x close

กลยุทธ์ 3 ขั้น ปราบเจ้าหนูนักต่อต้าน

baby

กลยุทธ์ 3 ขั้น ปราบเจ้าหนูนักต่อต้าน
(รักลูก)

           ไม่อยากไป ไม่อยากกิน ไม่อยากทำ และอีกสารพัดคำปฏิเสธที่พ่อแม่จะต้องได้ยินจากลูกวัย 3 ขวบแรก แต่แทนที่จะมัวอารมณ์เสียกับอาการต่อต้านจากลูก ใช้กลยุทธ์ต่อไปนี้ปราบเลยค่ะ

ทำไมลูกต่อต้านและปฏิเสธ?

           เมื่อลูกเข้าสู่วัยเตาะแตะ (1-3 ปี) พัฒนาการทางด้านร่างกาย จิตใจ และสมอง ก็เริ่มพัฒนามากขึ้นกว่าวัยเบบี้ ทำให้ลูกเริ่มเป็นตัวของตัวเอง มองตัวเองและให้ความสำคัญกับตัวเองเป็นอันดับหนึ่ง อยากทำอะไรด้วยตัวเองมากขึ้น จึงไม่อยากให้พ่อแม่ทำให้เขาทั้งหมด แต่ด้วยความสามารถของวัยนี้ก็ยังต้องพึ่งพ่อแม่อยู่ บางครั้งก็จะเกิดความขัดแย้งขึ้นในใจ เวลาที่พ่อแม่บอกให้ทำอะไร แต่หนู ๆ ไม่อยากทำก็จะเริ่มเกิดการต่อต้านขึ้น

           เด็กวัยนี้จะเริ่มอยากเลือกสิ่งที่ตัวเองชอบหรือไม่ชอบเอง ทำให้เห็นได้ชัดว่า พ่อแม่ไม่สามารถควบคุมลูกได้ทั้งหมดเหมือนเมื่อก่อน คำที่ติดปากลูกส่วนใหญ่ที่คือคำว่า "ไม่ ไม่ ไม่" คำนี้แหละค่ะ ที่ทำให้พ่อแม่ต้องหงุดหงิด อารมณ์เสีย จนกลายเป็นไม่เข้าใจกันทั้ง 2 ฝ่าย

พิชิตเจ้าหนูจอมปฏิเสธ

           วิธีที่ดีสำหรับการจัดการกับลูกจอมต่อต้าน คือพ่อแม่ต้องยอมรับและทำความเข้าใจก่อนว่า การปฏิเสธและต่อต้านของลูกเป็นพัฒนาการตามวัย ถ้าลูกเริ่มเป็นตัวของตัวเอง แสดงว่าลูกเรียนรู้ที่จะพึ่งคนอื่นน้อยลง แต่ถ้าลูกไม่รู้จักปฏิเสธหรือต่อต้าน ลูกก็จะเป็นเด็กที่คิดเองไม่เป็น และต้องหวังพึ่งพ่อแม่อยู่ต่อไปค่ะ

           ดังนั้น ถ้าเจอกับสถานการณ์ต่อต้านจากลูกแบบนี้ พ่อแม่ไม่ควรหงุดหงิดและอย่าพยายามควบคุมลูกไปทุกอย่าง เพราะจะยิ่งเป็นการฝืนความต้องการของลูก ลูกก็จะยิ่งร้องไห้ โวยวาย ควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ จนกลายเป็นเด็กอารมณ์ร้าย แต่พ่อแม่ควรใช้วิธีเปิดโอกาสให้ลูกได้คิดเอง และจัดการกับอารมณ์ของเขา ด้วยวิธีต่อไปนี้ คือ

กลยุทธ์ขั้นที่ 1 ส่งคำเตือนไปก่อน

           ในขณะที่ลูกกำลังติดใจอยู่กับกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่งอยู่ แล้วต้องถูกพ่อแม่บอกให้ทำอย่างอื่น ลูกก็มีความรู้สึกไม่พอใจหรือโกรธ โดยลูกจะแสดงออกมาในท่าทีที่ปฏิเสธ ไม่ว่าจะเป็นการร้องโวยวาย ตะโกน ฯลฯ

           เพื่อให้ลูกได้ปรับตัวและเตรียมใจกับอารมณ์โกรธ พ่อแม่ควรบอกลูกเพื่อเป็นคำเตือนก่อน เช่น ในขณะที่ลูกกำลังเล่นอยู่ ให้บอกลูกว่า "อีก 10 นาที แม่จะพาไปอาบน้ำหรือกินข้าวแล้วนะ" เมื่อพูดจบ ลูกอาจจะแสดงอาการต่อต้านออกมา ก็ปล่อยให้เขาได้ระบายความรู้สึก พ่อแม่ก็อาจจะเดินไปที่อื่นก่อน ปล่อยให้ลูกเล่นไปก่อนค่ะ (เด็กอาจยังไม่เข้าใจว่า 10 นาทีคือนานเท่าไร แต่จะพอเข้าใจได้จากท่าทีของพ่อแม่ว่าหนูยังเล่นต่อได้อีกหน่อย)

กลยุทธ์ขั้นที่ 2 พูดคุยอย่างเข้าใจ

           หลังจากที่พ่อแม่ส่งคำเตือนไปแล้ว เมื่อถึงเวลาต้องหยุดเล่นจริงๆ พ่อแม่ก็ควรเข้าไปพูดคุยกับลูก ว่าถึงเวลาที่จะต้องไปอาบน้ำแล้ว ขั้นตอนนี้ลูกอาจจะโวยวายมากขึ้นอีก แต่พ่อแม่ก็ต้องค่อย ๆ บอกกับลูกด้วยท่าทีที่สงบและใช้คำที่สั้นกระชับ เช่น "แม่รู้ว่าลูกกำลังสนุก แม่เข้าใจว่าลูกไม่อยากอาบน้ำ แต่เวลานี้เป็นเวลาที่ต้องอาบน้ำ ลูกก็ต้องไปอาบน้ำค่ะ" การพูดคุยกับลูกแบบนี้ ยังเป็นการสอนให้ลูกเรียนรู้วิธีจัดการอารมณ์เวลาที่ไม่พอใจ เราควรใช้วิธีการพูดดีกว่าการแสดงพฤติกรรมที่ไม่ดีออกมา ถ้าพูดแล้วลูกไม่ยอมทำตาม ก็อย่าเพิ่งใส่อารมณ์กับลูกนะคะ แต่ให้คิดว่าสิ่งที่พ่อแม่กำลังทำ ไม่ได้ต้องการเอาชนะลูก แต่เราทำเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์คือพาลูกไปอาบน้ำ จึงต้องใจเย็น ๆ ค่ะ

กลยุทธ์ขั้นที่ 3 ลงมือปฏิบัติ

           ขั้นตอนนี้ ต้องลงมือทำจริงค่ะ คือพาลูกไปอาบน้ำเลย แต่ต้องเป็นไปในลักษณะที่ไม่ได้รุนแรง ไม่ควรจับ ลาก หรือดึงลูกด้วยความรุนแรง แต่ควรพาลูกไปพร้อมกับอธิบายว่า แม่จะพาลูกไปอาบน้ำแล้ว โดยอาจยกตัวอย่างเปรียบเทียบให้ลูกเห็น เช่น "ดูสิ พี่ ๆ ก็อาบน้ำกันทั้งนั้น" เด็กวัยนี้มักชอบที่จะเลียนแบบค่ะหรืออาจเล่มเกมสนุก ๆ ไปพร้อมกับลูก โดยดูจาก สิ่งที่ลูกกำลังเล่นอยู่ เช่น ชวนว่าใครจะพาตุ๊กตาเป็ดน้อยไปอาบน้ำได้ก่อนกัน ลูกก็จะสนุก ให้ความร่วมมือและลดการต่อต้านลงค่ะ

           อีกเคล็ดลับคือการให้ทางเลือกแก่ลูก เนื่องจากเด็กวัยนี้เริ่มไม่ชอบการถูกบังคับ ดังนั้นถ้าพ่อแม่ใช้คำสั่ง เช่น "หนูต้องไปอาบน้ำเดี๋ยวนี้" อาจทำให้เด็กต่อต้าน แต่ถ้าเด็กได้มีโอกาสตัดสินใจเอง เด็กจะรู้สึกว่าตนควบคุมสถานการณ์ได้ วิธีให้ทางเลือกแก่ลูก เช่น "หนูจะให้แม่พาไปอาบน้ำ หรือจะให้พ่อพาไปคะ" หรือ "หนูจะให้ คุณแม่อาบน้ำให้เป็ดน้อย หรือหนูจะอาบให้เป็ดน้อยเองคะ" เมื่อลูกได้เลือก ลูกก็ไม่ค่อยรู้สึกว่าถูกบังคับ และสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ที่ต้องการ โดยไม่ต้องเสียอารมณ์กันทั้งสองฝ่ายค่ะ

ถ้าพ่อแม่ไม่เข้าใจหนู

           พ่อแม่ที่มักจะหงุดหงิดใส่ลูกหรือพยายามควบคุมลูกทุกอย่าง โดยไม่เปิดโอกาสให้ลูกได้คิดและตัดสินใจเองเลย ถึงแม้พ่อแม่จะได้ทำตามสิ่งที่ตัวเองต้องการ แต่ลูกกลับเป็นฝ่ายได้รับผลเสีย เพราะลูกจะกลายเป็นเด็กไม่อยากคิด ตัดสินใจเองไม่ได้ และจะไม่มีความมั่นใจในตัวเอง จนไม่สามารถทำอะไรด้วยตัวเองได้ ถ้าพ่อแม่ใช้อารมณ์รุนแรงกับลูก ก็มีแนวโน้มที่ลูกจะเป็นเด็กก้าวร้าว ระบายอารมณ์ด้วยการทำร้ายผู้อื่น เพราะลูกไม่รู้วิธีจัดการกับอารมณ์ของตัวเอง และเคยเห็นแบบอย่างของอารมณ์ที่รุนแรงจากพ่อแม่ด้วยค่ะ

           ลองสังเกตว่าลูกมีพื้นอารมณ์อย่างไร และเลือกวิธีปฏิบัติให้เหมาะสมกับลูกนะคะ


    

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ปีที่ 29 ฉบับที่ 337 กุมภาพันธ์ 2554


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
กลยุทธ์ 3 ขั้น ปราบเจ้าหนูนักต่อต้าน อัปเดตล่าสุด 21 มีนาคม 2554 เวลา 14:02:41
TOP