x close

รักแรกพบ ของแม่กับลูก

baby - mom

รักแรกพบ ของแม่กับลูก
(momypedia)
โดย: วิกันย์ดา

              รักไหนจะสำคัญเท่ารักกับแม่ลูก แล้วรักแรกพบเป็นอย่างไร เชื่อว่ารักไหน ๆ ก็ไม่รวดเร็วเท่ารักนี้ ก็รักระหว่างแม่และลูกน้อยไงคะที่ต่างคนต่างตกหลุมรักกันตั้งแต่แรกเห็นเลยล่ะ ตั้งแต่แรกเกิด ทารกน้อยก็พร้อมที่จะผูกสัมพันธ์กับแม่แล้ว เห็นตัวเล็ก ๆ อย่างนี้เถอะ มีความสามารถเต็มเปี่ยมเชียวค่ะ โดยเฉพาะความสามารถในการเรียนรู้ที่จะสร้างความสัมพันธ์หรือสื่อสารโต้ตอบ เพื่อให้แม่รู้ว่าหนูก็รักแม่เช่นกัน ซึ่งเริ่มจาก..

หน้าอย่างนี้ แม่หนู

              ภายในไม่กี่ชั่วโมงหลังคลอด ทารกก็สามารถแยกแยะหน้าตาของแม่จากหน้าของคนอื่นได้ แถมยังจำได้ด้วยค่ะว่าหน้าอย่างนี้คือแม่ฉัน ฉะนั้นแม่อย่าลืมยื่นหน้าให้ลูกเห็นบ่อย ๆ ซึ่งถ้าคุณอุ้มลูกแนบอกขณะให้นม ก็จะเป็นระยะที่สายตาลูกมองเห็นได้ชัดพอดีค่ะ (ประมาณ 8-10 นิ้วจากหน้าลูก)

มือหนูจับมั่น

              ลองยื่นนิ้วไปที่ฝ่ามือเล็กๆของทารกสิคะ คุณจะเห็นว่ามือเล็กๆนั้นจะกำนิ้วคุณแน่นชนิดไม่ปล่อยเชียว จนคุณสามารถดึงลูกจากท่านอนขึ้นมาเป็นท่านั่งได้เลยล่ะซึ่งเป็นปฏิกิริยาอัตโนมัติ และลูกก็ชอบด้วย

แม่อยู่ไหน หนูจะไปให้ถึง

              เห็นตัวเล็กอย่างนี้ แต่เต็มล้นไปด้วยความมุ่งมั่นพยายามนะคะ ชนิดที่ถ้าเห็นแม่อยู่ตรงไหน แกก็จะพยายามกระเถิบตัวเองบ้าง คืบบ้าง หรือยื่นแขนยื่นขาเพื่อจะไปหาแม่ เพื่อสื่อสารให้แม่รู้ว่าหนูอยากให้แม่อุ้มนะ หรืออยากให้แม่มานอนใกล้ๆพูดคุยกับหนู

กลิ่นแม่ หนูจำได้

              ทารกจะจำกลิ่นแม่ได้ค่ะ เรียกว่าอย่ามาหลอกกันซะให้ยากเลย ยังไงก็หันหาน้ำนมแม่ถูกก็แล้วกัน

เสียงแม่เพราะจัง

              เจ้าตัวเล็กจะชอบฟังเสียงพูด ร้องเพลงของคนค่ะ โดยเฉพาะถ้าเป็นเสียงแม่จะให้ความอบอุ่นมั่นคงเป็นพิเศษ จนนอนหลับสบายเชียวล่ะ

              ไม่ใช่เพียงทารกน้อยหรอกค่ะที่มีความพร้อมอยู่ในตัวในการสร้างความสัมพันธ์กับแม่ได้อย่างรวดเร็ว ตัวแม่เองก็มีสัญชาติญาณของความเป็นแม่เช่นกัน ที่ช่วยให้สามารถสนองตอบลูกน้อยได้อย่างเหมาะสม แม้ช่วงหลังคลอดใหม่ ๆ แม่อาจจะรู้สึกกังวลใจ กลัวเลี้ยงลูกไม่ถูกหรือเลี้ยงลูกไม่เป็นอยู่บ้าง แต่ด้วยความรักที่คุณมีให้ลูกน้อยและด้วยสัญชาติญาณของความเป็นแม่ จะทำให้แม่ค่อย ๆ เรียนรู้จากลูกมากขึ้น รู้ว่าลูกร้องอย่างนี้หมายความว่าอะไร หิว ทำเปียก ปวดท้อง หรือโกรธ ที่สำคัญความสัมพันธ์ของแม่และลูกนี้ จะเป็นเหมือนบทเรียนพื้อนฐานของชีวิตลูกในการสร้างปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นในอนาคตด้วย

              และช่วงเวลาที่ดีที่สุดสำหรับการเรียนรู้จักกัน การแสดงความรักและความผูกพันที่มีให้กันระหว่างแม่และลูก ก็คือช่วงที่แม่อุ้มทารกน้อยขึ้นแนบอกอุ่นขณะให้นม ว่ากันว่าเป็นเวลาทองของการสร้างความสัมพันธ์เลยนะคะ โดยนักจิตวิทยาพัฒนาการเด็กมีคำแนะนำให้แม่ปฏิบัติดังนี้ขณะอุ้มลูกให้นมค่ะ

สัมผัสแห่งรัก

              การสัมผัสด้วยความรักของแม่เป็นมีความสำคัญต่อทารกน้อยมาก โดยเฉพาะยามที่ทารกอารมณ์ไม่ดี โยเย อ้อมแขนของคุณที่กอดแกจะช่วยให้ลูกรู้สึกอบอุ่นปลอดภัยจนคลายความกลัวหรือหงุดหงิดในที่สุดค่ะ

สายตาอบอุ่น

              แม้การมองของทารกน้อยจะทำได้ในระยะที่จำกัด แต่ลูกก็ชอบที่จะประสานสายตากับแม่ และโปรดระลึกไว้เสมอเลยค่ะว่าทารกน้อยนั้นสามารถแยกแยะหน้าตาของแม่จากคนอื่นได้ ดังนั้นแม่จึงควรอุ้มลูกในระยะที่เห็นหน้ากันใกล้ ๆ หน่อย อย่าห่างเกิน 8-10 นิ้ว แล้วอย่าลืมที่จะมองไปที่ดวงตาของลูก พูดคุย ยิ้มกับลูกขณะที่ให้นมลูกด้วย

รู้สึกไว

              การเลี้ยงลูกจะเป็นเรื่อง่ายมากเชียวค่ะถ้าคุณเข้าใจภาษาทางร่างกายที่ลูกน้อยแสดงออกมา (นอกเหนือไปจากภาษพูด ซึ่งลูกวัยทารกยังทำไม่ได้) เช่น ลักษณะการร้องและการเคลื่อนไหวของร่างกายลูกที่แตกต่างกันก็สื่อความหมายหรือสื่อความต้องการของทารกที่ต่างกันด้วย ซึ่งถ้าคุณรู้สึกไวต่อเรื่องนี้ คุณก็จะตอบสนองลูกน้อยได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว

ปลอบโยน

              ความสามารถในการปลอบโยนลูกน้อยให้สงบจากการร้องหรือโยเย เป็นความสามารถเฉพาะตัวค่ะ ของใครก็ของใคร แม่จะเอามาเปรียบกันไม่ได้ เพราะทารกแต่ละคนมีความเป็นตัวของตัวเองซึ่งแม่เท่านั้นที่จะรู้ดีที่สุดว่าลูกของตนเป็นอย่างไร ชอบให้ปลอบแบบไหน ซึ่งแน่นอนกว่าที่แม่จะเข้าใจลูกน้อยได้ดีเช่นนี้ก็ต้องใช้เวลาปลอบผิดปลอบถูกไปไม่น้อย

เชื่อมั่นและมั่นใจ

              ถ้าแม่มีความมั่นใจในความเป็นแม่ของตนเอง ก็จะช่วยให้มั่นใจในการเลี้ยงลูกด้วยว่าตนเองมีความสามารถ ตนเองเลี้ยงลูกได้ และเมื่อเกิดความั่นใจกิริยาท่าทางหรือการปฏิบัติต่อลูกไม่ว่าจะเป็นการอุ้ม การเอาลูกเข้านอน การอาบน้ำ เป็นต้น ก็จะเต็มเปี่ยมไปด้วยความมั่นคง ไม่เงอะงะ ห่วงหน้าพะวงหลัง หรือวิตกกังวลจนเกินไป ซึ่งลูกน้อยไม่ชอบที่จะอยู่ในภาวะเงอะงะของแม่หรอกค่ะก็บอกแล้วว่าทั้งแม่และลูกน้อยต่างก็พร้อมที่จะรัก สร้างและสานความสัมพันธ์ให้แนบแน่นมั่นคงยิ่งๆขึ้น ซึ่งไม่ใช่เรื่องยากเลยใช่ไหมจ๊ะแม่จ๋า

Tip

แม่จ๋า..หนูทำได้

              แม่จ๋า รู้ไหม แม้หนูจะเป็นทารกน้อย เพิ่งลืมตาดูโลกมาได้แค่ปีเดียวแต่ด้วยความรักของแม่และพ่อที่อุ้มชูหนูมาตลอด หนูมีความสามารถมากมายที่อยากอวดจ้ะ

หนูทำอะไรได้ เมื่ออายุเท่าไหร่บ้าง

              ยิ้มใสใส 6 สัปดาห์

              ยกศีรษะมองพ่อแม่ 7 สัปดาห์ครึ่ง

              กลิ้งตัวไปมาซ้ายขวา-ขวาซ้าย 19 สัปดาห์

              หลับสนิทตลอดคืน 5 เดือน

              นั่งได้แล้ว 5 เดือนครึ่ง

              พูดอือๆออๆแบบหนูๆ 4 เดือนครึ่ง

              หยิบกินเองแล้วนะ 9 เดือนครึ่ง

              ฟันขาวๆโชว์โฉม 6 เดือนครึ่ง

              นั่งกระเถิบตัวไปมา 7 เดือนครึ่ง

              ยืนตั้งไข่ 9 เดือนครึ่ง

              เรียกแม่ได้ 10 เดือนครึ่ง

              ก้าวเดินแล้วจ้ะ 11 เดือนครึ่ง

เรื่องราวผู้หญิง ความสวยงาม แฟชั่น ความรัก มากมาย คลิกเลย


 

คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ



ขอขอบคุณข้อมูลจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
รักแรกพบ ของแม่กับลูก อัปเดตล่าสุด 25 กุมภาพันธ์ 2553 เวลา 15:24:38 1,698 อ่าน
TOP