x close

แม่ท้อง...ใช้ยาอย่างไร จึงปลอดภัย



แม่ท้อง...ใช้ยาอย่างไร จึงปลอดภัย
(Mother & Care)

            การใช้ยารักษาอาการไม่สบายต่าง ๆ ในช่วงตั้งครรภ์ต้องมีความระมัดระวังมากขึ้น ถึงแม้ว่าจะเป็นยาสามัญหรือใช้บ่อยในช่วงก่อนตั้งครรภ์ก็ตาม เพราะหากใช้ยาโดยไม่ศึกษาหรือปรึกษาแพทย์ก่อนย่อมมีผลต่อการตั้งครรภ์ได้ ลองดูกันว่ายาชนิดใดที่คุณแม่สามารถใช้ได้เมื่อตั้งครรภ์ค่ะ

ยาแก้แพ้ท้อง

            อาการแพ้ท้องในช่วง 3 เดือนแรกมักทำให้คุณแม่มีอาการคลื่นไส้อาเจียน อ่อนเพลียและอาจเบื่ออาหารด้วย บางท่านอาจมีอาการรุนแรงจนทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง ขาดเกลือแร่และน้ำตามมา ซึ่งจะส่งผลไปยังทารกทำให้ขาดอาหาร น้ำหนักน้อย และอาจคลอดก่อนกำหนดได้ด้วย

            ยาที่ใช้ในการรักษาอาการแพ้ท้องที่ปลอดภัยได้แก่

            วิตามินบี 6 ขนาด 50 มิลลิกรัม แนะนำให้คุณแม่กินก่อนนอน 2 เม็ด แต่ถ้ามีอาการมากอาจกินหลังอาหารเช้าอีก 1 เม็ด และช่วงบ่ายอีก 1 เม็ด เพื่อบรรเทาอาการแพ้ท้อง

            ไดเมนไฮดริเนต (ดรามามีน) ขนาด 50 มิลลิกรัม ให้กินก่อนเวลาที่คาดว่าจะเกิดอาการประมาณครึ่งชั่วโมง ครั้งละ 1 เม็ด เพื่อป้องกันอาการแพ้ท้อง แต่ไม่ควรกินมากกว่าวันละ 3 ครั้ง ซึ่งยานี้จะช่วยบรรเทาอาการได้ดีปานกลาง แต่อาจทำให้เกิดอาการง่วงซึม มึน และปากแห้งได้
หากมีอาการแพ้ท้องไม่มากนักสามารถบรรเทาอาการได้โดยการทำใจให้สบาย ดื่มเครื่องดื่มร้อน ๆ ตอนเช้า (เช่น นม น้ำอุ่น น้ำขิง) หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด มันและมีกลิ่นแรง และหมั่นดื่มน้ำเปล่าเพื่อชดเชยการสูญเสียน้ำและเกลือแร่ของร่างกาย

            สำหรับยาแก้อาการวิงเวียน คลื่นไส้จากการเมารถยังสามารถใช้ได้ แต่ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาในระยะ 2 สัปดาห์ก่อนคลอดและหลีกเลี่ยงยาฉีด เพราะจะทำให้มดลูกบีบตัวมาก

ยาแก้หวัดและยาแก้แพ้

            อาการหวัดคัดจมูกและแพ้อากาศเป็นอาการที่พบได้บ่อยโดยเฉพาะในช่วงเปลี่ยนฤดูกาล ทำให้คุณแม่มีอาการแพ้ จามและน้ำมูกไหลได้ง่าย

            ยาแก้อาการหวัดและแก้แพ้ที่ปลอดภัย คือ

            ยาแก้แพ้คลอเฟนิรามิน กินเมื่อมีอาการแพ้คัน และช่วยลดน้ำมูก แต่มีผลข้างเคียงทำให้เกิดอาการปากแห้ง ง่วง ซึมได้ หลังจากกินยาจึงควรนอนหลับพักผ่อนเพื่อไม่ให้ร่างกายอ่อนเพลีย แต่ไม่ควรใช้ติดต่อกันนานเพราะจะทำให้เกล็ดเลือดต่ำ ทารกแรกเกิดอาจมีเลือดไหลผิดปกติ
สำหรับยาแก้แพ้ และยาลดน้ำมูกใช้ได้คือ โตรโปรลิดิน (แอนติเฟด) ถึงแม้ว่าจะยังไม่มีรายงานเรื่องความพิการของทารกจากผลข้างเคียงของการใช้ยานี้ แต่ก็ต้องใช้อย่างระมัดระวังและตามที่แพทย์สั่ง เท่านั้น ส่วนยาแก้แพ้บรอมเฟนนิรามิน ควรหลีกเลี่ยงในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์เพราะมีโอกาสทำให้ทารกพิการได้ จะทำให้เยื่อจมูกแห้งและอักเสบได้

            นอกจากนี้ยาแก้หวัดคัดจมูกที่เป็นชนิดหยดหรือพ่นจมูกก็สามารถใช้ได้ และมีความปลอดภัยเพราะเป็นยาใช้เฉพาะที่จึงไม่ถูกดูดซึมไปยังทารกในครรภ์ แต่ต้องพ่นหรือหยดให้ถูกต้อง ระวังไม่ให้ยากระจายไปทั่วโพรงจมูกและไม่ควรใช้ติดต่อกันนานเกิน 10 วัน จะทำให้เยื่อจมูกแห้งและอักเสบได้

ยาแก้ปวด ลดไข้

            อาการปวดหัวและเป็นไข้ หากนอนพักผ่อนแล้วไม่หายหรือมีอาการปวดเมื่อยตามร่างกายร่วมด้วย สามารถใช้ยาที่ปลอดภัยและคุ้นเคยกันดีอย่างพาราเซตามอล (ขนาด 500 มิลลิกรัม) ได้ โดยกินครั้งละ 1-2 เม็ด ทุก 4-6 ชั่วโมง เมื่อมีอาการปวดหรือมีไข้ แต่ไม่ควรกินติดต่อกันนานเกิน 10 วัน หากมีปัญหาเกี่ยวกับตับและไตควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา

            สำหรับยาบรรเทาปวดและลดไข้ อย่างแอสไพริน ถึงแม้จะออกฤทธิ์ได้ดีและเร็วกว่าสามารถบรรเทาอาการอักเสบของกล้ามเนื้อ กระดูก ข้อต่อได้ดีกว่ายาพาราเซตามอล แต่ในช่วง 3 เดือนก่อนคลอด ไม่ควรใช้ยาแอสไพรินเพราะจะทำให้การหดรัดตัวของมดลูกลดลงเจ็บครรภ์นานเกินกำหนด และยังลดการเกาะตัวของเลือด จึงทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการตกเลือดก่อนคลอด

            นอกจากนี้ อาการปวดเมื่อตามเนื้อตัว หากไม่มากนัก สามารถใช้ยาทาหรือครีมนวดได้ เพราะเป็นยาทาภายนอกและใช้เฉพาะที่จะปลอดภัยกว่ายากิน

ยาระบาย และยาแก้ท้องเสีย

            ปัญหาท้องผูกเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในคุณแม่ตั้งครรภ์ ทางที่ดีที่สุดคือควรกินผักผลไม้ที่ให้กากใยอาหารมาก ๆ เช่น พรุน ส้ม และดื่มน้ำให้เพียงพอ แต่ถ้าจำเป็นต้องใช้ยาควรใช้ยาที่ออกฤทธิ์ไม่รุนแรงจนเกินไป หรือเป็นยาที่เลียนแบบกลไกการขับถ่ายธรรมชาติ เช่น เมตามูซิล (Metamucil) ละลายชงกับน้ำเย็น ทำให้อุจจาระนุ่ม ขับถ่ายง่าย หรือใช้ยาสอดเข้าทางทวารหนัก เช่น ดัลโคแลกซ์ (Dulcolax) เหน็บครั้งละ 1 เม็ด เมื่อต้องการถ่าย (ยาออกฤทธิ์หลังเหน็บ 15 นาที) จะช่วยให้ถ่ายอุจจาระได้ง่ายขึ้น แต่ควรใช้เมื่อจำเป็นเท่านั้น

            ส่วนอาการท้องเสีย หากมีสาเหตุจากการติดเชื้อ ยาฆ่าเชื้อที่ปลอดภัยคือ แอมพิซิลลิน หรืออะม็อกซิซิลลิน ไม่ควรใช้ยาที่ทำให้หยุดถ่ายอุจจาระทันทีเพราะเชื้อโรคจะค้างอยู่ในลำไส้แทนที่จะขับออกมา และที่สำคัญเมื่อเกิดอาการท้องเสียจนอ่อนเพลีย เนื่องจากสูญเสียน้ำและเกลือแร่ควรทดแทนด้วยการดื่มน้ำเกลือแร่อิเล็คโตรไลท์ หรือโอ.อาร์.เอส แต่หากมีอาการรุนแรงมากหรือไม่ดีขึ้นหลังการงดอาหารและกินน้ำเกลือแร่ทดแทนแล้วควรไปพบแพทย์

ครีมกันแดด

            ในขณะตั้งครรภ์ คุณแม่ควรใช้ครีมกันแดดเนื่องจากระดับฮอร์โมนในร่างกายจะสูง เมื่อผิวถูกแดดจะทำให้เป็นฝ้าง่าย ควรใช้ครีมกันแดดที่สามารถป้องกันรังสี UV ได้ครอบคลุม ทั้ง UVA และ UVB มีค่า SPF 30-60 อย่างสม่ำเสมอ ไม่จำเป็นต้องใช้ครีมกันแดดที่มีค่า SPF มากกว่า 60 เพราะประสิทธิภาพกันแดดแตกต่างกันเพียงเล็กน้อย แต่ทำให้มีโอกาสแพ้ครีมมากกว่า นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงแสงแดดจัดและใช้ร่มกันแดดช่วยป้องกันด้วยก็ได้

ใช้ยาอย่างไร จึงปลอดภัย

            ไม่ซื้อยากินเอง ควรซื้อยาตามที่แพทย์สั่งเท่านั้น บอกแพทย์หรือเภสัชกรเมื่อมีอาการผิดปกติหรือซื้อยาทุกครั้งว่าตั้งครรภ์

            หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งเสพติด เหล้า บุหรี่ ยานอนหลับ และยาฉีดเพื่อป้องกันหัดเยอรมัน อย่างเด็ดขาด

            หากมีความจำเป็นที่จะต้องใช้ยารักษาเฉพาะโรคต้องอยู่ภาคใต้การดูแล และควบคุมของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพราะอาจส่งผลกระทบถึงทารกที่อยู่ในครรภ์ได้

            หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาแก้ปวดเพื่อรักษาโรค ควรใช้เพียงยาพาราเซตามอลเท่านั้น และไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากจนเกินไป

            ห้ามใช้ยาแก้ท้องผูกชนิดที่ทำให้ลำไส้ใหญ่บีบตัวมาก เพราะการบีบตัว ของลำไส้ใหญ่อาจทำให้เกิดการแท้งลูกได้

            ไม่ควรใช้ยาติดต่อกันเป็นเวลานาน หรือใช้ยาเกินขนาดที่แพทย์สั่ง เพราะจะทำให้เป็นอันตรายต่อร่างกายของคุณแม่และทารกได้




Vol. 6 No. 64 เมษายน 2553

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
แม่ท้อง...ใช้ยาอย่างไร จึงปลอดภัย อัปเดตล่าสุด 6 พฤษภาคม 2553 เวลา 17:12:30 3,032 อ่าน
TOP