x close

จัดการจอมวายร้าย ให้อยู่หมัด

baby - เอาแต่ใจ

จัดการจอม “วายร้าย”ให้อยู่หมัด
(M&C แม่และเด็ก)

           หากลูกร้อง ลงไปนอนดิ้น ๆ กับพื้น คุณแม่ยอมเพราะเหตุผลอะไรก็ตามแต่ เด็กก็จะเรียนรู้แล้วว่าถ้าแม่ไม่ให้ ต้องลงไปนอนดิ้นเดี๋ยวก็ได้เอง คราวหน้าเค้าก็จะทำแบบเดิมอีก แต่ถ้าแม่ทำโทษเค้าด้วยการตีอย่างรุนแรงนั้น ถือเป็นการตอบสนองที่ไม่เหมาะสม

           ฮือ ๆๆ หนูไม่ยอม คุณแม่ทั้งหลายคงคุ้นเคย หรืออาจจะชาชินกับอาการกรีดร้อง โวยวายได้ทุกเรื่องทุกเวลาเมื่อเจ้าหนูไม่พอใจ เด็กวัย 2 ขวบ ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นจอมวายร้าย จอมต่อต้าน บอกอย่างทำอย่าง เขาจะยึดตัวเองเป็นหลัก ไม่ยอมใครหน้าไหน จนคุณแม่ ๆ ต้องยอมอ่อนให้เจ้าตัวน้อยทุกทีไป

           ถึงแม้ว่าการยอมเขาจะทำให้เสียงกรีดร้องนั้นเงียบลงได้ คุณแม่ไม่เหนื่อย แต่รู้ไหมว่า การตามใจหนูโดยไร้เหตุผลจะทำให้หนูทำพฤติกรรมที่ไม่ดีซ้ำ ๆ ส่งผลให้ลูกเป็นเด็กเอาแต่ใจ เกเร และก้าวร้าวได้ ทางที่ดีมาตัดไฟตั้งแต่ต้นลม หล่อหลอมให้เจ้าหนูเป็นเด็กที่น่ารัก คุณแม่ก็สบายใจด้วยดีกว่าไหมค่ะ

สอนลูกในวัย จอมวายร้าย

           ต้องมีความมั่นคงในการสอนลูก พ่อและแม่ ต้องสอนลูกไปในทิศทางเดียวกันถ้าอะไรที่ตกลงกันไว้ว่าทำได้ก็ทำได้ อะไรที่ทำไม่ได้และสอนลูกไปในทิศทางเดียวกัน ห้ามใจอ่อน เช่นแม่ห้ามไม่ให้เล่นกรรไกร แต่พ่อสงสารลูก เห็นลูกร้องก็หยิบกรรไกรมาให้เล่น ผลเสียคือ เด็กจะไม่เกิดการเรียนรู้อะไร และอาจเป็นอันตราย

           ดังนั้นถ้าเด็กค่อย ๆ เรียนรู้สิ่งที่ต้องห้าม ต่อไปเค้าก็จะเข้าใจ เขาก็จะไม่ทำสิ่งเหล่านั้น เช่น เด็กวีนแม่ที่ไม่ให้เขาเล่นกรรไกร ลงไปนอนดิ้นกับพื้นแล้วร้องจะเล่นให้ได้ ถ้าแม่ยอมให้เค้าเล่น เค้าก็จำได้ว่าใช้วิธีลงไปวีนแบบนี้แล้วก็ได้ เขาก็เอาชนะทุกครั้งไป แต่ว่าถ้าเราไม่ให้ เวลาอยากได้ เขาลงไปดิ้นสัก 3- 4 รอบเขาก็จำได้ว่าไม่มีประโยชน์

           กติกาต้องมาก่อน การตั้งกติกาสามารถช่วยให้จัดการปัญหาง่ายขึ้น อย่างเช่นวันนี้ตกลงกันว่าจะไปเที่ยวที่นี่กันนะ เวลาไปหนูจะไม่ร้อง จะไม่เอานู่นนี่นะ การทำข้อตกลงกันนั้นก็เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการโวยวายขึ้น เด็กก็จะเข้าใจ แต่พอเวลาไปถึงจริง ๆ แล้วเด็กเกิดไม่ทำตามกติกา อาละวาดจะเอาอย่างเดียว ลงไปนอนดิ้นกับพื้น กรีดร้อง คุณแม่ก็ควรปล่อยให้เขาดิ้นไป อย่าไปยอมตามใจเค้า ปล่อยให้เขาลงไปนอนดิ้นสักชั่วโมงให้เค้าเหนื่อยเค้าก็เงียบเอง หากเป็นแบบนี้สัก 3-4 ครั้งคราวหน้าคราวหลังเค้าก็จะไม่ทำอีก เพราะเขาเรียนรู้ว่าทำไปก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร

           ในขณะเดียวกันหากลูกร้อง ลงไปนอนดิ้น ๆ กับพื้น คุณแม่ยอมเพราะเหตุผลอะไรก็ตามแต่ เด็กก็จะเรียนรู้แล้วว่าถ้าแม่ไม่ให้ต้องลงไปนอนดิ้นเดี๋ยวก็ได้เอง คราวหน้าเค้าก็จะทำแบบเดิมอีก แต่ถ้าแม่ทำโทษเค้า ด้วยการตีอย่างรุนแรงนั้นถือเป็นการตอบสนองที่ไม่เหมาะสม ดังนั้นแล้วมาเรียนรู้การทำโทษที่เหมาะสมดีกว่าค่ะ

ทำโทษด้วยเหตุผล

           การทำโทษเด็กเล็ก ๆ นั้น สามารถทำได้ ในบางกรณีต้องมีการลงโทษเพื่อฝึกระเบียบวินัยให้ลูกน้อย และให้เขาเรียนรู้ว่าสิ่งไหนควรทำได้ สิ่งไหนห้ามทำ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการทำโทษจะต้องอยู่บนพื้นฐานของเหตุผล ไม่ใช่ใช้อารมณ์เป็นตัวตัดสินการลงโทษลูกน้อย ซึ่งหลักในการการทำโทษมีดังนี้

           ต้องเป็นวิธีที่ไม่รุนแรง ไม่ใช้วิธีที่ทำให้ลูกเจ็บ หรือกลัว แต่การลงโทษต้องทำให้เขารู้ว่าอันนี้คือสิ่งที่ไม่ถูกต้องนะ ถ้าหนูทำแบบนี้แม่จะต้องลงโทษหนูนะ การลงโทษที่ไม่รุนแรงได้แก่

           การจำกัดสถานที่ อาจจะให้เขาอยู่แต่ในห้อง ห้ามออกไปจากห้องจนกว่าจะได้รับอนุญาต

           กำจัดของที่เขาจะต้องเล่นต้องใช้ เช่น ไม่ให้เล่นของเล่นนี้ 1 วัน หรือจนกว่าแม่จะพอใจ

            งดค่าขนม หรือหักค่าขนม อาจจะแลกด้วยงานบางอย่างแทน เช่น ทำงานบ้าน หรือช่วยเก็บของ เหล่านี้เป็นต้น

           ต้องทำโทษในสิ่งที่ลูกทำผิด ไม่ใช่ลูกไม่รู้ บางอย่างเด็กจะทำโดยไม่รู้ หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เช่น ทำแก้วแตก ทำน้ำหก กรณีแบบนี้ถือเป็นเรื่องสุดวิสัย คุณแม่ไม่ควรทำโทษลูก แต่ควรตักเตือนเค้าให้รู้จักระมัดระวัง

           ในทุกครั้งที่ลงโทษต้องบอกเหตุผล ถึงแม้เด็กจะไม่เข้าใจเหตุผล แต่เขาก็รู้ว่าที่เขาทำแบบนี้พ่อแม่ไม่ชอบนะ แล้วก็จะต้องถูกลงโทษแบบนี้ การลงโทษด้วยความรุนแรงจะทำให้เด็กจำพฤติกรรมนี้ คงเป็นไปไม่ได้ที่ไม่อยากให้ลูกกระทำรุนแรง เช่น ไม่อยากให้ลูกตีเด็กคนอื่น แต่แม่กลับลงโทษด้วยการตีลูกแทน อย่างนี้ก็ย่อมไม่มีทางสำเร็จได้แน่

เรื่องราวผู้หญิง ความสวยงาม แฟชั่น ความรัก มากมาย คลิกเลย

คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ



ขอขอบคุณข้อมูลจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
จัดการจอมวายร้าย ให้อยู่หมัด อัปเดตล่าสุด 27 กรกฎาคม 2553 เวลา 15:54:52
TOP