x close

เลี้ยงยังไง! ลูกไม่กลัวพลัดพราก

baby

เลี้ยงยังไง! ลูกไม่กลัวพลัดพราก
(Mother&Care)

           เมื่อย่างเข้าขวบปีแรก ลูกรักเริ่มเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น อยากทำอะไรต่าง ๆ ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องการให้พ่อแม่ช่วย แต่บางครั้ง เมื่อสถานการณ์เริ่มไม่เป็นอย่างที่คิดเขาก็เริ่มมองหาตัวช่วยแล้วซิ...พ่อแม่หนูหายไปไหนล่ะเนี่ย?

           หากบางที คุณพ่อคุณแม่อาจมีธุระปะปัง หรืออยากมีเวลาสวีทหวานเป็นการส่วนตัว เพื่อเติมเต็มชีวิตคู่กันบ้างล่ะก็งานนี้คงนำเจ้าตัวเล็กไปด้วยคงไม่เหมาะแน่แท้ จึงฝากฝังไว้กับพี่เลี้ยงที่ไว้ใจได้ดูแลแทน ครั้นนั้น จึงรอเวลาลูกรักเผลอเล่นสนุกสนานจนเพลิน ก่อนจะใช้วิชาตัวเบาชิ่งหนีเพื่อไม่ให้ลูกน้อยรู้ตัว

           แต่เอ...ตามประสาคนเป็นพ่อเป็นแม่ ยิ่งคิดก็กังวลในใจ ปล่อยลูกไว้ หากไม่เห็นเราล่ะ จะร้องหาไม่หยุดไม่หย่อนหรือเปล่า? ซึ่งตามประสานักจิตวิชาได้อธิบายความสัมพันธ์ระหว่าง พ่อแม่ลูก เมื่อถึงคราวที่ต้องแยกจากกันไว้ 4 ข้อด้วยกัน

           ก. แบบมั่นคงปลอดภัย เด็กสามารถอยู่กับคนอื่น คืออาจเล่นกับพี่เลี้ยง หรือเด็กคนอื่น ๆ ได้ หากไม่มีพ่อแม่อยู่ในสายตา แต่ก็อาจเกิดความกังวลขึ้นมาบ้าง หากพ่อแม่แยกจากไปชั่วคราว แต่เมื่อเวลาเรากลับมา เขาจะยิ้มแย้มเป็นการต้อนรับแทนที่จะร้องไห้

           ข. แบบต่อต้าน เด็กประเภทนี้ จะเกาะติดแม่เหมือนปาท่องโก๋ ชีวิตนี้ คงพรากจากกันสักเสี้ยววินาทีไม่ได้ ร้องไห้ไม่หยุดแน่ ๆ และยิ่งเข้าสู่สังคมภายนอก ยิ่งแล้วใหญ่ค่ะ ไม่สนใจเล่นกับใครทั้งนั้น จะอยู่แต่กับแม่ตัวเองเท่านั้น

           ค. แบบหลีกเลี่ยง หากเปรียบเทียบเด็กลักษณะนี้ คงเป็นประเภทชาเย็น เอ๊ย! เย็นชา ทั้งอารมณ์ดีใจ-เสียใจ-อารมณ์ดี-เศร้า คงมีอยู่แค่หน้าเดียว คือไม่มีอาการอะไรทั้งสิ้นทั้งเวลาแม่จะแยกจาก หรือเวลากลับมา

           ง. แบบขึ้น ๆ ลง ๆ ถือว่า เป็นเด็กที่มีอารมณ์ศิลปินสูง อาจเรียกว่า เป็นอาร์ตตัวพ่อตัวแม่ก็ได้ค่ะ เดาใจลำบาก อารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ ไม่แน่นอน บางครั้งอยากเกาะติด บางครั้งก็ไม่ฉันอยู่คนเดียวได้ ประมาณนั้นค่ะ
ลองเลือกดูค่ะว่ามีข้อไหนตรงกับลูกท่านบ้าง (คุณแม่บางท่านอาจชูมือขึ้น และถามด้วย ความอยากรู้ว่า มีข้อ จ.ถูกทุกข้อ ไหมคะ)

           ซึ่งคำตอบที่ถูกต้องนั้นคือแต่น..แตน..แต๊น (กรุณาช่วยแอ๊บตื่นเต้นตามไปด้วยนิดนึงค่ะ) คือความสัมพันธ์แบบมั่นคงปลอดภัยค่า ฟังแค่ชื่อก็โอเคแล้วใช่ไหมคะ ซึ่งความสัมพันธ์ชนิดนี้ถือเป็นมาตรฐาน ISO เลยว่า เป็นพื้นฐานที่ดีช่วยให้ลูกสามารถปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์แยกจากกันชั่วคราวได้


เรื่องราวผู้หญิง ความสวยงาม แฟชั่น ความรัก มากมาย คลิกเลย

คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ



ขอบคุณข้อมูลจาก

ปีที่ 33 ฉบับที่ 456 กุมภาพันธ์ 2553

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เลี้ยงยังไง! ลูกไม่กลัวพลัดพราก อัปเดตล่าสุด 17 กุมภาพันธ์ 2553 เวลา 16:37:32
TOP