x close

ตอบคำถามลูกแบบได้ประโยชน์สูงสุด

baby

ตอบคำถามลูกแบบได้ประโยชน์สูงสุด (รักลูก)

           ลูกวัย 3-6 ขวบ เป็นวัยที่มีพัฒนาการทางภาษาดีขึ้น คุณพ่อคุณแม่จึงควรใช้โอกาสนี้ ส่งเสริมความช่างพูด ช่างถามให้  เกิดประโยชน์กับตัวลูกมากที่สุดค่ะ

วัยเยาว์=วัยเจ้าหนูทำไม

           ลูกวัยนี้จะช่างพูด ช่างถาม และชอบสำรวจโลกมากขึ้น โดยเฉพาะวัย 2-3 ขวบ จึงไม่แปลกที่ลูกจะชอบถามนู่น ถามนี่อยู่บ่อย ๆ เช่น อันนี้อะไร ทำไมเป็นแบบนี้ ทำไมเป็นแบบนั้น บางครั้งเราก็รู้สึกว่า ทำไมลูกถามซ้ำแล้วซ้ำเล่าทั้งที่เราตอบไปแล้วด้วย จึงต้องทำความเข้าใจว่า เด็กวัยนี้จะเข้าใจและเรียนรู้ได้เร็วกับสิ่งที่เป็นรูปธรรม ส่วนเรื่องนามธรรม หรือความเป็นเหตุเป็นผล เช่น ความดี ความไม่ดี หรือเรื่องมิติของเวลา เขาจะยังเข้าใจได้ไม่ดีเท่ากับสิ่งที่สามารถมองเห็นได้ด้วยตา ได้ยินกับหู หรือสัมผัสได้ด้วยกาย

เมื่อลูกเป็นเจ้าหนูทำไม...

           การเป็นเจ้าหนูทำไมของลูก นอกจากความอยากรู้อยากเห็นแล้ว ลูกวัยนี้ กำลังอยู่ในช่วงของการพัฒนาหลักเหตุผลและฝึกฝนการแยกแยะสิ่งต่าง ๆ ฉะนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงควรเสริมพัฒนาการส่วนนี้ของลูกด้วยวิธีเหล่านี้ค่ะ

ตอบคำถามด้วยภาษาง่าย ๆ

           เวลาลูกสงสัยเรื่องอะไร เขาอาจจะมีคำตอบอยู่ในใจ แต่ยังพูดอธิบายเองไม่ถูก และถ้าคำตอบของเราไม่ตรงกับกับที่เขาคิดไว้ เขาก็มักจะถามย้ำอยู่เรื่อย ๆ จนบางครั้งอาจทำให้คุณพ่อคุณแม่รู้สึกรำคาญได้ค่ะ เช่น เขาอาจเข้าใจว่าผลไม้สีแดงเป็นมะเขือเทศ ทั้ง ๆ ที่มันคือแอปเปิ้ล ถ้าเราบอกว่านั่นคือแอปเปิ้ล ลูกก็อาจถามย้ำอยู่เรื่อย ๆ หากเป็นอย่างนี้คุณพ่อคุณแม่ก็อาจถามเขากลับว่า "แล้วหนูคิดว่ามันเป็นอะไรคะลูก" เพื่อที่จะได้รู้ว่าลูกเข้าใจว่าอย่างไร หรือสิ่งที่ลูกอยากรู้จริง ๆ คืออะไร (ลูกอาจจะรู้แล้วว่าผลไม้นั้นคือแอปเปิ้ล และอยากจะทาน แต่ไม่รู้ว่าจะพูดว่าอย่างไร) ซึ่งตรงนี้ก็เป็นโอกาสที่เราจะสอนเขาต่อด้วยการอธิบายอย่างง่าย ๆ ได้ว่า "หนูเห็นมันเป็นสีแดงเหมือนกับที่เรากินที่บ้านใช่มั้ยคะ แต่มันไม่ใช่มะเขือเทศนะ หนูลองดูดี ๆ สิคะ เห็นมั้ยคะว่าเปลือกมันแข็งกว่า กลิ่นก็หอม ๆ ด้วย" ตรงจุดนี้ คุณพ่อคุณแม่สามารถสอนเจาะลงในเรื่องที่ลูกยังไม่เข้าใจได้ค่ะ

ตั้งคำถามกับลูกจากเรื่องใกล้ ๆ ตัว

           หากลูกขี้สงสัยแล้วไม่อยากหาคำตอบ เราเองต้องทำตัวเป็นคนขี้สงสัย เพื่อกระตุ้นให้ลูกอยากหาคำตอบ ซึ่งเริ่มจากเรื่องง่าย ๆ หรือสิ่งที่ลูกรู้อยู่แล้ว เช่น ทำไมหมามันต้องเห่านะ ทำไมดอกไม้มีสีสวย ๆ ลูกอาจจะตอบในแบบที่เขาคิด เขาอาจคิดว่าดอกไม้มีสีสวย เพราะหนูชอบ ในมุมของเด็กที่เขาตอบแบบนี้ไม่ใช่เรื่องผิดค่ะ แต่การถามหรือกระตุ้นให้ลูกตอบแล้วต่อยอดไปเรื่อย ๆ จะทำให้เรารู้ว่าเขายังไม่รู้ในจุดไหน และคุณพ่อคุณแม่ต้องเสริมเพิ่มเติมให้เขาเรื่องไหนบ้างค่ะ

สอนลูกรู้จักเหตุผล...ผ่านการเล่น

           เด็กวัยนี้ยังเข้าใจความเป็นเหตุเป็นผลได้ไม่ดีนัก อาจยังสับสนว่าสิ่งใดเป็นต้นเหตุและสิ่งใดเป็นผลลัพธ์ หรือสิ่งใดเกิดก่อนสิ่งใดเกิดหลัง โดยเริ่มต้นสอนได้จากการเล่นค่ะ เพราะจริงๆ การเล่นเปรียบเหมือนการลองผิดลองถูก เมื่อมีอุปสรรคหรือความขัดแย้งเกิดขึ้นระหว่างเล่น จะเป็นโอกาสที่จะสอนลูกเกี่ยวกับเหตุผล และแก้ปัญหาด้วยตนเองได้
เสริมกิจกรรมที่สร้างสรรค์

1. เกมอะไร-ทำไม

          คำถาม "ทำไม" เป็นสิ่งที่ลูกคุ้นเคยดีอยู่แล้วค่ะ อาจเล่นเกมคำถามกับลูก เช่น "ลูกจ๋าทำไมนกบินได้" จากนั้นก็รอฟังคำตอบ แต่ถ้าเขายังไม่ตอบ เราก็อาจจะกระตุ้นว่า "เป็นแบบนี้ได้มั้ยลูก นกบินได้เพราะมันมีปีกและขาสั้น เวลาเดินมันอาจจะเมื่อย ก็เลยบินดีกว่า" ซึ่งวิธีนี้อาจช่วยกระตุ้นให้เขามีคำตอบและมีแนวทางมากขึ้น

2. เกมคาดเดาเหตุการณ์

          เวลาขับรถพาลูกไปข้างนอก เราก็อาจจะให้เขาลองคาดเดาเหตุการณ์จากสัญญาณไฟจราจร เช่น ถามว่า "ต่อจากไฟแดง จะเป็นไฟอะไรนะ แล้วถ้าไฟเขียวเราทำยังไง" วิธีนี้จะช่วยกระตุ้นให้ลูกได้คิดและเข้าใจความเป็นเหตุเป็นผลด้วย ที่สำคัญ คุณพ่อคุณแม่สามารถหยิบยกทุกอย่างรอบตัวทั้งในบ้านและนอกบ้านได้

3. เกมตั้งคำถาม...สร้างจินตนาการ

          เกมตั้งคำถามเหนือธรรมชาติ "หนูคิดว่าถ้าเรามี 4 แขนจะเป็นยังไงลูก" หรือ "ลูกว่าบ้านเราไม่มีแอร์เลยจะอยู่ได้มั้ย จะทำยังไงดีน้า ลองช่วยกันคิดหน่อยสิคะ" ให้เขาได้บริหารสมองและใช้จินตนาการค่ะ

          เกมตั้งคำถามจากธรรมชาติรอบตัว เช่น เดิน ๆ ไปเจอใบไม้ ก็ลองให้ลูกคิดต่อว่า ใบไม้ไปทำอะไรได้บ้าง เขาอาจจะตอบว่าเอาไปลอยน้ำ เป็นเรือ แค่นี้ก็ช่วยให้เขาได้ใช้จินตนาการแล้วล่ะค่ะ

4. เกมฝึกประสาทสัมผัส

          เกมนี่เสียงอะไร : ฝึกการได้ยิน โดยนำของเล่นที่ลูกคุ้นเคย เช่น เครื่องเขย่า รถ กีต้าร์ เปียโน จากนั้นก็ให้เปิดตา แล้วเขาทายว่านี่เสียงอะไร ลูกก็จะได้ให้ประสาทสัมผัสทั้ง 5

          เกมหาของ : ฝึกสายตา ซ่อนของไว้ในมือให้ลูกทายว่าอยู่ข้างไหน เวลาเล่นควรสลับไปสลับมาช้า ๆ ให้เขาได้เล่นไปกับเรา

          เกมจับของ : ฝึกการสัมผัส อาจนำขวดปากแคบหรือกล่องทึบ ๆ ใส่ของที่ลูกคุ้นเคย เช่น รถของเล่น ตุ๊กตา ช้อนซ้อม หรือของที่เจอในชีวิตประจำวัน จากนั้นก็ให้ลูกเอามือล้วงลงไป ช่วยฝึกความจำและได้ใช้กล้ามเนื้อมัดเล็ก

          เกมจับคู่ : ชวนลูกเก็บของตามประเภทของ เช่น กล่องหนังสือนิทาน กล่องตุ๊กตา กล่องสำหรับลูกบอล เกมนี้นอกจากจะเสริมพัฒนาการลูกและฝึกระเบียบวินัยแล้ว ยังช่วยคุณแม่ทุ่นแรงในการตามเก็บของลูกได้เยอะเชียวค่ะ ยิงปืนนัดเดียวได้นกหลายตัวเลยนะคะ

          แค่คุณพ่อคุณแม่พร้อมที่จะเรียนรู้ไปกับลูก และหากิจกรรมง่าย ๆ ที่สามารถจะหยิบยกมาจากสิ่งต่าง ๆ รอบตัวให้เขาได้เล่นบ้าง ก็จะช่วยเสริมให้เจ้าหนูของเรากลายเป็นเจ้าหนูทำไมที่ เก่ง ฉลาด และสร้างสรรค์ได้แล้วล่ะค่ะ




ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ปีที่ 28 ฉบับที่ 332 กันยายน 2553

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ตอบคำถามลูกแบบได้ประโยชน์สูงสุด อัปเดตล่าสุด 11 ตุลาคม 2553 เวลา 14:12:22
TOP