x close

ลูกขาดโกรว์ธฮอร์โมนหรือเปล่า???

baby

ลูกขาดโกรว์ธฮอร์โมนหรือเปล่า???
(รักลูก)

           การเจริญเติบโตอย่างสมวัยของลูกน้อย คือสิ่งที่พ่อแม่ทุกคนคาดหวัง แต่ถ้าลูกเริ่มมีการเจริญเติบโตลดลงหรือช้ากว่าเด็กในวัยเดียวกัน อาจจะมีผลมาจากการขาดโกรว์ธฮอร์โมนค่ะ

โกรว์ธฮอร์โมน มาจากไหน

           โกรว์ธฮอร์โมน (Growth Hormone) เป็นฮอร์โมนเกี่ยวกับการเจริญเติบโตของคนเราค่ะ ฮอร์โมนนี้ถูกสร้างมาจากต่อมใต้สมองส่วนหน้าที่ชื่อว่า พิทูอิทารี แกลนด์ (Pituitary gland) ซึ่งอยู่ตรงกลางของศีรษะ ทำหน้าที่สร้างฮอร์โมนหลากหลายชนิด รวมถึงโกรว์ธฮอร์โมนด้วยค่ะ

           โกรว์ธฮอร์โมนไม่ได้มีผลเฉพาะเรื่องการเจริญเติบโตเพียงอย่างเดียวนะคะ แต่ยังส่งผลต่อการทำงานของระบบเมตาบอลิซึมระบบการทำงานของน้ำตาล และเสริมสร้างการทำงานของกระดูกและกล้ามเนื้อ

           ในเด็กที่อายุยังไม่ถึง 20 ปี จะพบว่ามีฮอร์โมนกลุ่มนี้อยู่ในระดับสูงค่ะ แต่เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ ระดับของฮอร์โมนนี้ก็จะลดลง เพราะไม่ต้องการการเจริญเติบโตแล้ว แต่ฮอร์โมนนี้จะไปช่วยเผาผลาญไขมัน และคาร์โบไฮเดรตแทน

3 สาเหตุขาดโกรว์ธฮอร์โมน

         พันธุกรรม โรคที่ถ่ายทอดจากพ่อแม่มายังรุ่นลูกรุ่นหลาย แต่เกิดขึ้นได้น้อย

         ไม่ทราบสาเหตุ โดยต่อมใต้สมองจะทำงานผิดปกติ โครงสร้างของต่อมทำงานผิดปกติ และโครงสร้างของต่อมถูกทำลาย

         มีก้อนเนื้องอกหรือซีสต์ กดหรือเบียดทับต่อมใต้สมอง ทำให้ต่อมนี้ไม่สามารถสร้างฮอร์โมนได้

           เด็กที่มีปัญหาเรื่องขาดโกรว์ธฮอร์โมนคุณหมอจะหาสาเหตุว่ามาจากอะไร เช่น ถ้าพบว่ามีก้อนเนื้องอกไปกดทับ ก็จะต้องผ่าตัดเอาเนื้องอกออกก่อน แต่หากหาสาเหตุไม่ได้ก็จะจัดรวมอยู่ในกลุ่มที่ขาดฮอร์โมน โดยไม่ทราบสาเหตุ

วิธีรักษา

           ต้องฉีดโกรว์ธฮอร์โมนเข้าร่างกาย (ไม่มีในรูปการรับประทานค่ะ) โดยจะต้องฉีดโกรว์ธฮอร์โมนเข้าใต้ผิวหนังที่หน้าขาของเด็กก่อนนอนอาทิตย์ละ 6-7 วันค่ะ และต้องฉีดฮอร์โมนต่อเนื่องไปจนกว่าจะได้ความสูงเป็นที่พอใจ

           ส่วนใหญ่การฉีดโกรว์ธฮอร์โมนจะใช้เวลาหลายบีและดูอายุกระดูกว่าพร้อมที่จะหยุดยาหรือยังด้วยค่ะ
การให้ยาตัวนี้ต้องระวังผลข้างเคียง เช่น ระดับน้ำตาลในเลือดสูง และต้องคอยติดตามเรื่องการเจริญเติบโต เด็กกลุ่มนี้ จึงต้องนัดติดตามผลทุก ๆ 3-6 เดือน

การสังเกต

           ถ้าเป็นเด็กวัยทารก มักจะคลอดออกมามีความยาวแรกคลอดปกติ จึงไม่สามารถตรวจได้ด้วยการชั่งน้ำหนักหรือวัดส่วนสูง แบบธรรมดาได้ แต่ถ้าติดตามดูเด็กไปประมาณ 1-2 ขวบ จะพบว่าเด็กไม่ค่อยสูงขึ้น ลำตัวไม่ยาวขึ้น และถ้ามีการตรวจร่างกาย อาจจะพบความผิดปกติบางอย่างร่วมด้วย เช่น เด็กบางคนจะมีปากแหว่ง เพดานโหว่ บางคนมีอวัยวะเพศเล็ก อาการเหล่านี้จะเกิดร่วมกับภาวะที่เด็กไม่ค่อยโตรวมทั้งอาจจะมีอาการชักจากระดับน้ำตาลในเลือดต่ำร่วมด้วยค่ะ

           แต่ถ้าเป็นเด็กวัยอนุบาล จะพบว่าตัวเตี้ยกว่าเพื่อนร่วมชั้นเรียน รูปร่างดูค่อนข้างอ้วนจ่ำม่ำ อาจได้ประวัติว่าเด็กไม่เคยเปลี่ยนขนาดของรองเท้าเลย อาการที่พบจะมีมากหรือน้อย ต้องขึ้นอยู่กับการขาดโกรว์ธฮอร์โมนว่ามากหรือน้อยค่ะ

เกณฑ์วัดการเจริญเติบโต

           ปัจจุบันมีการวัดการเจริญเติบโตของเด็กตั้งแต่แรกเกิด ด้วยกราฟสำหรับวัดการเจริญเติบโต เป็นเครื่องมือที่พ่อแม่และคุณครูสามารถติดตามผลการเจริญเติบโตของเด็กได้จากสมดุดสุขภาพเด็ก

           การใช้กราฟจะแยกเป็นเด็กผู้ชายและเด็กผู้หญิง มีรายละเอียดของส่วนสูงและน้ำหนักที่เหมาะสม โดยสามารถสัดส่วนสูงและน้ำหนักของลูกได้ทุก ๆ 6 เดือนถึง 1 ปี ซึ่งถ้าเราติดตามผลกราฟไปเรื่อย ๆ แล้วพบว่าเด็กมีกราฟตกลง หรือวัดครั้งแรกก็ต่ำกว่ามาตรฐาน แสดงว่าอาจผิดปกติ หรือกรณีที่พ่อแม่สูงมากแต่ลูกตัวเล็กก็อาจจะผิดปกติได้ ต้องให้คุณหมอตรวจหาสาเหตุ

           การตรวจด้วยกราฟเป็นเพียงการตรวจเบื้องต้น ถ้าลูกเริ่มเข้าข่ายว่า มีปัญหาเรื่องขาดโกรว์ธฮอร์โมน ก็ต้องมาตรวจโดยละเอียด ด้วยการเอกชเรย์อายุกระดูกที่ข้อมือด้านซ้ายของเด็ก และนำไปเทียบกับเกณฑ์มาตรฐาน ถ้าเป็นเด็กที่ขาดโกรว์ธฮอร์โมนจะมีอายุกระดูกน้อยกว่าความเป็นจริง เช่น อายุจริง 7 ขวบ แต่มีอายุกระดูก 3 ขวบ

           นอกจากนี้ยังต้องไปทดสอบทางการแพทย์ด้วยการตรวจเลือด ซึ่งต้องมีขั้นตอนการทดสอบทางฮอร์โมน ให้ยากระตุ้นฮอร์โมนและวัดผล จากนั้นก็ต้องไปเอกซเรย์ว่าต่อมใต้สมองผิดปกติหรือไม่ มีก้อนเนื้อไปกดทับหรือไม่ เพื่อคุณหมอจะได้รักษาต่อไป

           ถ้าเป็นเด็กปกติแล้วอยากสูง คุณหมอแนะนำว่าไม่ควรฉีดโกรว์ธฮอร์โมนเพิ่มความสูง เพราะการฉีดฮอร์โมนเข้าร่างกายต้องวินิจฉัยตามขั้นตอนของแพทย์อย่างละเอียด และต้องดูประวัติของคุณพ่อคุณแม่ประกอบด้วย และอาจจะเกิดผลข้างเคียงของฮอร์โมนได้

Tips

เสริมสร้างโกรว์ธฮอร์โมนให้ลูกน้อย

         พักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ

         รับประทานอาหารให้หลากหลายและครบ 5 หมู่ตามวัย

         ไม่รับประทานอาหารที่มีรสหวานจัด

         ออกกำลังกายสม่ำเสมอ

           โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ได้จัดทำศูนย์การเจริญเติบโตและติดตามการเจริญเติบโต เพื่อตรวจกรองเด็กที่ผิดปกติด้านการเจริญเติบโต สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติบได้ที่ โทร. 0 2256 4989


เรื่องราวผู้หญิง ความสวยงาม แฟชั่น ความรัก มากมาย คลิกเลย

คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ



ขอขอบคุณข้อมูลจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ลูกขาดโกรว์ธฮอร์โมนหรือเปล่า??? อัปเดตล่าสุด 23 กุมภาพันธ์ 2553 เวลา 14:36:23
TOP