รับมือใจ+กาย หลังคลอด (รักลูก)
หลังคลอดคุณแม่จะมีการเปลี่ยนแปลงทั้งร่างกายและจิตใจ ซึ่งต้องเตรียมเรียนรู้ เพื่อรับมือกับอาการที่อาจเกิดขึ้นค่ะ
ร่างกายเปลี่ยนแปลง
มดลูก หลังคลอดความสูงของมดลูกจะอยู่ในระดับสะดือ แล้วค่อย ๆ เล็กลง หรือที่เราเรียกว่ามดลูกเข้าอู่นั่นเอง โดยทั่วไปจะใช้เวลาประมาณ 6-8 สัปดาห์
มีน้ำคาวปลา ช่วงแรกลักษณะของน้ำคาวปลาจะมีสีแดง เหมือนเวลามีประจำเดือน แล้วค่อย ๆ จางลงเป็นสีเหลือง ๆ ใส ๆ ซึ่งช่วงที่เป็นสีแดงนี้ไม่ควรจะเกิน 2 สัปดาห์ แต่ถ้าเกิน 2 สัปดาห์ไปแล้ว น้ำคาวปลายังมีสีแดงอยู่ มีลักษณะเป็นหนอง มีเลือดออกมาเยอะ เป็นลิ่ม ๆ มีอาการปวดท้องมาก รวมถึงคุณแม่มีไข้สูง อาจเป็นสัญญาณการอักเสบติดเชื้อในมดลูก หรือในโพรงมดลูกของคุณแม่ก็ได้ คุณแม่ต้องระวังนะคะ เพราะหากเกิดลุกลามจะนำไปสู่อาการเยื่อบุโพรงมดลูกอักเสบด้วย ซึ่งส่งผลให้เกิดการตกเลือดหลังคลอดได้ ดีที่สุดคือปรึกษาคุณหมอแต่เนิ่น ๆ นะคะ
น้ำหนักค่อย ๆ ลดลง เนื่องจากน้ำต่าง ๆ ที่คั่งอยู่ในตัวคุณแม่จะค่อยๆ ถูกขับออกมา จากที่คุณแม่เคยตัวบวมก็จะค่อย ๆ ยุบลง
เต้านมคัด เป็นอาการที่เกิดจากการเตรียมความพร้อมเรื่องการให้นมลูก ซึ่งคุณแม่บางท่านอาจมีอาการเต้านมคัดตึงเนื่องจากน้ำนมที่คั่งอยู่ ซึ่งถ้าดูแลไม่ถูกวิธีอาจเกิดอาการเป็นไข้ เต้านมอักเสบ เป็นฝีขึ้นมาได้ คุณแม่ควรใช้น้ำอุ่นประคบ นวดเบา ๆ ให้ลูกดูดนมหรือบีบน้ำนมออก
นอกจากนั้น การให้ลูกดูดนมที่ไม่ถกวิธีอาจทำให้เกิดอาการหัวนมแตก ทำให้เกิดความเจ็บปวดเวลาให้นมได้ ซึ่งดูแลได้โดยการใช้ยาตามแพทย์แนะนำ และฝึกให้ลูกดูดนมอย่างถูกวิธีก็จะช่วยได้
ปัสสาวะไม่ออก หรือแสบขัด ซึ่งมักมีสาเหตุจากการคลอด โดยหัวเด็กไปกดบริเวณกระเพาะปัสสาวะและท่อปัสสาวะ กระเพาะปัสสาวะอาจเกิดอาการบอบช้ำ และอาจเกิดจากความเจ็บปวดบริเวณแผลฝีเย็บด้วย ทำให้ปัสสาวะไม่ออกหรือออกไม่หมด บางครั้งอาจต้องสวนปัสสาวะทิ้งหรือใส่สายสวนปัสสาวะไว้ในช่วงแรก ซึ่งอาการมักดีขึ้นได้เอง นอกจากนั้น ยังอาจเกิดอาการกระเพาะปัสสาวะหรือท่อปัสสาวะอักเสบ ทำให้มีอาการปัสสาวะแสบขัดได้ ซึ่งคุณแม่สามารถดูแลตัวเองคร่าวๆ ได้ เช่น ดื่มน้ำให้มากๆ พยายามไม่กลั้นปัสสาวะ ถ้าอาการดีขึ้นเองก็ไม่เป็นไร แต่ถ้ามีอาการอื่นร่วม เช่น มีไข้สูง ปวดมาก ก็อาจจะต้องไปพบแพทย์
อวัยวะอื่น ๆ เช่น ระบบไหลเวียนเลือด ระบบหายใจก็จะค่อย ๆ กลับสู่สภาพปกติ ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 6-8 สัปดาห์เช่นกัน
จิตใจเปลี่ยนแปลง
คุณแม่มือใหม่หลายท่านย่อมมีความวิตกกังวลเรื่องเลี้ยงลูก หากปล่อยให้เรื้อรัง หรือทับถมกันมากขึ้นไปเรื่อยๆ ก็อาจเกิดอาการทางใจที่เรียกว่า "ภาวะซึมเศร้าได้" โดยสาเหตุหลัก ๆ มักจะมาจากความเครียดนั่นเอง ลองดูนะคะ ว่าคุณแม่มือใหม่เข้าข่ายอาการเครียดเหล่านี้หรือเปล่า
ด้านจิตใจ โดยเฉพาะมีลูกคนแรก คุณแม่จะรู้สึกกลัวว่าจะเลี้ยงลูกไม่ได้ ความวิตกกังวลเรื่องความรับผิดชอบ ความรู้สึกคาดหวังและการยอมรับกับเรื่องต่างๆ การเปรียบเทียบกับผู้อื่น แต่โดยทั่วไปจะเป็นกันไม่มาก
สภาพร่างกายที่เปลี่ยนไป ทำให้รู้สึกวิตกกังวล ที่รูปร่างไม่สวยงามเหมือนเดิม แต่ส่วนมากเมื่อร่างกายปรับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ความกังวลของคุณแม่ก็จะหายไปได้ค่ะ ยกเว้นอาการไม่สบายบางอย่างจากการเลี้ยงลูก เช่น ปวดหลัง ปวดข้อมือ
ด้านสังคม ความกังวลเรื่องหน้าท่ากรงาน กิจวัตรประจำวัน การใช้ชีวิตที่ต้องเปลี่ยนไป จากที่เคยทำงานทุกวันก็ต้องเปลี่ยนเป็นเลี้ยงลูกแทน ความเครียดความวิตกกังวลต่าง ๆ เหล่านี้ นอกจากจะทำให้คุณแม่มีสุขภาพจิตใจที่ย่ำแย่ลงแล้ว ร่างกายก็จะพลอยได้รับผลกระทบตามไปด้วย เมื่อเกิดความเครียดแล้ว ก็ทำให้ร่างกายปรับตัวได้ไม่ดี ส่งผลให้ร่างกายไม่แข็งแรงสมบูรณ์ ไม่สามารถสร้างน้ำนมได้ คุณแม่ก็ไม่สามารถให้นมลูกได้ เป็นปัญหาที่วนเวียนซ้ำ ๆ
เพราะฉะนั้น คนรอบข้างคุณแม่นี่แหละค่ะที่จะเป็นตัวช่วยได้อย่างดี ต้องคอยสังเกตเรื่องอารมณ์และความรู้สึกของคุณแม่อย่างใกล้ชิด ช่วยคุณแม่เลี้ยงลูก คอยให้กำลังใจ สนับสนุนด้านกายและจิตใจ โดยเฉพาะครอบครัวขยายที่มีทั้งคุณย่า คุณตา คุณยาย ท่านเหล่านี้นอกจากจะให้คำแนะนำแก่คุณแม่แล้ว ก็ยังมีประสบการณ์ สามารถเป็นที่ปรึกษาเรื่องการเลี้ยงลูกให้กับคุณแม่ได้อีกด้วย
สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่เป็นครอบครัวเดี่ยว ซึ่งอยู่ห่างจากคุณย่าคุณยาย ต้องเตรียมตัวตั้งแต่ตอนท้องมากเป็นพิเศษ เนื่องจากลักษณะของการอาศัยอยู่ อาจจะทำให้คุณแม่เกิดภาวะซึมเศร้าได้
ดังนั้น การศึกษาข้อมูลและการปรึกษาแพทย์ก็มีส่วนช่วยได้มากค่ะ โดยในปัจจุบันนี้ โรงพยาบาลหลายแห่งมีบริการให้คำปรึกษากับคุณแม่หลังคลอด ซึ่งช่วยได้เป็นอย่างมาก หรือการวางแผนการเลี้ยงลูกหลังคลอด เช่น การย้ายไปเลี้ยงลูกกับคุณตาคุณยาย ในช่วงระหว่างลาคลอดก็สามารถลดภาวะความเครียดได้ค่ะ
การเตรียมตัวหลังคลอดก็มีความสำคัญ ซึ่งคุณแม่ต้องดูแลตัวเองให้ดี เพราะเมื่อคลอดลูกออกมาแล้ว จะต้องเลี้ยงดูเขาไปตลอด หากคุณแม่เครียด เกิดภาวะซึมเศร้า จะส่งผลกระทบต่อลูกในระยะยาวได้ คุณแม่ทุกคนต่างก็มีความคาดหวัง แต่ถ้าไม่เป็นดังหวัง ก็ต้องพร้อมรับสถานการณ์นั้น ๆ ด้วยค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
ปีที่ 29 ฉบับที่ 337 กุมภาพันธ์ 2554