สร้าง MQ ในหัวใจวัยเตาะแตะ (Mother & Care)
คุณแม่หลายท่านคงจะคุ้นเคยกับการสร้าง IQ, EQ (ระดับสติปัญญา และระดับความฉลาดทางอารมณ์) ให้ลูกน้อยกันพอสมควรแล้ว ฉบับนี้จะพาคุณแม่มาทำความรู้จักกับ MQ (MORAL QUOTIENT) หมายถึงระดับสติปัญญาทางด้านศีลธรรม คุณธรรมของบุคคลที่รู้สำนักถึงความถูกต้องว่า สิ่งใดถูก หรือสิ่งใดผิด และเทคนิคการเลี้ยงลูกเพื่อให้เกิด MQ ของเด็กในวัยขวบปีแรกค่ะ
MQ กับวัยเตาะแตะ การเลี้ยงเด็กอ่อนนั้น คุณแม่อาจยังไม่ได้คำนึงถึงเรื่องการปลูกฝังความรู้สึก หรือความคิดด้านคุณธรรมจริยธรรมให้กับลูก และอาจสงสัยว่าเด็กในวัยขวบปีแรก จะสามารถพัฒนาเรื่อง MQ ได้จริงหรือ ?
คำตอบคือ เด็กสามารถซึมซับพฤติกรรมตั้งแต่อยู่ในครรภ์แล้วค่ะ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรอารมณ์ดี คิดดี ทำดีอยู่เสมอ และถึงแม้ลูกจะอยู่ในช่วงขวบปีแรก ลูกจะเลียนแบบโดยไม่เข้าใจความหมาย แต่นั่นเป็นการปลูกฝังความดีงามให้จิตใจน้อย ๆ เปรียบเสมือนการเตรียมดินที่ดีไว้ สำหรับปลูกต้นไม้ให้เจริญเติบโตเป็นไม้ใหญ่ที่ดี และสวยงามต่อไปค่ะ
เลี้ยงลูกด้วยนมแม่
เพราะนมแม่เป็นอาหารกายและใจที่ดีสุด และเป็นช่วงเดียวที่ลูกได้อาหารกาย อาหารใจ พร้อมกัน
ให้ความรักความอบอุ่นกับลูกอย่างเต็มที่
เป็นการสร้างสายสัมพันธ์ สร้างความไว้วางใจของลูกให้เกิดขึ้น ซึ่งการไว้วางใจเป็นพื้นฐานของการมองโลกในแง่ดี จะส่งผลให้ลูกมีพื้นฐานด้านคุณธรรม จริยธรรมที่ดีต่อไปในอนาคตด้วย
สอนให้ลูกไหว้
คุณแม่สามารถจับมือเด็กไหว้ พร้อมกับสอนให้ "สวัสดีจ้า" หรือ "ขอบคุณจ้า" เป็นการกระตุ้นให้เด็กรู้จักการเคารพ
ใช้นิทานเป็นสื่อ
หานิทานที่มีเนื้อหาของเรื่องต้องไม่ยาวมาก แต่มีคติสอนใจ สอนให้ทำความดี สอนให้ช่วยเหลือผู้อื่น อ่านให้เด็กฟังทุกวันเพื่อซึมซับเรื่องราวเหล่านี้ค่ะ
ใส่ใจเรื่องศาสนา
ปลูกฝังให้ลูกมีส่วนร่วมในกิจกรรมเกี่ยวกับศาสนา เช่น พาไปใส่บาตร พาลูกไปวัดบ่อย ๆ และฝึกให้ลูกไหว้พระประจำวันก่อน เข้านอน หรือปฏิบัติตามหลักศาสนาที่นับถืออยู่
ฝึกให้ลูกรู้จักแบ่งปัน
ฝึกให้ลูกมีน้ำใจ ไม่หวงของรู้จักแบ่งปันของให้คนอื่น เช่น บอกลูกว่า "แบ่งขนมให้แม่กินบ้างสิจ๊ะ" หรือ "แบ่งของเล่นให้เพื่อนเล่นด้วยสิจ๊ะ" แต่ต้องไม่ใช่การบังคับ เพราะเด็กในวัยนี้ ยังยึดตนเอง เป็นศูนย์กลาง ควรทำให้เป็นแบบอย่าง และเมื่อลูกทำได้ ก็ชมเชยให้กำลังใจลูก
สอนลูกให้รู้จักขอโทษ
เมื่อลูกเผลอตีเพื่อน ทำเพื่อนเจ็บ หรือทำสิ่งต่าง ๆ ที่ไม่ดีกับคนรอบข้าง คุณแม่ต้องบอกลูกให้รู้จักขอโทษพร้อมกับบอกเหตุผลด้วยทุกครั้ง ว่าสิ่งที่เขาทำไม่ดีอย่างไร โดยไม่ดุลูกแรง ๆ ค่ะ
อย่าละเลยคำชมเชย
เมื่อลูกทำตัวน่ารัก เชื่อฟัง คุณพ่อคุณแม่ควรชมเชยลูกบ้างว่า "ลูกเป็นเด็กดีนะจ๊ะ" หรือ "ลูกแบ่งของให้เพื่อน ลูกน่ารักมากจ้ะ" เพราะการที่ลูกได้ยินคำพูดเหล่านี้ จะส่งเสริมให้ลูกเห็นคุณค่าของการทำดี
พ่อแม่ต้องเป็นต้นแบบที่ดี
ทั้งการคิด พูด กระทำ แต่สิ่งที่ดี ๆ โดยเริ่มจากเรื่องง่า ยๆ คือการไม่โกหกลูก และต้องรักษาสัญญาที่ได้ให้ไว้กับเขา แม้จะเป็นเรื่องเล็กน้อยก็ตาม
ความสม่ำเสมอ
ข้อนี้สำคัญมากค่ะ เพราะการจะปลูกฝังสิ่งหนึ่งสิ่งใดกับเด็กนั้น ต้องอาศัยความต่อเนื่องค่ะ โดยเฉพาะการสร้าง MQ หรือคุณธรรมในหัวใจลูกน้อย ต้องมีความสม่ำเสมอจนเป็นกิจวัตร ย่อมดีกว่าการฝึกเพียงประเดี๋ยวประด๋าวแน่นอนค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
Vol.7 No.75 มีนาคม 2554