x close

ตรวจหลังคลอด เรื่องจำเป็นของแม่ทุกคน

ตรวจหลังคลอด

ตรวจหลังคลอด เรื่องจำเป็นของแม่ทุกคน (Mother & Care)

             เมื่อคลอดลูกแล้ว คุณแม่คงวุ่นกับการเลี้ยงลูกจนอาจละเลยการดูแลสุขภาพหลังคลอด ซึ่งจะทำให้เกิดอาการผิดปกติต่าง ๆ ตามมาได้ เช่น ปัญหาความดัน การขับถ่าย แผลฝีเย็บ เป็นต้น จึงไม่ควรละเลยการไปพบคุณหมอตามนัด เพื่อตรวจสุขภาพหลังคลอดทุกครั้งด้วยค่ะ

หลังคลอด...ตรวจอะไรบ้าง

             โดยทั่วไปแล้ว สูติแพทย์จะนัดคุณแม่เพื่อตรวจหลังคลอดเมื่อครบ 6 สัปดาห์แล้ว (หรือ 4 สัปดาห์หลังคลอด หากมีปัญหาในระหว่างคลอด) ซึ่งจะเป็นการตรวจภายในหลังคลอด เช็กความแข็งแรงของร่างกาย อวัยวะต่าง ๆ กลับสู่สภาพปกติหรือยัง รวมถึงตรวจเพิ่มเติมในกรณีที่มีภาวะอื่น ๆ แทรกซ้อนในระหว่างตั้งครรภ์

ตรวจร่างกายทั่วไป

             ชั่งน้ำหนัก วัดความดัน : เป็นสิ่งแรกที่ต้องตรวจ ซึ่งปกติแล้วหลังคลอด 6 สัปดาห์ น้ำหนักคุณแม่ควรลดลงประมาณ 5-10 กิโลกรัม หรือมีน้ำหนักมากกว่าก่อนตั้งครรภ์ 2-3 กิโลกรัม (ขึ้นอยู่กับน้ำหนักก่อนตั้งครรภ์ และน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นระหว่างตั้งครรภ์) ส่วนความดันเลือดควรอยู่ในระดับปกติ 80/120 มิลลิเมตรปรอท หากน้ำหนักและความดันเลือดยังสูงอยู่ อาจต้องควบคุมอาหารให้เหมาะสมและบริหารร่างกายด้วย

             ตรวจเต้านม : เพื่อดูว่าเต้านมมีความผิดปกติหรือไม่ โดยการคลำที่หน้าอกเพื่อตรวจมะเร็งเต้านมหรือก้อนน้ำเหลือง ซึ่งคุณแม่อาจจะคลำด้วยตัวเองจากที่บ้านก่อนได้ หากพบก้อนเล็ก ๆ เต้านมแข็ง มีอาการปวด ก็ขอคำแนะนำจากคุณหมอได้

             ตรวจหน้าท้อง : เพื่อดูความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหน้าท้อง และดูว่าผนังหน้าท้องยังหย่อนอยู่หรือไม่ ซึ่งหลังคลอด 1 เดือนก็สามารถบริหารหน้าท้องเพิ่มความแข็งแรง และกล้ามเนื้อหน้าท้องได้แล้ว หากไม่ได้ออกกำลังกายหลังคลอดก็จะทำให้หน้าท้องยังหย่อนและป่อง ส่วนคุณแม่ที่ผ่าตัดคลอดก็ต้องตรวจแผลผ่าตัดว่าหายดีหรือยังด้วย

             อาการไข้และการขับถ่าย : ในระยะแรกหลังคลอด หากมีอาการไข้สูง แผลอักเสบ เป็นหวัด หรือปวดท้องควรรีบบอกคุณหมอทันที เพราะอาจมีสาเหตุเกิดจากการติดเชื้อ นอกจากนี้อาจมีปัญหาเรื่องท้องผูก ทำให้ถ่ายลำบากและเจ็บแผลคลอด จึงควรกินอาหารที่เส้นใยสูง ดื่มน้ำเปล่ามาก ๆ เพื่อช่วยให้อุจจาระนิ่ม ไม่ต้องเบ่งนานและป้องกันแผลปริแตก หากท้องผูกมาก คุณหมออาจให้กินยาถ่ายด้วย (งดให้นมลูกระหว่างใช้ยาทุกชนิด)

ตรวจภายใน

             หลังคลอดแล้ว 6 สัปดาห์ จำเป็นต้องตรวจภายในเพื่อดูว่าแผลฝีเย็บหายดีหรือยัง การปิดของปากมดลูก (ในกรณีคลอดเอง) และตรวจดูแผลผ่าตัดทางหน้าท้องว่ามีการปริแตกไหม รวมถึงการอักเสบบริเวณช่องคลอด และตรวจมะเร็งปากมดลูกด้วย

             มดลูกเข้าอู่ : เนื่องจากในช่วงตั้งครรภ์มดลูกจะขยายตัวขึ้นมาก หลังจากคลอดจึงต้องตรวจว่ามดลูกหดตัวแล้วหรือยัง ส่วนใหญ่มดลูกจะเข้าคู่ในช่วง 4-6 สัปดาห์หลังคลอด มีขนาดปกติเท่ากับก่อนตั้งครรภ์ และอยู่ในตำแหน่งเดิมภายในอุ้งเชิงกราน เมื่อไปตรวจคุณหมอจะใช้นิ้วสอดเข้าไปภายในช่องคลอด และใช้อีกมือคลำบริเวณหน้าท้อง หากคลำพบก้อนที่หน้าท้องแสดงว่ามดลูกเข้าอู่ช้า ซึ่งถ้าอยากให้มดลูกเข้าอู่เร็วขึ้น ก็ควรให้ลูกดูดนมแม่จะช่วยได้ค่ะ

             แผลคลอด : โดยปกติแล้วแผลคลอดไม่ว่าจะเป็นคลอดเองหรือการผ่าคลอดมักจะหายภายใน 1 สัปดาห์หลังคลอด ซึ่งอาการปวดแผลหลังคลอดจะปวดประมาณ 3-4 วัน หรืออย่างมาก 1 อาทิตย์ และจะค่อย ๆ ทุเลาลง หากปวดมากสามารถกินยาแก้ปวดลดอาการได้ หากมีอาการปวดแผลฝีเย็บมาก มีอาการบวมแดง กดแล้วเจ็บอาจเป็นเพราะฝีเย็บอักเสบควรรีบพบคุณหมอทันที ส่วนแผลผ่าตัดคลอดจะติดสนิทภายใน 1 สัปดาห์ ไม่มีการบวมหรือเลือดไหลซึมออกจากแผล แต่จะใช้เวลาอย่างน้อย 3 เดือนกว่าแผลจะหายดี จึงต้องหมั่นดูแลความสะอาดไม่ให้เกิดการติดเชื้อ

ดูแลแผลคลอด

             ทำความสะอาดแผลทุกวัน วันละ 1-2 ครั้งด้วยสบู่ หรือใช้น้ำยาฆ่าเชื้ออย่างอ่อนล้างกับน้ำสะอาด จากด้านหน้าไปด้านหลัง เพราะการล้างจากก้นมาด้านหน้า จะนำเชื้อโรคจากทวารหนักมาสู่แผลและช่องคลอด

             หากเจ็บปวดหรือแผลอักเสบมาก อาจแช่ด้วย น้ำอุ่น 1 ลิตรผสมน้ำยาฆ่าเชื้อ 1 ช้อนโต๊ะ แช่นานประมาณ 10-15 นาที เพื่อให้รู้สึกสบายขึ้นและเลือดไหลเวียนดีขึ้น จะช่วยให้แผลหายเร็ว

             น้ำคาวปลา : หลังคลอด 3-4 วันแรก น้ำคาวปลาจะออกมาเป็นเลือดสด หลังจากนี้อีก 10-14 วันเป็นน้ำปนเลือด สีน้ำตาลดำ แล้วจะค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นน้ำสีขาวออกเหลืองจนหมด (ภายใน 4 สัปดาห์) ในช่วงที่น้ำตาวปลายังไม่หมดนั้น ห้ามใช้ผ้าอนามัยแบบสอดในช่องคลอด และถ้าน้ำคาวปลาออกมาเป็นสีผิดปกติหรือยังเป็นเลือดอยู่ก็อาจมาจาก 2 สาเหตุคือ มีเศษรกค้างอยู่หรืออาจมีการอักเสบติดเชื้อของโพรงมดลูก จึงควรรีบแจ้งให้คุณหมอทราบ

             มะเร็งปากมดลูก : โดยปกติผู้หญิงควรตรวจมะเร็งปากมดลูกทุกปีอยู่แล้ว ซึ่งในการตรวจหลังคลอด คุณหมอจะตรวจมะเร็งปากมดลูกให้ด้วย และตรวจว่าถุงน้ำที่รังไข่ ปีกมดลูกทั้งสองข้างหรือที่มดลูกมีก้อนเนื้องอกผิดปกติหรือไม่ เนื่องจากในช่วงตั้งครรภ์ อาจตรวจไม่พบเพราะมดลูกขยายขนาดใหญ่จนกลบเนื้องอก แต่เมื่อมดลูกเป็นปกติแล้วก็สามารถตรวจพบได้

ตรวจอาการผิดปกติ

             นอกจากการตรวจร่างกายและตรวจภายในหลังคลอดแล้ว คุณหมอจะตรวจโรคที่เป็นในระหว่างตั้งครรภ์ว่าหายเป็นปกติหรือยัง เพราะบางโรคจะเป็นเฉพาะตอนที่ตั้งครรภ์ และหลังคลอดร่างกายจะกลับเข้าสู่สภาพปกติ รวมถึงโรคประจำตัวอื่นที่มีอยู่ก่อนตั้งแต่ตั้งครรภ์ เช่น โรคปอด โรคหัวใจ คุณหมอก็จะตรวจดูอาการของโรคให้เช่นกัน

             เบาหวาน : อาการเบาหวานที่พบในช่วงตั้งครรภ์จะพบ 2 กรณีคือที่เป็นโรคเบาหวานอยู่แล้ว หรือเพิ่งเป็นเบาหวานเฉพาะในช่วงตั้งครรภ์ ซึ่งเบาหวานในระหว่างตั้งครรภ์มักจะพบในคุณแม่ที่อ้วนมาก น้ำหนักขึ้นเร็ว มีไขมันมาก จึงทำให้น้ำตาลในเลือดสูงขึ้นด้วย แต่เมื่อคลอดลูกแล้วระดับน้ำตาลในเลือดจะกลับเข้าสู่ระดับปกติ และเบาหวานจะหายไป คุณหมอจะเช็คระดับน้ำตาลในเลือดว่าลงมาอยู่ในระดับปกติต่ำกว่า 140 มิลลิกรัมต่อ 100 ซี.ซี. หรือยัง หากระดับน้ำตาลยังไม่ลงมาอยู่ในระดับนี้ ก็อาจเป็นไปได้ว่าจะเป็นเบาหวาน

             ก่อนตรวจเบาหวาน ควรกินอาหารที่คาร์โบไฮเดรตต่ำ และในวันนัดตรวจก็ต้องงดอาหาร ในการตรวจคุณหมอจะเจาะเลือดมาตรวจระดับน้ำตาล 4 ครั้ง หากงดอาหารมาก่อนก็สามารถตรวจระดับน้ำตาลในเลือดได้เลย แต่หากไม่ได้งดมาคุณหมอก็จะนัดมาตรวจทีหลังค่ะ

             ครรภ์เป็นพิษ : อาการครรภ์เป็นพิษมักเกิดในไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์ คือมีความดันโลหิตสูง มีไข่ขาวในปัสสาวะ บวม ซึ่งจะหายไปภายใน 2-4 สัปดาห์หลังคลอด (ตามความรุนแรงของอาการ) ดังนั้นหากมีอาการครรภ์เป็นพิษในระหว่างตั้งครรภ์ ในช่วง 4-6 สัปดาห์หลังคลอดแล้ว คุณหมอจะนัดตรวจ เพื่อดูความดันโลหิตว่ายังสูงอยู่และมีไข่ขาวในปัสสาวะหรือไม่ รวมถึงเป็นการทำงานของไต เพราะภาวะครรภ์เป็นพิษจะทำให้ไตทำงานได้ไม่ดี ปล่อยให้ไข่ขาวหลุดมาในปัสสาวะได้ และถ้าตรวจพบว่ายังมีไข่ขาวอยู่ในปัสสาวะหลังคลอดแล้ว แสดงว่าอาจมีโรคไตแทรกอยู่ จึงไม่ควรละเลยการตรวจหลังคลอดค่ะ

             ริดสีดวงทวาร : ส่วนใหญ่อาการริดสีดวงทวารมักจะหายภายใน 2-3 สัปดาห์หลังคลอดแล้ว แต่หากเป็น ๆ หาย ๆ อาจต้องใช้การผ่าตัดรักษา ดังนั้น หลังคลอด จึงควรฝึกขับถ่ายให้เป็นเวลา ไม่ต้องกลัวว่าการถ่ายจะทำให้แผลเย็บฉีกขาด ทำความสะอาดอวัยวะเพศและทวารหนักให้สะอาด เน้นกินอาหารที่มีกากใยและการเดินบ่อยๆ ก็จะช่วยให้ระบบการขับถ่ายดีขึ้น หากมีอาการเจ็บปวดแผลสามารถประคบด้วยถุงน้ำแข็ง หรือนั่งแช่น้ำอุ่นประมาณ 10-15 นาที ทำวันละ 2-3 ครั้ง หรือใช้ครีม, ยาเหน็บตามแพทย์สั่ง

อาการหลังคลอด...ต้องพบแพทย์ทันที

             ก่อนการนัดตรวจหลังคลอด ควรหมั่นใส่ใจดูแลร่างกายของตัวเองอยู่เสมอ และหากมีอาการผิดปกติเหล่านี้เกิดขึ้น ควรไปพบแพทย์ทันทีหรือภายใน 12 ชั่วโมง

             มีเลือดออกทางช่องคลอด ภายใน 1 ชั่วโมง ชุ่มผ้าอนามัย 1 อัน และเลือดที่ออกมาเป็นก้อน

             ปวดหัวมาก หนาวสั่น หรือมีไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส

             ปวดท้องมาก ปวดท้องบิด โดยไม่ได้มีสาเหตุจากอาหารที่กิน

             ระดูขาวมีกลิ่นเหม็น และน้ำคาวปลามีสีแดงตลอดภายใน 15 วันหลังคลอด

             เจ็บหรือแสบขัดเวลาถ่ายปัสสาวะ

             มีหนอง หรือเลือดไหลจากแผลฝีเย็บ หรือแผลฝีเย็บบวมแดงมากขึ้นจนปวดถ่วงถึงทวารหนัก

             มีก้อนที่เต้านมหรือเต้านมบวมแดง



ขอขอบคุณข้อมูลจาก

Vol.6 No.67 กรกฎาคม 2553
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ตรวจหลังคลอด เรื่องจำเป็นของแม่ทุกคน อัปเดตล่าสุด 16 สิงหาคม 2553 เวลา 14:57:53 29,245 อ่าน
TOP