เมื่อหนูไม่ยอมคลาน (M&C แม่และเด็ก)
7-9 เดือน เติบโตแข็งแรง
พ่อแม่มือใหม่หลาย ๆ คนคงเกิดคำถามประเภทนี้บ่อย ๆ หากลูกน้อยไม่ค่อยยอมคืบคลานเลย ควรทำยังไงดี เป็นใครก็ต้องแปลกใจค่ะ เห็นลูกบ้านโน้นบ้านนี้ คลานไวเป็นลิงจนไล่จับไม่ทัน กลับมามองที่ลูกเรา แค่คืบกระดี๊บ ๆ นิดหน่อยยังไม่มีเลยกลุ้มใจจริงแท้!! หัวอกพ่อแม่
ทำไมลูกไม่คลาน
พัฒนาการข้ามขั้น พัฒนาการมีช้า มีเร็วกันได้ค่ะ อย่าคิดมากเลย จะช้าจะเร็วกว่าเกณฑ์นี้นิดหน่อยก็ไม่เป็นไร เด็กบางคนแอ็คทีฟหน่อย ก็คืบคลานได้ตั้งแต่ 6-7 เดือน แต่บางคนอาจเริ่มคืบคลานได้ตอน 10 เดือนขึ้นไปก็มี หรือบางทีมีพัฒนาการข้ามขั้น ไม่คลานแต่ลุกขึ้นเกาะยืนเลยก็มี นอกเสียจากว่าลูกทำได้ช้ากว่าเกณฑ์มาก ก็ให้พาไปให้คุณหมอตรวจดูค่ะ
การเลี้ยงดู การคลานถือเป็นพัฒนาการที่ยากสำหรับเด็กมาก ๆ ค่ะ เพราะต้องใช้การประสานงานของกล้ามเนื้อหลาย ๆ อย่าง แต่ส่วนหนึ่ง การคืบคลานได้ช้าก็อาจเกิดจากผู้เลี้ยง กลัวโน่นกลัวนี่ นิดหน่อยก็อุ้มแล้ว อย่าให้เด็กติดอุ้มค่ะ ควรปล่อยให้ได้เล่นตามอิสระ มีโอกาสใช้กล้ามเนื้อส่วนแขน ขา และหลังบ่อย ๆ ค่ะ
กระตุ้นวันละนิด วันละหน่อย
ให้ลองสังเกตกล้ามเนื้อแขน ขา ลำตัว ของลูก ถ้าแข็งแรงดี แต่ไม่ยอมคลานสักที ถ้าเป็นแบบนี้ต้องมีการกระตุ้นกันสักหน่อยแล้ว อาจจะหาของเล่นที่มีสีสันสดใส มีเสียงร้อง เคลื่อนไหวได้ วางล่อในระยะที่ห่างออกไป หรือให้คนทั้งบ้านมายืนอีกที่หนึ่ง คอยให้กำลังใจ แล้วร่วมด้วยช่วยกันตะโกนเสียงน่ารัก ๆ ให้ลูกให้หลานคืบคลานไปเลยค่ะ เริ่มแรกควรเริ่มในระยะทางใกล้ ๆ สักหน่อย หากระยะทางไกลมาก ๆ เจ้าหนูของเราอาจท้อแท้เอาเสียก่อนก็ได้ แล้วอย่าลืมชมเชยทุก ๆ ครั้ง เมื่อลูกทำสำเร็จนะ ถือเป็นยาหอมชั้นดีให้ลูกมีความพยายามมุมานะต่อไป
เมื่อหนูคลาน...บ้านต้องปลอดภัย
ก้มตัวลงบนพื้นและมองข้าวของรอบตัวจากมุมมองของเด็ก
เก็บสิ่งของเล็ก ๆ ออกไป เช่น เหรียญที่ตกอยู่ใต้เฟอร์นิเจอร์ กระดุมเม็ดเล็ก ๆ ชิ้นส่วนของเล่นขนาดจิ๋ว เป็นต้น
เคลื่อนย้ายของประเภทต่าง ๆ ที่สามารถดึงได้ เช่น สายโทรศัพท์ สายไฟฟ้า หรือผ้าม่าน เป็นต้น
ปิดปลั๊กไฟด้วยตัวปิดรูแบบทั่ว ๆ ไป
ปิดทางกั้นที่บันไดชั้นบนสุดและล่างสุด
เก็บบ้านให้เป็นระเบียบเรียบร้อย เน้นให้โล่ง ๆ เข้าไว้
แข่งคลานกันไหม! ลูกจ๋า
ถือเป็นการกระตุ้นที่ดีอีกหนึ่งอย่างค่ะ โดยให้คุณพ่อคุณแม่ลงคลานข้าง ๆ เด็ก ทำเหมือนกับว่า กำลังแข่งขันกันอยู่ อาจทำท่าแกล้งคลานนำขึ้นไปนิดหน่อย แล้วบอกให้เขาทำตาม โดยมีการพูดคุยด้วยน้ำเสียงที่สนุกสนาน หัวเราะ ยิ้มแย้มสดใสเข้าไว้ เพียงไม่นาน เขาก็สามารถทำตามเราได้ ของอย่างนี้ขึ้นอยู่กับความพยายามค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
ปีที่ 34 ฉบับที่ 468 กุมภาพันธ์ 2554