x close

ยาอันตรายของแม่ตั้งครรภ์ 1

ตั้งครรภ์

ยาอันตรายของแม่ตั้งครรภ์ 1
(modernmom)

           คุณแม่หรือหญิงที่เตรียมตัวจะเป็นคุณแม่มักมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการใช้ยาขณะตั้งครรภ์ และระหว่างให้นมบุตรว่าจะมีผลต่อการตั้งครรภ์ รวมไปถึงกระทบกับทารกในครรภ์ความกังวลเหล่านี้ จะหมดไปเมื่อคุณแม่ทราบถึงข้อเท็จจริงในเรื่องของการใช้ยา

           ก่อนจะพูดถึงผลกระทบที่เกิดจากยานั้น ขออธิบายให้ทราบถึงพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์เรื่องการใช้ยาเพื่อให้คุณแม่เข้าใจก่อนครับ

           Teratogen หมายถึงสารที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของตัวอ่อนหรือทารกในครรภ์ และทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างถาวรของรูปร่าง ในส่วนของการทำหน้าที่ของอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย ซึ่งปัจจุบัน Teratogen จะหมายรวมถึงสารเคมี สิ่งแวดล้อม เชื้อไวรัส ปัจจัยทางฟิสิกส์ และยาชนิดต่างๆ ด้วย

ระยะอันตรายจากการใช้ยา

           ยาที่มักจะใช้กันบ่อยระหว่างตั้งครรภ์ ได้แก่ ยาแก้อาเจียน ยาแก้แพ้ ยาแก้ปวด ยาแก้อักเสบ ยารักษาสิว ยาลดความดันโลหิต ยากล่อมประสาท ยาขับปัสสาวะ สารเสพติด หรือยาต้องห้าม (Illicit Drug) ได้แก่ ยาประเภท Amphetamine, Barbiturate, Benzodiazepine, Cannabis cocaine, Methadone, Opiate, Phencyclidine ส่วนผลกระทบที่เกิดขึ้นกับยานั้นขึ้นอยู่ตามช่วงอายุครรภ์ของคุณแม่ดังต่อไปนี้คือ

        icon 1. ช่วงตั้งแต่ไข่ได้รับการปฏิสนธิจนกระทั่งมีการฝังตัวของตัวอ่อนลงบนเยื่อบุโพรงมดลูก โดยทั่วไปอาจเรียกช่วงนี้ว่า All or None Period ซึ่งหากเกิดการทำลายเซลล์ไปเป็นจำนวนมากในช่วงนี้ ก็จะทำให้เกิดการตายของตัวอ่อนตามมา แต่หากมีการทำลายไปเพียงเล็กน้อย เซลล์ก็จะสามารถปรับตัวซ่อมแซม และเกิดการพัฒนาต่อไปตามปกติได้

        icon 2. Embryonic period นับตั้งแต่สัปดาห์ที่ 4 จนถึงสัปดาห์ที่ 10 ซึ่งมีความสำคัญ เพราะเป็นช่วงของการสร้างอวัยวะของทารก จึงนับว่าเป็นช่วงวิกฤติต่อการเกิดความผิดปกติของอวัยวะที่สำคัญ

        icon 3. Maturation and Functional Development เริ่มตั้งแต่สัปดาห์ที่ 11 ของการตั้งครรภ์ ในช่วง Fetal Period นี้อวัยวะสำคัญต่างๆ จะยังไม่มั่นคงและเปลี่ยนแปลงได้ง่าย เช่น สมองยังคงมีความไวต่อแอลกอฮอล์ หรือการเปลี่ยนแปลงของการไหลเวียนของโลหิตจากหัวใจ ซึ่งในช่วง Fetal Period นี้อาจส่งผลให้เกิดความผิดปกติของหัวใจ ได้แก่ หัวใจด้านซ้ายเจริญผิดปกติ หรือหลอดเลือดแดงเอออร์ตาตีบได้

           การที่ยาจะออกฤทธิ์และก่อให้เกิดผลกระทบกับตัวอ่อนหรือทารกในครรภ์ นอกจากจะขึ้นกับช่วงอายุครรภ์ดังกล่าวข้างต้นแล้ว ยังขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของยา และระยะของการให้ยาว่ายาวนานเพียงใด

ยาอันตรายของแม่ตั้งครรภ์

           หลังจากที่รู้ถึงช่วงเวลาวิกฤติกันแล้ว คุณแม่คงต้องระมัดระวังการใช้ยาในระยะต่าง ๆ และปรึกษาแพทย์เมื่อไม่แน่ใจ และถ้าจะให้ดีที่สุด การให้คำปรึกษาควรทำตั้งแต่ก่อนที่จะตั้งครรภ์ แต่ในความเป็นจริงหญิงตั้งครรภ์ส่วนใหญ่ก็มักจะได้รับคำปรึกษาหลังจากที่ตั้งครรภ์ไปแล้ว อย่างไรก็ดีโดยทั่วไปยาที่ใช้เป็นประจำจะค่อนข้างมีความปลอดภัยและสามารถใช้ได้ในหญิงตั้งครรภ์ มียาเพียงไม่กี่ชนิดที่เป็นอันตรายกับทารกในครรภ์จริง ๆ

           ในความเป็นจริงการเกิดความผิดปกติโดยกำเนิด ในประชากรทั่วไปอยู่ที่ประมาณร้อยละ 3 แต่หากได้รับสาร Teratogen ก็อาจเพิ่มความเสี่ยงขึ้นอีกประมาณร้อยละ 1-2 อย่างไรก็ตามยาทุกชนิด ก็มีทั้งประโยชน์และโทษ ซึ่งหากโรคบางอย่างที่ควรได้รับยาดังกล่าว แต่กลับไม่ได้รับการรักษาอาจมีผลเสียต่อทั้งมารดาและทารกมากกว่า

           การที่ยาจะออกฤทธิ์ และก่อให้เกิดผลกระทบกับตัวอ่อน หรือทารกในครรภ์ นอกจากจะขึ้นกับช่วงอายุครรภ์แล้ว ยังขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของยา และระยะของการให้ยาว่ายาวนานเพียงใด

           ยาทุกชนิด มีทั้งประโยชน์และโทษ ซึ่งโรคบางอย่างที่ควรได้รับยาดังกล่าว แต่กลับไม่ได้รับการรักษา อาจมีผลเสียต่อทั้งมารดา และทารกมากกว่า

ยาที่ได้รับการพิสูจน์และมีหลักฐานทางการแพทย์ที่พบว่ามีผลต่อทารกในครรภ์ มีดังนี้ครับ

        Alcohol : Ethyl Alcohol : เป็น Potent Teratogen ตัวหนึ่งที่รู้จักดีในปัจจุบัน เด็กที่ได้รับผลกระทบจากสารในกลุ่มนี้จะมีอาการของโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด และมีความผิดปกติของข้อต่อกระดูก เช่นเดียวกับการเจริญเติบโตไม่เต็มที่ และหลุกหลิกร้องกวนโยเย ในช่วงปีแรกๆ นั้นจะตามด้วยปัญหาการพัฒนาและการเจริญเติบโตช้า และการทำงานร่วมกันของร่างกายผิดปกติ ร่วมกับปัญหาอื่น ๆ อีกได้แก่ ปัญญาอ่อน สมาธิสั้น ความบกพร่องทางการเรียนรู้บกพร่องทางประสาทสัมผัส โรคสมองพิการ โรคลมชักหรือบ้าหมู

           นอกจากนี้จะมีความผิดปกติของใบหน้าที่จำเพาะ คือ ตาหยีเล็กและรอยพับของผิวหนังข้างจมูกสั้น ใบหน้าส่วนกลางบกพร่องอันได้แก่ รอยหยักระหว่างริมฝีปากบนกับฐานจมูกเรียบ และริมฝีปากบนบาง

        Anticonvulsant Medication : หญิงที่เป็นโรคลมชักจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดทารกผิดรูป บางการศึกษาพบว่า ถึงจะไม่ได้กินยาใดๆ เลยก็ตามยังมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น รายงานความผิดปกติที่สัมพันธ์กับมารดาที่เป็นโรคลมชักที่พบบ่อย (ไม่ว่าจะกินยาหรือไม่ก็ตาม) ได้แก่ ปากแหว่งและหัวใจผิดปกติโดยกำเนิด โดยปากแหว่งจะพบมากขึ้นถึง 10 เท่า

        Werfarin Compound : ยาป้องกันโลหิตแข็งตัว (Caumadin Anticoagulant) ทารกที่ได้รับยานี้ขณะอยู่ในครรภ์จะมีความรุนแรงของอาการต่างกันไป ขึ้นอยู่กับอายุครรภ์ที่ได้รับ โดยมีตั้งแต่เสียชีวิตจนถึงมีความพิการทั้งร่างกายและทางสมองอย่างถาวร

        Vitamin A : จะมีอยู่สองรูปแบบในธรรมชาติ ได้แก่ เบต้าแคโรทีนเป็นสารตั้งต้นของ Provitamin A ที่พบในผักผลไม้ และไม่มีผลให้เกิดความผิดปกติของทารก อีกรูปแบบหนึ่งเรียกว่า Retinol เป็นสารตั้งต้นของวิตามินเอ มีหลายรายงานวิจัยที่ขัดแย้งกันเกี่ยวกับการได้รับวิตามินเอในปริมาณที่สูง ว่าจะมีผลให้เกิดความผิดปกติต่อทารกได้หรือไม่

           แต่อย่างไรก็ตามรายงานดังกล่าวยังขาดหลักฐานที่แน่ชัด เนื่องจากมีจำนวนผู้ป่วยที่น้อยเกินไปไม่มีขนาดที่แน่นอน ขาดแบบแผนการเกิดความผิดปกติที่ชัดเจน ถึงกระนั้นก็ควรหลีกเลี่ยงปริมาณยาที่มากกว่า 5000 IU

        Isotretinoin : หรือ 13-cis-retinoic acid เป็นสารที่มีประสิทธิภาพอย่างมากในการรักษาสิวหัวข้าง สารนี้ยังเป็นยาที่ใช้อย่างแพร่หลายและเป็นที่รู้จักกันดีถึงผลต่อทารกในครรภ์ โดยการได้รับ Isotretinoin ในไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์มักทำให้เกิดการแท้ง และเพิ่มอัตราการเกิดความผิดรูปมากขึ้นถึง 26 เท่า

           สารนี้มีผลต่ออวัยวะต่างๆ ได้หลายระบบ แต่โดยส่วนใหญ่ความผิดปกติที่พบอยู่ที่กะโหลกศีรษะ ใบหน้า หัวใจ ระบบประสารทส่วนกลาง และต่อมไทมัส อย่างไรก็ดีเนื่องจากยานี้มีค่าครึ่งชีวิตสั้นเพียง 12 ชั่วโมงเท่านั้น ดังนั้นการเกิดความผิดปกติของทารกจะไม่เพิ่มขึ้น ในหญิงที่หยุดใช้ยานี้ก่อนตั้งครรภ์

        Estinate : เป็น Retinoid (เป็นสารอนุพันธ์ของวิตามินเอ) ชนิดหนึ่งที่ใช้ในการรักษาโรคสะเก็ดเงิน และยังเป็นยาที่ทำให้เกิดความผิดปกติต่อทารกได้เช่นเดียวกันกับ Isotretinoin แต่จะแตกต่างกันตรงที่ความผิดปกติก็จะยังสามารถเกิดขึ้นได้ แม้การตั้งครรภ์นั้นเกิดขึ้นภายหลังสิ้นสุดการรักษาแล้วก็ตาม ดังนั้นหากเป็นไปได้หากคุณแม่ที่ต้องการจะมีลูกในอนาคตไม่ควรที่จะใช้ยานี้ หรืออย่างน้อยอาจจะต้องรอถึง 2 ปีภายหลังการหยุดยาจึงตั้งครรภ์

        Tretinoin : เป็น Trans-Retinoic Acid ส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปแบบเจลใช้ในการรักษาสิว นอกจากนี้ยังมีในรูปแบบยากิน ซึ่งเป็นยารักษามะเร็งใช้ในการรักษาโรคลิวคีเมีย ชนิด Acute Promyelocytic Leukemia ซึ่งขนาดยาที่ใช้จะสูงกว่าขนาดที่ใช้ภายนอกถึง 9,000-14,000 เท่า ในกรณีที่ใช้แบบเจลสารนี้จะซึมเข้าสู่ผิวหนัง ถูกย่อยสลายและดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น และไม่มีผลต่อทารกในครรภ์

           ยาอันตรายสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ยังไม่จบเพียงเท่านี้ ติดตามยาอันตรายอีก 2 กลุ่มที่เหลือได้ในตอนต่อไปครับ

เรื่องราวผู้หญิง ความสวยงาม แฟชั่น ความรัก มากมาย คลิกเลย

คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ



ขอขอบคุณข้อมูลจาก

Vol.15 No.173 มีนาคม 2553

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ยาอันตรายของแม่ตั้งครรภ์ 1 อัปเดตล่าสุด 29 มีนาคม 2553 เวลา 16:43:08 5,414 อ่าน
TOP