4 วิธีปลูกฝังวินัยให้เบบี้ (รักลูก)
ถึงแม้ว่าหนูน้อยวัยขวบปีแรกจะยังสื่อสารภาษาได้ไม่ชัดเจน และยังช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ทุกอย่าง แต่พ่อแม่สามารถปลูกฝังระเบียบวินัยให้ลูกได้แล้ว เพราะเป็นช่วงวัยของการเริ่มต้นพัฒนาการหลาย ๆ ด้านเพียงแค่ปฏิบัติ 4 วิธี ดังต่อไปนี้ค่ะ
1. จัดสภาพแวดล้อมตามเวลาธรรมชาติ
เพื่อให้ลูกน้อยได้ปรับตัวและเข้าใจสภาพแวดล้อมรอบ ๆ ตัว ว่าเป็นช่วงเวลาที่ควรทำอะไร เช่น เวลากลางวันควรให้ลูกอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่สดใส โดยพาลูกออกมารับแสงแดด หรือได้มองดูสิ่งรอบ ๆ ตัวนอกบ้านบ้าง รวมทั้งควรเล่นกับลูกระหว่างวัน ลูกน้อยจะรับรู้ว่าเป็นช่วงเวลาที่จะได้เรียนรู้
แต่ถ้าเป็นเวลากลางคืน ควรจัดสภาพแวดล้อมให้เงียบสงบ มีแสงสว่างน้อย ๆ หรือทำกิจกรรมที่ไม่กระตุ้นอารมณ์ลูกมากนัก เช่น เล่านิทาน หรือเปิดเพลงเบา ๆ ลูกจะรู้ว่าเป็นช่วงเวลาแห่งการนอนค่ะ
2. ทำกิจวัตรประจำวันอย่างสม่ำเสมอ
ช่วยฝึกให้ลูกน้อยเกิดการเรียนรู้ขั้นตอนในชีวิตประจำวัน เช่น บางครอบครัวอาจเปิดม่านรับแสงแดดอ่อนในตอนเช้า หรือปิดไฟในห้องนอนตอนกลางคืน ก็ควรทำเป็นประจำทุกวัน หรือบางครอบครัวอาจให้ลูกกินนมแล้วจึงอาบน้ำ หรืออาบน้ำก่อนแล้วค่อยกินนม ควรเลือกทำแบบเดิมอย่างสม่ำเสมอ ลูกจะคาดเดาได้ว่าหลังเสร็จจากกิจกรรมนี้แล้วต้องทำอะไรต่อ
ทั้งนี้ ขั้นตอนของกิจวัตรประจำวันว่าอะไรควรทำก่อนหลัง สามารถเลือกทำได้ตามความเหมาะสมของแต่ละครอบครัว โดยจะต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของเด็กเป็นหลักค่ะ
3. ทำกิจวัตรประจำวันตามช่วงอายุ
ลูกน้อยอายุ 6 เดือน พ่อแม่ควรตอบสนองลูกโดยทันทีทันใดเมื่อลูกร้อง เช่น เวลาที่ลูกหิวนม หรือได้เวลาเปลี่ยนผ้าอ้อม แต่หากลูกอายุ 6 เดือน-1 ปี ขึ้นไป การตอบสนองจากพ่อแม่ ควรทำช้าลงกว่าเดิมทีละน้อย ๆ โดยใช้เสียงปลอบนำมาก่อนเล็กน้อย ในขณะที่เดินมาหาลูก โดยในขวบปีแรกของชีวิต ไม่ควรให้ลูกรอคอยนานเกินกว่า 1-2 นาทีนะคะ และถ้าโตกว่านี้ค่อย ๆ เพิ่มออกได้อีก โดยมีเกณฑ์คร่าว ๆ คือ ประมาณขวบละ 1 นาที เช่น 5 ขวบควรอดทนรอคอยได้ 5 นาที เป็นต้น
วิธีนี้จะทำให้ลูกรู้จักอดทนรอคอยมากขึ้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระเบียบวินัย และเมื่อลูกโตขึ้นมากกว่านี้ก็ควรค่อย ๆ ทิ้งช่วงเวลาที่จะเข้าหาลูกให้นานขึ้น เพื่อฝึกให้ลูกรอคอยนานขึ้นค่ะ โดยควรเพิ่มช้า ๆ ทีละเล็กน้อยก่อน พร้อมเสียงพูดปลอบเช่น "แม่กำลังมาจ้ะ" หรือ "แม่รู้ว่าหนูหิวแล้ว แม่ชงนมให้หนูอยู่นะคะ" ให้มีควบคู่กันเสมอทุกครั้งค่ะ
4. ตอบสนองให้รวดเร็ว ยืดหยุ่นได้ ทันต่อเหตุการณ์
ควรพร้อมที่จะปรับเปลี่ยน หรือยืดหยุ่นได้ตามเหตุการณ์เฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นด้วย เนื่องจากเด็กในวัยขวบปีแรกนั้น ยังไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ตามขั้นตอน ตามตารางเวลาที่กำหนดเหมือนเด็กโตค่ะ ถ้าเกิดเหตุการณ์เฉพาะหน้า เช่น ปกติเปลี่ยนผ้าอ้อมให้ลูกก่อนแล้วจึงให้กินนม แต่ถ้าลูกร้องไห้มากเกินเหตุกว่าทุกครั้ง พร้อมกับใส่ผ้าอ้อมที่ชื้นแฉะอยู่ ก็ควรสำรวจหาสาเหตุที่ร้องก่อนแล้วจึงเปลี่ยนผ้าอ้อมในภายหลังก็ได้ เช่น ดูว่าร้องเพราะมีมดแมลง หรือยุงกัด หรือร้องเพราะหิวนมมาก พ่อแม่ควรเลือกทำกิจกรรมที่สำคัญกว่าเป็นอันดับแรกก่อน และควรยืดหยุ่นได้ตามสถานการณ์ค่ะ
ทั้ง 4 วิธีนี้ พ่อแม่ควรทำแบบค่อย ๆ เป็นค่อย ๆ ไป แต่ต้องทำอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง เมื่อลูกน้อยเติบโตขึ้น เขาจะเข้าใจระเบียบวินัยและปฏิบัติตามได้ โดยไม่รู้สึกว่าถูกบังคับค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
ปีที่ 29 ฉบับที่ 338 มีนาคม 2554