x close

ไข้-ชัก ปัญหาหนักอกที่พ่อแม่ต้องระวัง !

 



ไข้-ชัก ปัญหาหนักอกที่พ่อแม่ต้องระวัง ! (pregnancy & baby)

โดย  BABY HEALTH

text by MEDICINE

          ช่วงนี้อากาศก็กำลังร้อนขึ้นเรื่อย ๆ และโรคที่น่ากลัวอย่างเช่นไข้หวัดเม็กซิโกที่กำลังแพร่ระบาดกระจายไปในวงกว้างทั่วโลก  ก็น่าจะเป็นอีกโรคที่สร้างความกังวลให้กับพ่อแม่เพราะเด็ก ๆ เล็ก ๆ ภูมิต้านทานมักจะต่ำ  ทำให้มีโอกาสเจ็บป่วยไม่สบายได้ง่าย  และเมื่อลูกไม่สบายสิ่งหนึ่งที่คุณพ่อคุณแม่มักจะกังวลคือ อาการชักเมื่อมีไข้สูง ดังนั้นจึงมีคำถามมากมายเกิดขึ้นเมื่อลูกตัวร้อนว่าจะเกิดอาการชักได้หรือไม่  วันนี้คำถามที่สร้างความกังวลให้กับคุณพ่อคุณแม่ทั้งหลายจะได้รับคำตอบให้หายข้องใจกันแล้วล่ะคะ

           ถ้าเด็กเคยมีอาการไข้-ชัก จะมีโอกาสเกิดอาการชักขึ้นได้อีกเมื่อมีไข้สูงเป็นเท่าใด 

          โอกาสเสี่ยงของเด็กที่จะมีอาการไข้-ชักเป็นซ้ำนั้นมีไม่มาก  เด็กที่เคยมีประวัติไข้-ชักนั้นมีโอกาสเกิดอาการไข้-ชักเป็นซ้ำเนื่องจากไข้สูงเพียงประมาณร้อยละ 30 โดยที่โอกาสของการเกิดอาการไข้-ชักเป็นซ้ำมักจะสูงสุดหลังจากที่มีอาการไข้-ชักครั้งแรก และอัตราเสี่ยงดังกล่าวจะลดลงไปเรื่อย ๆ ส่วนใหญ่ของอาการไข้-ชักเป็นซ้ำมักจะเกิดขึ้นภายใน 1 ปีแรกแต่ไม่เกิน 2 ปี หลังจากที่มีอาการไข้-ชักครั้งแรก  หากเด็กที่มีประวัติไข้-ชักแล้วยังไม่เคยชักซ้ำอีกนานเกินกว่า 2 ปีขึ้นไป โอกาสเสี่ยงของการเกิดอาการไข้-ชักเป็นซ้ำนั้นแทบไม่มี

           เด็กที่มีอาการไข้-ชักบ่อย ๆ มีโอกาสเป็นเด็กปัญญาอ่อนได้หรือไม่  ระดับสติปัญญาของเด็กที่มีประวัติไข้-ชักเป็นอย่างไร 

          มีการศึกษาวิจัยหลายชิ้นซึ่งติดตามเด็กที่เคยมีประวัติไข้-ชักตั้งแต่เด็กจนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ทั้งในประเทศสหรัฐอเมริกา , สหราชอาณาจักร  และประเทศสวีเดน ไม่พบว่าเด็กที่เคยมีประวัติไข้-ชักจะมีระดับสติปัญญาต่ำกว่าเด็กปกติที่ไม่เคยมีประวัติไข้-ชัก  นอกจากนั้นในเด็กที่เคยมีอาการไข้-ชักหลายครั้ง  ก็ไม่พบความแตกต่างในเรื่องของสติปัญญาเมื่อเด็กโตขึ้น

           เด็กที่มีภาวะไข้-ชัก มีโอกาสถ่ายทอดพันธูกรรมหรือไม่ 

          กรณีของเด็กที่มีประวัติไข้-ชัก มีโอกาสที่จะมีพี่น้องเป็นไข้-ชักเช่นเดียวกันมากกว่าเด็กทั่วไป  แต่อยากจะขอเน้นอีกครั้งหนึ่งว่า  ภาวะไข้-ชักเป็นภาวะซึ่งไม่อันตรายนัก  แม้ว่าบุตรคนแรกจะมีประวัติไข้-ชักและบุตรคนต่อไปอาจจะมีโอกาสที่จะมีอาการไข้-ชักเช่นเดียวกันก็ไม่ใช่ปัญหาใหญ่ที่พ่อแม่ต้องกังวล  เพราะไข้-ชักไม่ใช่ปัญหาซึ่งจะส่งผลในระยะยาว  ดังนั้นขอแนะนำว่าไม่จำเป็นที่จะต้องคุมกำเนิดหรือกังวลมากเกินไปในกรณีที่ต้องการมีบุตรอีกคนหนึ่ง

           ถ้าเด็กที่เคยมีประวัติไข้-ชัก  มีอาการไข้ควรดูแลอย่างไร 

          การปฐมพยาบาลดูแลให้ลดไข้เป็นหัวใจสำคัญในการดูแลเด็กที่มีประวัติไข้-ชัก การปฐมพยาบาลลดไข้เด็กควรทำโดยหมั่นวัดไข้เด็กทุกครั้งที่เด็กไม่สบาย  หากพบว่ามีไข้ควรให้ยาพารา-เซตตามอลรับประทานตามขนาดของเด็กทุก 4 ชั่วโมง ร่วมกับการเช็ดตัวโดยใช้ผ้าขนหนูที่ชุบน้ำอุ่นหมาด ๆ เพื่อลดไข้  และหมั่นเช็ดตัวเด็กอยู่เสมอ  จะช่วยลดอุณหภูมิให้เด็กได้อย่างรวดเร็ว  ไม่ควรใช้น้ำเย็นหรือแอลกอฮอล์เช็ดตัวเด็กที่มีไข้เพราะโอกาสที่จะทำให้เด็กเกิดอาการหนาวสะท้านและเกิดไข้สูงขึ้นมาอีกหลังจากการเช็ดตัวด้วยน้ำเย็นหรือแอลกอฮอล์มีมาก  ควรจำไว้ว่าการดูแลเด็กโดยมีการเช็ดตัวลดไข้ร่วมด้วยนั้นจะได้ผลรวดเร็วกว่าการรับประทานยาพาราเซตตามอลเพียงอย่างเดียว

           ถ้าเด็กมีอาการชักควรทำอย่างไร 

          พ่อแม่ไม่ควรตกใจจนเกินเหตุและควรทำการปฐมพยาบาลเบื้องต้นได้ด้วยตนเอง  หากเด็กมีอาการชักเกิดขึ้นสิ่งแรกที่ควรทำคือ  จับเด็กนอนตะแคงแล้วพยายามทำให้ทางเดินหายใจโล่ง หากเด็กมีอาการชักขณะที่รับประทานอาหารหรือมีเศษอาหารอยู่ในช่องปากควรล้างเศษอาหารนั้นออกจากช่องปากเพื่อป้องกันภาวะอุดตันของทางเดินหายใจระหว่างที่มีอาการชัก  และไม่ควรพยายามทำให้เด็กอาเจียน  หรือใช้ช้อน, ไม้กดลิ้น, นิ้ว, เศษผ้า  ยัดเข้าไปในปากเด็ก  เพราะโอกาสที่จะทำให้เกิดอันตรายต่อช่องปากและฟันเด็กมีสูง  โอกาสที่ฟันจะหลุดหรือหักลงไปอุดหลอดลมและทำให้ปอดแฟบซึ่งจะทำให้เกิดภาวะขาดออกซิเจนจะมากยิ่งขึ้น  สิ่งที่ควรทำคือ จับเด็กนอนตะแคงในพี้นที่ราบนุ่มไม่มีของแข็งมากระทบที่จะทำให้เกิดอันตรายต่อตัวเด็ก  ในระหว่างที่มีอาการชักพ่อแม่ที่เคยได้รับคำแนะนำวิธีการใช้ยาเหน็บทวารหนัก  อาจให้ยาระงับชักเหน็บทวารหนักตามที่แพทย์แนะนำได้  การใช้ยากันชักเหน็บทวารนั้นจะช่วยป้องกันไม่ให้ภาวะชักที่เกิดขึ้นกับเด็กมีช่วงเวลานานเกินไป

          Tips สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกที่มีภาวะไข้-ชัก ควรนำวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นสำหรับเด็กไข้-ชักติดไว้ที่หน้าตู้ยาหรือในที่ ๆ มองเห็นได้ง่าย และที่สำคัญคือต้องมีสติค่ะ

          วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นสำหรับเด็กมีภาวะไข้-ชัก 

         
 จับเด็กนอนตะแคงในพื้นที่ราบนุ่มไม่มีของแข็งมากระทบที่จะทำให้เกิดอันตรายต่อตัวเด็ก

           เมื่อจับเด็กนอนตะแคงแล้วพยายามทำให้ทางเดินหายใจโล่ง

           ถ้ามีเศษอาหารในปากให้ล้วงเศษอาหารออกจากช่องปากเพื่อป้องกันภาวะอุดตันในทางเดินหายใจระหว่างที่มีอาการชัก

           ไม่ควรพยายามทำให้เด็กอาเจียน  หรือใช้ช้อน, ไม้กดลิ้น, นิ้ว, เศษผ้า, ยัดเข้าไปในปากเด็ก

           ถ้าพ่อแม่เคยได้รับคำแนะนำวิธีการใช้ยาเหน็บทวารหนักอาจให้ยาระงับชักเหน็บทวารหนักตามที่แพทย์แนะนำได้  


  เรื่องราวผู้หญิง ความสวยงาม แฟชั่น ความรัก มากมาย คลิกเลย  


  คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ 






ขอขอบคุณข้อมูลจาก
 
ฉบับเดือนมิถุนายน - กรกฎาคม 2552








เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ไข้-ชัก ปัญหาหนักอกที่พ่อแม่ต้องระวัง ! อัปเดตล่าสุด 19 สิงหาคม 2552 เวลา 17:09:40 2,560 อ่าน
TOP