4 ปัญหาเรื่องผิวผิว ของเจ้าตัวเล็ก

แม่และเด็ก

4 ปัญหาเรื่องผิวผิว ของเจ้าตัวเล็ก
(Mother & Care)

          เข้าสู่หน้าร้อนทีไร ทั้งผด ผื่น คัน ถามหาผิวอันบอบบางของลูกน้อย ฉบับนี้เราจะพามาไขปัญหาแบบเจาะลึกกับแพทย์หญิงฐิตาภรณ์ วรรณประเสริฐ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคผิวหนังเด็ก กับ 4 เคสตัวอย่างปัญหาผิวพรรณของลูกน้อยวัยแบเบาะกันค่ะ

เคสที่ 1 ต่อมไขมันอักเสบ

          น้องต้นหอม วัย 3 เดือน มีอาการหนังศีรษะลอกเป็นแผ่นหนา ๆ และมีคราบคล้ายขี้ผึ้งบาง ๆ อยู่รอบศีรษะรวมทั้งมีผื่นแดงขนาดเล็ก ๆ ขึ้นอยู่รอบหลังหูและบริเวณคิ้วด้วย

          คุณหมอบอกมา น้องต้นหอมเป็น โรค Seborric dermatitis หรือเซ็บเดิร์ม เกิดจากการอักเสบของผิวหนังบริเวณที่มีต่อมไขมันอยู่จำนวนมาก เช่น หนังศีรษะ คิ้ว และใบหน้า เป็นโรคที่พบได้บ่อยในเด็กเล็ก ส่วนใหญ่เริ่มมีอาการอายุ 3-12 สัปดาห์ เกิดจากการอักเสบจากการเพิ่มจำนวนของเชื้อยีสต์ (Pityrosporum ovale) ซึ่งปกติจะอยู่ในรูขุมขนและกินไขมันและโปรตีนของผิวหนังเป็นอาหาร ผื่นจะมีลักษณะเป็นขุยสีขาวหรือสีเหลืองอ่อนกระจายทั่วศีรษะ โดยผมไม่ร่วงและจะพบผื่นบริเวณใบหน้า หลังหู คิ้ว หน้าอกและตามซอกข้อพับหรือบริเวณอวัยวะเพศร่วมด้วยได้

          วิธีดูแล-ป้องกัน โรคนี้อาการไม่รุนแรง ส่วนใหญ่อาการจะดีขึ้นตอนอายุ 6-8 เดือน และอาจจะมีอาการอีกครั้งช่วงเข้าสู่วัยรุ่น คุณแม่ควรเลือกใช้แชมพูและผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กนะคะ หลีกเลี่ยงที่มีน้ำหอม เพราะอาจทำให้แพ้และผื่นเพิ่มมากขึ้น ถ้าปฏิบัติตามแล้วอาการไม่ดีขึ้นควรไปพบคุณหมอเฉพาะทาง

          การรักษา ใช้น้ำมันมะกอกทาบริเวณศีรษะหมักไว้ 15 นาที แล้วล้างออกด้วยน้ำอุ่น จะช่วยลดปริมาณสะเก็ด ถ้าเป็นมากควรหมักน้ำมันมะกอกทิ้งไว้ 8-12 ชั่วโมง และล้างออกตอนเช้า อาจใช้ยาสระผมที่มีส่วนประกอบของยาในกลุ่ม ketoconazole สระผมแล้วหมักทิ้งไว้ 10 นาที แล้วล้างออก 3 ครั้งต่อสัปดาห์ สำหรับการใช้ยาในบริเวณที่มีผื่น อาจใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์ชนิดอ่อนหรือยาในกลุ่ม ketoconazole โดยผื่นบริเวณใบหน้าหรือคิ้วควรใช้ยาที่เป็นครีม สำหรับบริเวณศีรษะใช้ยาที่เป็นโลชั่นจะสะดวกกว่า และไม่จำเป็นต้องโกนผมเพื่อทายา เพราะยาเป็นโลชั่นน้ำสามารถทาบริเวณศีรษะได้ง่ายอยู่แล้ว แต่ก่อนใช้ยาควรปรึกษาคุณหมอก่อน

เคสที่ 2 ผิวมีผดหนอง

          น้องฝนชมพู วัย 4 เดือนครึ่ง มีตุ่มแดงขึ้น บางตุ่มเป็นตุ่มน้ำเล็กๆ ผิวหนังรอบตุ่มจะเป็นสีแดงขึ้นตามข้อพับและซอกขา และเริ่มเป็นหนอง และมีไข้

          คุณหมอบอกมา แนะนำให้คุณแม่พาน้องฝนมาพบคุณหมอที่โรงพยาบาลนะคะ เพราะน้องเริ่มมีไข้แล้ว ตุ่มแดงอาจเกิดจากเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคอีสุกอีใสได้ค่ะ ลักษณะตุ่มจะเริ่มจากตุ่มสีแดงแล้วกลายเป็นตุ่มน้ำ รอบ ๆ ตุ่มจะค่อนข้างแดง ต่อมาจะกลายเป็นตุ่มหนองได้ แต่โรคอีสุกอีใสส่วนใหญ่ผื่นจะขึ้นเป็นชุด ๆ ลักษณะสำคัญคือ จะเห็นผื่นหลาย ๆ ระยะในบริเวณเดียวกัน นอกจากที่ผิวหนังแล้วยังพบตุ่มในปากหรือบริเวณศีรษะร่วมด้วยได้

          วิธีดูแล-ป้องกัน ปัจจุบันมีวัคซีนโรคอีสุกอีใส สามารถลดอัตราการเกิดโรคและความรุนแรงของโรคได้ค่ะ โดยเริ่มฉีดเมื่ออายุ 1 ปี วัคซีนมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคได้ร้อยละ 95-98 มีความปลอดภัยสูง และช่วยลดโอกาสในการเกิดโรคงูสวัด เด็กๆ ที่ฉีดวัคซีนแล้วยังมีโอกาสเป็นโรคได้ แต่อาการของโรคและผื่นจะรุนแรงน้อยกว่าค่ะ

          การรักษา ดูแลแผลและกินยากลุ่มแอนติฮีสตามีนร่วมด้วย (เนื่องจากน้องฝนอายุ 4 เดือนครึ่ง ยาในกลุ่มนี้หมออาจพิจารณาเป็นพิเศษอีกครั้งนะคะ) ถ้าผื่นรุนแรงหรือมีภูมิคุ้มกันของร่างกายบกพร่อง ควรรับการรักษาในโรงพยาบาล เพื่อฉีดยา acyclovia เข้าทางหลอดเลือดดำ และเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อน เช่น ปอดบวมหรือติดเชื้อแบคทีเรียค่ะ

          สำหรับเคสน้องฝนชมพู ยังมีอีกโรคที่มีอาการไข้ร่วมกับผื่นที่มีลักษณะเป็นตุ่มน้ำ คือ โรค มือ เท้า ปาก (Hand foot mouth disease) สาเหตุเกิดจากเชื้อ Entero virus นะคะ โดยสามารถติดได้จากการกินอาหารและทางระบบทางเดินหายใจ ผื่นจะมีลักษณะเป็นผื่นแดงราบ แล้วกลายเป็นตุ่มน้ำใสขนาดเล็ก พบที่ปาก ลิ้น แขน ขาโดยผื่นจะมักพบบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า และก้น ในเด็กเล็ก ๆ จะพบมีผื่นช่วงที่มีไข้อยู่ได้ ผื่นส่วนใหญ่จะไม่คัน และอาการของโรคไม่รุนแรงนะคะ ยกเว้น ที่เกิดจากเชื้อ enterovirus 71 ที่มีรายงานการเกิดเยื่อหุ้มสมองอักเสบตามมาได้ค่ะ

เคสที่ 3 ผิวติดเชื้อแบคทีเรีย

          น้องไอซ์ วัย 10 เดือน มีตุ่มขึ้นบริเวณแก้ม และตามแขนขามีตุ่มขึ้นเม็ดไม่เท่ากัน บางตุ่มใหญ่ บางตุ่มเล็ก ขึ้นเป็นปื้น ๆ และตกสะเก็ดเป็นขุยขาว ๆ บางตุ่มจะมีน้ำเหมือนน้ำเหลืองไหลซึมออกมาด้วย

          คุณหมอบอกมา น้องไอซ์น่าจะติดเชื้อแทคทีเรียที่เรียกโรค impetigo นะคะ สำหรับโรค impetigo เป็นการติดเชื้อของผิวหนัง บริเวณหนังกำพร้า ผื่นเริ่มแรกจะเป็นเม็ดแดง ๆ ต่อมาอาจกลายเป็นตุ่มน้ำใส แตกและแห้งกลายเป็นสะเก็ดสีขาวปนเหลือง หรือน้ำตาลอ่อน บางครั้งอาจมีน้ำเหลืองซึมออกมาได้ ส่วนใหญ่จะพบผื่นบริเวณลำตัวใบหน้า และขา

          วิธีดูแล-ป้องกัน ควรตัดเล็บลูกให้สั้นและล้างมือบ่อย ๆ ทำความสะอาดผิวหนัง เสื้อผ้า เพื่อช่วยลดอัตราการเกิดโรค เนื่องจากผื่นคัน เมื่อเกาบริเวณที่มีตุ่มหนองหรือแผล เชื้อจะไปอยู่ที่นิ้วมือ เล็บ หรือผ้าเช็ดตัว รอยถลอกจากการเกาจะทำให้การติดเชื้อลามไปบริเวณอื่นๆ ทั่วร่างกาย ขณะที่มีผื่นไม่ควรให้น้องไอซ์เล่นคลุกคลีกับเด็กคนอื่น ๆ เพราะโรคอาจติดต่อได้โดยการสัมผัส

          การรักษา กินยาปฏิชีวนะ กลุ่ม cloxacillin หรือ erythromycin 7-10 วัน บริเวณที่มีน้ำเหลืองซึมให้รักษาโดยวิธี wet dressing คือ ใช้ผ้ากอซชุบน้ำเกลือหรือน้ำยา Burow’s solution ประคบแผลทิ้งไว้ 10 นาที วันละ 2-3 ครั้ง และทายาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย กลุ่ม mupirocin หรือ fucidic acid เช้า-เย็น ถ้ามีอาการคันมา ให้กินยากลุ่มแอนติฮีสตามีนร่วมด้วย

เคสที่ 4 ผื่นผ้าอ้อม

          น้องมายด์ วัย 3 เดือน อาการมีผื่นสีแดงขึ้นตามบริเวณต้นขาด้านใน อวัยวะเพศ และก้น ตอนนี้ตุ่มที่ขึ้นเริ่มเป็นตุ่มน้ำใส ๆ ด้วยค่ะ

          คุณหมอบอกมา น้องมายด์เป็นผื่นผ้าอ้อม หรือ Diaper dermatitis ส่วนใหญ่พบบ่อยในเด็กเล็ก อายุ 3-18 เดือน พบบริเวณที่สวมผ้าอ้อม ระยะแรกผื่นแดงพบตามส่วนนูนที่สัมผัสกับผ้าอ้อมที่เปียกขึ้น ได้แก่ บริเวณต้นขาด้านใน ก้นอวัยวะเพศ ผิวหนังบริเวณที่อยู่ลึกที่ไม่สัมผัสกับผ้าอ้อมจะไม่มีผื่น ต่อมาผื่นจะแดงมากขึ้น เป็นตุ่มนูน หรือตุ่มน้ำ และรอยถลอกได้ สาเหตุเกิดได้จากหลาย ๆ ปัจจัย เช่น สัมผัสสารระคายเคือง ปัสสาวะและอุจจาระ หรือแพ้สารสัมผัส

          วิธีดูแล-ป้องกัน ทำความสะอาดผิวหนังให้แห้งอยู่เสมอหลังปัสสาวะและอุจจาระ ควรล้างด้วยน้ำสะอาด แล้วซับให้แห้ง ถ้าใช้ผ้าอ้อมที่เป็นผ้า ควรเปลี่ยนผ้าอ้อมให้ลูกทันทีหลังปัสสาวะและอุจจาระ ผ้าอ้อมควรซักด้วยสบู่หรือน้ำยาสำหรับเด็กที่ลูกไม่แพ้ และล้างให้สะอาด เปลี่ยนผ้าอ้อมบ่อย ๆ เพื่อลดการอับชื้น สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่ใช้ผ้าอ้อมสำเร็จรูปให้ลูก ควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐาน สวมใส่สบาย ดูดซับและระบายอากาศได้ดี ร่วมกับการใช้ผลิตภัณฑ์เคลือบผิวอย่างเหมาะสม จะช่วยลดการเกิดผื่นได้ สำหรับบริเวณรอบ ๆ ทวารหนัก ถ้ามีผื่นแดงงหลังถ่ายเหลวนาน ๆ การทาสารเคลือบ เช่น zinc oxide ซึ่งมีส่วนประกอบของสังกะสี จะช่วยป้องกันไม่ให้ผิวสัมผัสกับอุจจาระและปัสสาวะโดยตรง และช่วยป้องกันการอับชื้นได้ด้วย

          การรักษา การรักษาขึ้นกับความรุนแรงและสาเหตุของผื่น บริเวณที่มีผื่นแดง ใช้ยาทาสเตียรอยด์ชนิดอ่อน ร่วมกับการใช้ผลิตภัณฑ์เคลือบตัว บริเวณที่มีผื่นแดงไม่ควรทาแป้ง เนื่องจากจะทำให้ยาดูดซึมได้ยาก น้องมายด์มีการติดเชื้อแทรกซ้อน โดยเริ่มเป็นตุ่มน้ำใส ซึ่งจะแตกออกเป็นแผลถลอกได้ ให้รักษาการติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย และไม่ควรใช้เข็มบ่งบริเวณตุ่มน้ำ เนื่องจากจะทำให้การติดเชื้อเพิ่มขึ้นค่ะ ถ้าอาการไม่ดีขึ้นควรไปพบคุณหมอนะคะ เนื่องจากมีผื่นที่เกิดจากการแพ้สัมผัสจากสารที่ใช้ทา หรือสัมผัสบริเวณผ้าอ้อม เช่น ยางยืดในผ้าอ้อมสำเร็จรูป สารกันเสียในสบู่ หรือผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดเสื้อผ้าที่ทำให้เกิดผื่นลักษณะนี้ได้ค่ะ

Tips ดูแลผิวลูกในหน้าร้อน

          หลังจากเช็คตัวเจ้าตัวน้อยให้แห้งหลังจากการอาบน้ำ ควรทาโลชั่นบำรุงผิวที่มีส่วนผสมของอโรเวล่า ก็ช่วยให้คลายร้อนให้ลูกได้

          เลือกแป้งเด็กที่มีส่วนผสมของน้ำมันยูคาลิปตัส (Eucalyptus Oil) ซึ่งมีประสิทธิภาพในการบรรเทา และป้องกันการระคายเคืองของผิวจากผื่นความร้อน หรือทีทรีออยล์ (Tea Tree Oil) สารสกัดจากพืชธรรมชาติ มีประสิทธิภาพช่วยป้องกัน และยับยั้งแบคทีเรีย ต้นเหตุของผดผื่นที่เกิดจากความร้อน

          เลือกเสื้อผ้าที่ระบายความร้อนได้ดี เช่น ผ้าป่านที่บางเบา โปร่งสบาย หรือผ้าฝ้ายธรรมชาติให้การระบายอากาศได้ดี เพราะเนื้อผ้าจะไม่ดูดซับความร้อน แต่จะกระจายถ่ายเทความร้อนได้ดีค่ะ


   คลิกอ่านความคิดเห็นของ เพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ     


ขอขอบคุณข้อมูลจาก

Vol.7 No.76 เมษายน 2554

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
4 ปัญหาเรื่องผิวผิว ของเจ้าตัวเล็ก อัปเดตล่าสุด 23 พฤษภาคม 2554 เวลา 10:55:37 9,631 อ่าน
TOP
x close