท่านซื้อใช้เองได้ด้วย

          ขณะเดียวกันสมุนไพรบางชนิดออกฤทธิ์เช่นเดียวกับยาค่ะ และผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ โดยเฉพาะโรคหืด หากรับประทานสมุนไพร หรืออาหารเสริมใด ๆ ต้องเฝ้าสังเกตอาการข้างเคียงที่อาจตามมาด้วย เช่น อาการทางระบบหายใจ บางครั้งการเลี่ยงยาไปใช้สมุนไพรแทน บางครั้งจึงเหมือนหนีเสือปะจระเข้

          การดูแลสุขภาพให้สมบูรณ์แข็งแรงเป็นสิ่งที่พึงกระทำ เพื่อลดการใช้ยาคุณแม่จึงควรหมั่นออกกำลังกายตามความเหมาะสม นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ดูแลสภาพแวดล้อมให้ถูกสุขลักษณะและปราศจากสารก่อภูมิแพ้ รวมถึงรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ด้วยค่ะ

ภูมิแพ้กับการนวด

          การนวดมักนิยมนำมาใช้ช่วยรักษาโรคที่เกี่ยวกับอาการปวดต่างๆ คลายเครียด แต่ยังไม่มีผลการศึกษาถึงข้อดีของการนวดต่อโรคภูมิแพ้ และกลับพบว่า การนวดอะโรมา (Aromatherapy) และการใช้น้ำมันหอมระเหย (Essential Oils) ทำให้เกิดอาการแพ้สารระเหยได้ โดยมีรายงานจากหลายประเทศ จึงไม่แนะนำในสตรีมีครรภ์ค่ะ

รู้จักภูมิแพ้มากขึ้น

          โรคภูมิแพ้ เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ที่มีปฏิกิริยาไวมากผิดปกติ (Hypersensitive) ต่อสารก่อภูมิแพ้ ซึ่งเป็นสารธรรมดา ๆ ในสิ่งแวดล้อม ที่ไม่เป็นพิษภัยต่อร่างกายของคนทั่วไป เช่น ละอองเกสร โปรตีนจากแมว ฯลฯ ถ้าคนปกติหายใจเอาสิ่งเหล่านี้เข้าไปจะไม่มีปัญหา แต่ถ้าเป็นผู้ป่วยภูมิแพ้ที่แพ้สารเหล่านี้ จะทำให้เกิดโรคและมีอาการกำเริบขึ้น แต่ถ้าเป็นสารที่เป็นมลพิษ เช่น ควันบุหรี่ เขม่าควันท่อไอเสียรถยนต์ ฝุ่นละอองตามท้องถนนอย่างนี้ไม่จัดเป็นสารก่อภูมิแพ้นะคะ เพราะถ้าใครได้รับสารเหล่านี้เข้าไปมาก ๆ ย่อมเกิดโทษต่อร่างกายทั้งนั้น และอาการที่เกิดขึ้นจากสารเหล่านี้ก็ไม่เรียกว่าภูมิแพ้ด้วยค่ะ

          ปฏิกิริยาของโรคภูมิแพ้ สามารถเกิดได้กับอวัยวะหลายระบบ จึงทำให้เกิดอาการต่าง ๆ เช่น คันตา น้ำตาไหล ตาบวม คัดจมูก น้ำมูกไหล จาม คันจมูก คันเพดาน คันหู หูอื้อ ไอ มีเสมหะในคอ หอบ เหนื่อย แน่นหน้าอก อาเจียน ถ่ายเหลว ผื่น คันตามผิวหนัง ลมพิษ ฯลฯ แต่ละคนแต่ละวัยก็จะมีหลากหลายอาการที่แตกต่างกันค่ะ และเนื่องจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันที่ว่านี้ สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมไปสู่ลูกหลานได้ เราจึงมักพบ "ครอบครัวภูมิแพ้" ที่อาจจะมีอาการของโรคแตกต่างกันได้แม้จะเป็นครอบครัวเดียวกันค่ะ
 




ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ฉบับเดือนตุลาคม 2553

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ภูมิแพ้ ของแม่ตั้งครรภ์ ป้องกันได้ อัปเดตล่าสุด 6 ตุลาคม 2553 เวลา 17:27:32 3,820 อ่าน
TOP
x close