x close

ยาอันตรายของแม่ตั้งครรภ์ 2

ตั้งครรภ์

ยาอันตรายของแม่ตั้งครรภ์ 2 (modernmom)

ในตอนที่ 1 เราได้พูดถึงอันตรายของการใช้ยา ที่จะกระทบในแต่ละช่วงของการตั้งครรภ์ไปแล้ว ตอนที่ 2 ผมจะพูดถึงยาที่เป็นอันตรายกับแม่ตั้งครรภ์ เพื่อให้รับมือป้องกันและระมัดระวังอย่างครบรอบด้านครับ

กลุ่มยาปฏิชีวนะ

        Tetracycline : ยาในกลุ่มนี้รวมถึง Doxycycline และ Minocycline จะทำให้เกิดความผิดปกติของสีฟันน้ำนมเด็กเป็นสีเหลืองน้ำตาล หรือติดอยู่ในเนื้อกระดูก ในขณะตั้งครรภ์ อนุโลมให้ใช้ยานี้ได้ในการรักษาโรคซิฟิลิสในหญิงที่แพ้ยากลุ่มเพนนิซิลลิน

        Aminoglycoside : การได้รับยานี้ขณะตั้งครรภ์ใกล้คลอด ส่งผลให้มีระดับยาที่เป็นพิษต่อไตและหูของทารก โดยเฉพาะทารกที่คลอดก่อนกำหนด แต่การใช้ยาแบบแบ่งให้และใช้ระดับยาที่ต่ำ จะลดผลกระทบลงได้ อย่างไรก็ดีไม่พบว่ามีความผิดปกติแต่กำเนิด เนื่องมาจากการได้รับยาในช่วงตั้งครรภ์
กลุ่มยาฆ่าเชื้อรา

        Fluconazole and Itraconazole : เป็นยาที่มักใช้กับผู้ป่วยในกลุ่มที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง มีรายงานเกี่ยวกับการเกิดความผิดปกติของทารกในครรภ์ กล่าวคือ ทารกแรกเกิดที่เคยได้รับยาในครรภ์ จะมีเพดานปากแหว่งหรือโหว่แต่กำเนิด มีแขนขาเจริญเติบโตผิดปกติแตกต่างกันไป และยาในสหรัฐอเมริกา ยังได้รับรายงานเกี่ยวกับความผิดปกติอื่นๆ อีกที่สัมพันธ์กับการใช้ยา Itraconazole แต่จากการศึกษาใน Large Cohort Study ยังไม่ชี้ชัดว่าสารทั้งสองเป็น Teratogen

        Methylmercury : การใช้รับสารนี้ในช่วง Prenatal Period จะทำให้เกิดความผิดปกติของระบบประสาท โดยเป็นผลจากการรบกวนการแบ่งตัว และการเคลื่อนตัวของเซลล์ประสาท (Neuronal Cell Division และ Migration) ทำให้เกิดความผิดปกติของพัฒนาการล่าช้า มีความผิดปกติทางระบบประสาทตั้งแต่ความรุนแรงน้อย เช่น มีศีรษะเล็กจนถึงระดับที่มีความรุนแรงมาก เช่น สมองได้รับการทำลาย ถึงสารนี้จะไม่ใช่ยาที่ใช้กันทั่วไป แต่เป็นสารที่ใช้ในอุตสาหกรรมทำให้มีการปนเปื้อนในอากาศ แม่น้ำ และมหาสมุทร รวมถึงปนเปื้อนอยู่ในสัตว์ทะเล หากกินปลาที่ปนเปื้อน สารเหล่านี้เข้าไปจะถูกดูดซึมและย่อยสลายที่ผนังลำไส้ โดยแบคทีเรียที่อยู่ในลำไส้ ก่อนที่จะถูกขับออกมาทางอุจจาระ กระบวนการนี้จะดำเนินไปอย่างช้า ๆ โดยพบว่ามีช่วงครึ่งอายุอยู่ 45-70 วัน

          ดังนั้นหากคุณแม่ตั้งครรภ์ ได้รับสารชนิดนี้เป็นจำนวนมากจากการกินปลาที่ปนเปื้อน ก็อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อทารก ที่จะเผชิญต่อสารดังกล่าว และมีผลต่อระบบประสาทได้ FDA (องค์การอาหารและยาในสหรัฐอเมริกา) ได้แนะนำให้หญิงตั้งครรภ์ไม่ควรกินปลาฉลาม ปลาดาบ (Swordfish) ปลาทูทะเล (King mackerel) และยังจำกัดปริมาณการกินปลา Albacore Tuna ซึ่งเป็นปลาทูน่าชนิดหนึ่ง ไม่ควรกิน 180 กรัมต่อสัปดาห์ ส่วน Shellfish สัตว์น้ำประเภทที่มีเปลือก เช่น หอย กุ้ง ปู และปลาอื่น ๆ ก็ไม่ควรเกิน 360 กรัมต่อสัปดาห์

Tobacco

          ในบุหรี่มีส่วนประกอบหลายอย่างที่เป็น Teratogen (สารที่มีผลต่อทารกในครรภ์) ซึ่งได้แก่ Nicotine, Cotinine, Cyanide, Thiocyanate, Carbonmonoxide, Cadmium, Lead และ Hydrocarbons หลายชนิด นอกจากเป็นสารพิษที่มีผลต่อทารก (Fetotoxic) แล้วยังมีผลต่อการทำงานของหลอดเลือด (Vasoactive Effect) ลดระดับออกซิเจนในเลือดด้วย โดยข้อมูลที่มีการบันทึกเอาไว้มากที่สุดเกี่ยวกับผลต่อทารกคือ ทารกเจริญเติบโตช้าในครรภ์เด็กที่เกิดจากมารดาที่สูบบุหรี่ ขณะตั้งครรภ์พบว่า จะมีน้ำหนักแรกคลอดโดยเฉลี่ยต่ำกว่าเด็กที่เกิดจากมารดาที่ไม่สูบบุหรี่ถึง 200 กรัม และยิ่งคนที่สูบบุหรี่จัด น้ำหนักทารกแรกเกิดจะยิ่งลดลงเป็นอย่างมาก

          ในบุหรี่มีส่วนประกอบหลายอย่างที่เป็น Teratogen ซึ่งแม่ตั้งครรภ์ที่สูบบุหรี่พบว่า ทารกมีน้ำหนักแรกคลอดโดยเฉลี่ยต่ำกว่าเด็กที่คลอดจากแม่ตั้งครรภ์ที่ไม่ได้สูบบุหรี่ 200 กรัม

          ส่วนยาอื่น ๆ ที่ซื้อหาได้เอง และไม่มีข้อพิสูจน์ว่าเป็น Teratogen หรือเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ หากไม่แน่ใจว่ายาตัวใดใช้ได้หรือไม่ ก็ควรที่จะได้รับคำแนะนำโดยตรงจากแพทย์ที่ให้การดูแลอยู่จะดีที่สุด

ยาที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท

          ได้แก่ Sedative, Hypnotic, Tranquilizer, Antidepressant, Antipsychotic

          icon Benzodiazepine : Diazepam : เป็นยาในกลุ่มนี้ที่ใช้บ่อยที่สุด โดยพบว่าทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดเพดานปากโหว่แขนขาผิดรูป นอกจากนี้ยังมีรายงานถึงความผิดปกติอื่นๆ จากการศึกษาในหนูทดลองด้วย

          icon Lorazepam และ Midazolam : ทั้งสองอย่างนี้อาจเป็นสาเหตุของอาการซึม ไม่ค่อยตอบสนองต่อการกระตุ้นของทารกแรกคลอด หรือมีอาการคล้ายๆ กับผู้ป่วยเมื่อขาดยาในระยะสั้นๆ ได้ในมารดาที่ติดยาหรือใช้ยามานาน แต่หากมีการใช้ยาในกลุ่ม Benzodiazepine ร่วมกับยาอื่นๆ ก็พบว่าทำให้มีความผิดปกติเมื่อแรกเกิดเพิ่มขึ้นได้ เนื่องจากผลรวมของยาทั้งหมดที่กินร่วมกัน

          icon Alpazolam : เป็นยาที่ใช้ในการรักษาโรคตื่นตระหนก (Panic Disorder) ซึ่งไม่พบว่าสัมพันธ์กับการเกิดความผิดปกติต่อทารก อย่างไรก็ดี ทารกแรกเกิดที่เคยรับสารดังกล่าวอาจมีอาการคล้ายๆ กับผู้ป่วยเมื่อขาดยาในระยะสั้นๆ ได้

          icon Antidepressant Drug : ยาที่นิยมใช้ในกลุ่มนี้คือ Selective Serotonin Re-Uptake Inhibitor-SSRIs ยาในกลุ่มนี้ ได้แก่ Fluoxitine, Sertraline อัตราการเกิดความผิดปกติในทารกแรกเกิดไม่ต่างจากในประชากรทั่วไป และยานี้มีผลกระทบ จึงเหมาะกับการใช้ในหญิงตั้งครรภ์

          จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้นเป็นเพียงข้อมูลบางส่วนของยา หรือสารพิษที่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ชัดเจนว่า เป็นสารที่มีผลต่อการตั้งครรภ์และทารกในครรภ์จริง ส่วนยาอื่น ๆ ที่ไมได้กล่าวถึงในที่นี้ส่วนใหญ่เป็นยาที่สามารถซื้อหาได้เอง และไม่มีข้อพิสูจน์ว่าเป็น Teratogen หรือเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ อย่างไรก็ดี หากไม่แน่ใจว่ายาตัวใดใช้ได้หรือไม่ ก็ควรทั้งจะได้รับคำแนะนำโดยตรงจากแพทย์ ที่ให้การดูแลอยู่จะดีที่สุดครับ

เรื่องราวผู้หญิง ความสวยงาม แฟชั่น ความรัก มากมาย คลิกเลย

คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ



ขอขอบคุณข้อมูลจาก

Vol.15 No.No.174 เมษายน 2553

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ยาอันตรายของแม่ตั้งครรภ์ 2 อัปเดตล่าสุด 2 มิถุนายน 2553 เวลา 14:53:35
TOP