มารู้จักบ้านเรียนกันดีกว่า

แม่และเด็ก

มารู้จักบ้านเรียน
(modernmom)
เรื่อง : นภชา

           "Home School" เคยเป็นกระแสทางเลือกการศึกษาที่ผิดหวังกับหลักสูตรโรงเรียนอยู่ช่วงระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งไม่ต่างกับปัจจุบันที่ระบบการศึกษาไทยดูจะตีบตัน Modern Mom จึงจะพาคุณพ่อคุณแม่ไปรู้จักกับ Home School ตั้งแต่ที่มาที่ไปหลักสูตร รวมไปถึงแนวทางปฏิบัติด้วยค่ะ

Home School มาจากไหน

Home School ถือกำเนิดขึ้นจาก 3 สาเหตุหลัก ได้แก่

           1. เด็กเล็กเมื่อเริ่มเข้าสู่ระบบโรงเรียนก็จะป่วยบ่อย เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายยังไม่สมบูรณ์ดีพอ พอแม่ก็มีความรู้สึกว่าจะส่งลูกไปหาเชื้อโรคทำไม

           2. ยุคหนึ่งผู้หญิงทำงานในบ้าน ผู้ชายออกไปทำงานนอกบ้าน แม่ก็สอนลูกเองได้

           3. เหตุผลที่ต้องทำ Home School ก็เพราะว่าบ้านอยู่ไกลโรงเรียนมาก เช่น ในออสเตรเลียหรือนิวซีแลนด์ ประชากรแกะมากกว่าคนอีก การเดินทางข้ามเขาไป 5 ลูกไม่เวิร์ก แต่ละบ้านก็ต้องรับสัญญาณดาวเทียม แล้วก็มาจัดหลักสูตรสอนกันเองที่บ้าน

           สำหรับ Home School ในไทยใช้ว่า "บ้านเรียน" ให้เห็นว่าบรรยากาศจะเป็นบ้าน การที่พ่อแม่หรือผู้ปกครองจัดกระบวนการเรียนการสอนให้กับลูก โดยใช้บ้านเป็นสถานที่

ความแตกต่างของ Home School กับระบบโรงเรียน

           บ้านเรียนจะต่างกับระบบโรงเรียน ที่มีหน่วยงานต้นสังกัดดูแลชัดเจนในเรื่องของหลักสูตร มีตัวระยะเวลา ช่วงชั้นเวลาเรียนมีสาระการเรียนรู้ แล้วก็มีกระบวนการวัดผลที่ชัดเจนอีกด้วย เพราะมีตัวหน่วยงานที่เฝ้ากำกับติดตามแล้วก็ดูแลคุณภาพ มีการประกันคุณภาพภายในภายนอก ซึ่งบ้านเรียนไม่มี

           ประเทศไทยเรามีหน่วยงานแต่ว่ายังไม่ได้ทำหน้าที่ให้เข้มแข็ง และสมบูรณ์อย่างที่ควรจะเป็น เป็นแค่ลักษณะฝากแต่บันทึก เพราะฉะนั้น ชมรมเครือข่ายผู้ปกครองของประเทศไทย ก็ต้องสร้างชมรมเครือข่ายผู้ปกครองบ้านเรียนขึ้นมาด้วยตัวเอง ต้องจัดระบบ แล้วต่อสู้รณรงค์ด้วยเอง ไม่มีหน่วยงานของรัฐเข้ามาต่อสู้ให้ ทั้งที่จริง ๆ เขามีสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติการศึกษา ว่าเด็กทุกคนต้องได้รับสิทธิและการดูแลเท่าเทียมกัน

           ส่วนคุณสมบัติของการเป็นครู ครูในโรงเรียนขณะนี้จะบังคับอย่างชัดเจนว่าต้องจบปริญญาตรี และมีใบประกอบวิชาชีพครู ในขณะที่บ้านเรียนไม่มีการบังคับหรอก เพราะจะไปบังคับพ่อแม่ว่าคุณต้องจบปริญญาตรีครุศาสตร์ก่อนถึงจะทำ Home School ได้ ก็จะถูกพ่อแม่ต่อต้าน และจะไม่ได้รับงบประมาณสนับสนุนเงินเรียนฟรี 15 ปี

บ้านเรียนในประเทศไทย

           บ้านเรียนในประเทศไทยจะมี 3 อย่างด้วยกัน หนึ่ง พ่อแม่สอนเอง สอง พ่อแม่ที่ทำบ้านเรียนมารวมกลุ่มกันแล้วช่วยกันดูแลลูกช่วยกันสอน บ้านไหนถนัดคณิตศาสตร์ก็สอนคณิตศาสตร์ ใครไม่ถนัดก็ดูแลเรื่องของดนตรีหรืออาหารไป และเห็นมีแบบที่สามที่จ้างคนอื่นมาเป็นคนสอน แต่ใช้บรรยากาศของที่บ้าน ออกแนวทำตามกระแส อยากทำแต่สอนไม่เป็น แล้วจ้างคนอื่นมาสอน ซึ่งก็ผิดหลักอีก เพราะเรารู้ว่าพ่อแม่คือครูคนแรกของลูก และเด็กเรียนรู้จากชีวิตจริงดีที่สุด เด็กเรียนรู้จากพ่อแม่เป็นตัวต้นแบบ แล้วจะได้ความรักความเอื้ออาทร แล้วโดยกฎหมาย คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องเอาลูกไปจดทะเบียนไว้กับโรงเรียนทางเลือก เช่น โรงเรียนมูลนิธิเด็ก ที่เมืองกาญจน์ แล้วก็จะต้องสอบเพื่อการวัดผลไปใช้ในการเข้ามหาวิทยาลัย หรือการจะเรียนเข้าระบบอย่างสอบการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.)

           ขณะนี้บ้านเรียนในบ้านเราที่ทำกันอยู่ ดร.วรนาท รักสกุลไทย ให้ข้อมูลว่าไม่น่าจะเกิน 300 ครอบครัวทั่วประเทศ เพราะว่าดูจากสถิติเมื่อไม่นานเมื่อ 5-6 ปีที่แล้ว มีวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับเรื่องบ้านเรียน ก็บอกว่าที่ทำกันจริง ๆ ประมาณ 150-200 ครอบครัว แล้วตอนนี้กระแสเบาลงไปเยอะ ก็คาดว่าไม่น่าจะเกิน 300 ครอบครัว ซึ่งถ้าเทียบกันคือยังน้อยมาก แล้วก็จะทำอยู่กับเด็กเล็กส่วนใหญ่ด้วย

คุณภาพการเรียน

           มิติการดูเปรียบเทียบคุณภาพค่อนข้างซับซ้อน เพราะถ้าจะมาดูคะแนนผลสัมฤทธิ์กันอย่างเดียว ก็ไม่ยุติธรรมกับเด็กที่เรียนบ้านเรียน เพราะการเรียนการสอนก็ต่างกันคุณลักษณะของผู้สอนก็ต่างกัน เชื่อว่าพ่อแม่ที่ทำบ้านเรียน ความรู้ความสามารถบางอย่างอาจจะดีกว่าครูก็ได้ และต้นทุนชีวิตของเด็ก ต้นทุนทางปัญญารวมถึงความแตกต่างระหว่างบุคคลของเด็กอีก เด็กแต่ละคนไม่เหมือนกันไม่สามารถที่จะตัดสินง่าย ๆ เพียงแค่การดูเชิงคุณภาพ ซึ่งคงต้องให้มีการทำงานวิจัยเพื่อที่จะได้ดูข้อมูลได้ลึกขึ้น แต่จริง ๆ วัตถุประสงค์ของการทำบ้านเรียนของพ่อแม่ ก็หวังความสุขของชีวิตลูก เรื่องเอาคะแนนไม่ใช่เรื่องสำคัญค่ะ

หัวใจของการทำบ้านเรียน

           1. พ่อแม่ต้องรู้จักธรรมชาติของลูกตัวเองก่อน เข้าใจจิตวิทยาในการรับมือเด็กในวัยเล็ก การสร้างให้เด็กสนุกกับการเรียนรู้ทำยังไงต้องเข้าใจ เพราะพ่อแม่บางคน แม้กระทั่งพ่อแม่ที่ส่งลูกไปโรงเรียนแล้วล้มเหลวก็เพราะไม่เข้าใจ เอาประสบการณ์ตัวเองมาเป็นฐานว่าต้องท่องจำ อ่านเขียน

           2. ต้องเข้าใจหลักวิธีการสร้างหลักสูตร แล้วรู้ด้วยว่าการทำบ้านเรียนไม่ใช่ว่าไม่มีตารางในการเรียนนะ อย่างบทความของ ดร.พัชรี ที่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ซึ่งเคยใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวหนึ่งที่มิสซูรี่ที่ทำบ้านเรียนให้ลูกวัยอนุบาล เขามีตารางแต่ละวันว่าตื่นเช้าขึ้นมาทำอะไร ดูแลกิจวัตรประจำวันของตัวเองเสร็จแล้วก็มาอ่านหนังสือกับแม่ แล้วไม่ใช่อ่านแบบสนุกอย่างเดียว แม่ต้องเชื่อมโยงไปยังภาษาว่าคำนี้อ่านว่าอย่างนี้ แล้วจะไปปรากฏที่หน้าไหนของหนังสืออีกไหม อ่านเหมือนกันหรือเปล่า ไม่ใช่ลูกเหนื่อยแล้วจะไปดูทีวี ไปเล่นนอกบ้าน ลูกก็ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ แล้วพ่อแม่ก็ต้องหมั่นดูหลักสูตรของโรงเรียน เพื่อเป็นบันไดให้เกาะได้อย่างดีว่า ลูก 3 ขวบทำอะไรได้บ้าง 4 ขวบทำอะไรได้บ้าง ป.1 ต้องทำอะไรกันบ้าง เพราะคงไม่อยากแบบเลี้ยงลูกมา 3 ปีเต็ม ๆ จะเข้า ป.1 แล้ว ปรากฏว่าละเลยในเรื่องสาระการเรียนรู้ที่ลูกควรจะรู้ไป

           3. เป้าหมายหนึ่งก็คือเขาต้องเรียนรู้ทักษะการประกอบอาชีพต่อไป พื้นฐานทักษะชีวิตมนุษย์ พื้นฐานเขาต้องมี ทักษะชีวิตในเรื่องของภาษา การคิดวิเคราะห์ การแก้ปัญหา การเอาใจเขามาใส่ใจเรา ที่สำคัญในวัยเด็กเล็ก ลูกต้องมีสมาธิ แต่ใช้คำว่าช่วงความสนใจดีกว่า พ่อแม่ไม่เข้าใจว่าต้องสอนลูกให้มีส่วนริเริ่ม และตัดสินใจตั้งแต่วัยนี้แล้วจะได้เลือกเป็น คิดเป็น ขณะเดียวกันพ่อแม่ที่ทำบ้านเรียน ก็ต้องดูกรณีศึกษาจากหลาย ๆ ครอบครัวที่ทำแล้ว เกิดปัญหาอะไรบ้างจะได้มาอุดช่องโหว่ คนที่ทำบ้านเรียนเนี่ยต้องกล้ามหาญ ต้องกล้าหาญมาก ต้องทนต่อเสียงรอบด้านด้วย

           4. ลูกต้องการสังคม ซึ่งระบบสนับสนุนแบบนี้ พ่อแม่ก็ต้องแสวงหาค่ะ กิจกรรมที่พิพิธภัณฑ์เด็กมีกลุ่มทำเวิร์กช็อปสำหรับเด็กในวัย 5 ขวบไหม เอาลูกไปร่วมด้วย เลี้ยงลูกให้เป็นตัวของตัวเอง อย่าเลี้ยงลูกให้แตกต่าง เพราะว่าเขาเองจะไม่มีความสุขหลายคนก็พาลูกไปทำบุญที่วัดในวันพระ หรือพาไปแหล่งเรียนรู้ต่างๆ ที่มีพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ พิพิธภัณฑ์เด็ก ไปสวนสัตว์ไปสวนสาธารณะ หรือฉกฉวยโอกาสจากเด็กแถวบ้าน ก็สร้างภูมิคุ้มกันกับลูกเราให้เล่นกับคนอื่นเป็น

           5. พ่อแม่ต้องมีความอดทนและมั่นคง เพราะมีค่าใช้จ่ายพอควรมีพ่อแม่หลายคนบอกว่า ณ จุดหนึ่งค่าใช้จ่ายมันสูง เพราะจะทำงานได้คนเดียว แต่ถ้าพ่อแม่ออกไปทำงานแล้วเรียนโรงเรียนรัฐบาล เรียนฟรี ก็ต่างกันนะ ตรงนี้บางคนอาจจะคิดว่าประหยัดเงินดีไม่ต้องเสียค่ารถ ไม่ต้องเสียค่าศึกษา แต่จริง ๆ ไม่ใช่ คุณพ่อคุณแม่คนไหนที่กำลังคิดว่าจะทำ Home School กับเจ้าตัวเล็กที่บ้านก็น่าจะพอได้แนวทางและแนวคิดเรื่องของ Home School มากขึ้นนะคะ อาจจะทดลองทำดูก่อน หรือมีไว้เป็นอีกหนึ่งตัวเลือก สำหรับการเลือกการศึกษาของลูกก็ไม่เสียหลายค่ะ

           Home School เปรียบเทียบคุณภาพของบ้านเรียนกับโรงเรียนค่อนข้างซับซ้อน เพราะถ้าจะมาดูคะแนนผลสัมฤทธิ์กันอย่างเดียว ก็ไม่ยุติธรรมกับเด็กที่เรียนบ้านเรียน เพราะการเรียนการสอนก็ต่างกัน คุณลักษณะของผู้สอนก็ต่างกัน





ขอขอบคุณข้อมูลจาก

Vol.16 No.184 กุมภาพันธ์ 2554

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
มารู้จักบ้านเรียนกันดีกว่า อัปเดตล่าสุด 20 พฤษภาคม 2554 เวลา 16:10:11 1,731 อ่าน
TOP
x close