x close

หัวใจ ลูก 9 เดือนในท้อง

ตั้งครรภ์

"หัวใจ" ลูก 9 เดือนในท้อง (modernmom)
โดย: พญ.เฉลิมศรี ธนันตเศรษฐ

          ความคิดวูบแรกของคุณแม่เมื่อทราบว่า ตั้งครรภ์ คือความห่วงใยว่าลูกจะพิการหรือไม่ ดังนั้นความรู้ความเข้าใจว่าลูกจะสามารถสร้างอวัยวะต่าง ๆ จนครบถ้วนสมบูรณ์ได้อย่างไร มีสาเหตุอะไรบ้างที่จะทำให้ลูกพิการได้ ก็จะช่วยให้คุณแม่เตรียมตนเองตั้งแต่ก่อนจะตั้งครรภ์ และสามารถดูแลตัวเองได้ตลอด 9 เดือนจนคลอด ซึ่งนอกจากตัวคุณแม่เองแล้วคุณพ่อและสมาชิกคนอื่น ๆ ในครอบครัวจะต้องมีบทบาทเข้ามาร่วมดูแลคุณแม่ด้วย

สำหรับสาเหตุที่ทำให้ลูกพิการได้มีดังนี้

         1. อายุของคุณแม่ คุณแม่ที่มีอายุเกิน 35 ปี ไม่ว่าจะตั้งครรภ์ครั้งที่เท่าไรก็ตาม จะมีความเสี่ยงของการได้ลูกปัญญาอ่อนชนิดกลุ่มอาการดาวน์ (Down\'s Syndrome) และสูงขึ้นเรื่อย ๆ ตามอายุที่เพิ่มขึ้น

         2. โรคประจำตัวหรือโรคแฝงของคุณแม่ เช่น ความดันโลหิตสูง, เบาหวาน, ไทรอยด์ ซึ่งก็มักจะพบได้บ่อยขึ้นถ้าคุณแม่มีอายุเกิน 35 ปี

         3. สิ่งแวดล้อมของคุณแม่ ไม่ว่าจะเป็นอาชีพที่เป็นงานหนัก, งานเครียด, งานที่เสี่ยงต่อมลภาวะหรือสารพิษ สภาพสังคม ความเป็นอยู่ การกินดีอยู่ดีและความสุขสบายของคุณแม่

          ทางที่ดีคุณแม่จึงควรเริ่มมีลูกตั้งแต่อายุไม่เกิน 30 ปี ตรวจสุขภาพก่อนตั้งครรภ์ และวางแผนให้เห็นตัวเองสุขสบายตามอัตถภาพ ทั้งในช่วงตั้งครรภ์และช่วงเลี้ยงดูลูก ซึ่งคุณพ่อและคนอื่น ๆ ในครอบครัวควรมีบทบาทเข้ามาช่วยคิดและช่วยแบ่งเบาภาระต่าง ๆ

"หัวใจ" ลูก 9 เดือนในท้อง

          หัวใจเป็นสัญลักษณ์ที่เชื่อมโยงความรักระหว่างแม่ลูก แล้วด้วยหัวใจเป็นอวัยวะที่มีความพิเศษ มีแต่ตัวจริงไม่มีตัวสำรองแทนได้ จึงควรไปทำความรู้จักกันค่ะ

หัวใจ...อวัยวะชิ้นสำคัญ

          1. หัวใจ...เป็นอวัยวะเดี่ยวที่ไม่มีสำรองเหมือนอวัยวะอื่น ๆ เช่น ปอด ไต และตับ ดังนั้น ถ้าเกิดการชำรุดเสียหาย เช่นรั่ว หรือตีบ ก็จะเป็นอันตรายได้

          2. หัวใจ....ทำงานเหมือนเครื่องปั๊มน้ำที่มีความพิเศษคือ รับเลือดดำที่เปรียบเหมือนน้ำเสียไปฟอกที่ปอด ในขณะเดียวกันก็ส่งเลือดแดงที่เหมือนน้ำสะอาดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย เบ็ดเสร็จ 2 ระบบ ในอวัยวะเดียวกัน แล้วหน้าที่ดังกล่าวจะเริ่มต้นตั้งแต่ชีวิตตัวอ่อนในครรภ์คุณแม่ค่ะ

          แล้วด้วยที่เราต้องใช้หัวใจดวงเดียวตราบจนมีชีวิตอยู่ แล้วเป็นการทำงานอย่างที่ไม่มีเวลาหยุดพัก ด้วยเหตุนี้หัวใจจึงมีโครงสร้างกล้ามเนื้อชนิดพิเศษที่แข็งแรงมาก มีหลอดเลือดแตกแขนงมากมายไปเลี้ยงกล้ามเนื้ออย่างทั่วถึง เพื่อทำหน้าที่อย่างทรหดอดทดนี้ได้

การเติบโตของ "หัวใจลูก" ในท้องแม่

           4 สัปดาห์.... หัวใจเริ่มพัฒนา ถือเป็นอวัยวะชุดแรกที่ตัวอ่อนทารกจะริ่มพัฒนาขึ้นค่ะ (หรือในช่วง 6 สัปดาห์นับจากวันแรกของประจำเดือนครั้งสุดท้าย) ซึ่งขณะนั้นตัวอ่อนจะประกอบด้วยเซลล์เพียง 150 เซลล์เท่านั้น แต่จะมีการแบ่งชั้นเนื้อเยื่อออกเป็น 3 ชั้น คือ นอก กลาง และในเนื้อเยื่อชั้นกลางนี้เอง จะมีศักยภาพในการพัฒนาเป็นอวัยวะที่มีความพิเศษในด้านความทนทานในการทำงาน คือ หัวใจ ไต ระบบอวัยวะสืบพันธุ์ กระดูก กระดูกอ่อน กล้ามเนื้อ เส้นเอ็นนั่นเอง จากนั้นใน 2 สัปดาห์ต่อมา หัวใจจะมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ตามโครงสร้างที่กำหนดไว้แล้วในแบบแผนภูมิของยีนส์

          ช่วงนี้จึงเป็นช่วงที่คุณแม่ต้องระวังมากที่สุดในการดูแลตนเอง เพราะถ้าได้รับเชื้อโรคบางอย่าง เช่น ไวรัสหัดเยอรมัน หรือคุณแม่ที่เป็นเบาหวานและคุมน้ำตาลได้ไม่ดี หรือไม่รู้ตัวว่าเป็นก็ตาม หรือสูบบุหรี่ หรือกินยาบางอย่างที่เป็นอันตราย ก็จะเป็นผลให้ลูกมีหัวใจพิการได้

           6 สัปดาห์.... จะเริ่มเห็นหัวใจของลูกเต้นจากการดูด้วยอุลตร้าซาวนด์ ซึ่งช่วงนี้ตัวอ่อนจะตัวเล็กมากวัดได้จากหัวถึงก้นเพียง 0.08 -0.16 นิ้วฟุต เท่านั้น

           10 สัปดาห์.... หัวใจจะมีโครงสร้างเสร็จสมบูรณ์ ซึ่งจะเปลี่ยนชื่อเรียกจาก ตัวอ่อนเป็นทารกแล้ว

           11 สัปดาห์.... ฟังเสียงหัวใจทารกได้ด้วยการใช้เครื่อง doppler sound wave stethoscope ซึ่งเป็นเครื่องมือฟังเสียงหัวใจทารกได้ ตอนนี้ทารกจะยาว 1.75 - 2.4 นิ้วฟุต

           28 สัปดาห์ - 38 สัปดาห์ .... หัวใจเริ่มมีการตกแต่งส่วนประกอบปลีกย่อยของหัวใจจนเสร็จสมบูรณ์ แล้วจากนั้นหัวใจก็จะเริ่มขยายขนาดให้เต็มโครงสร้าง เมื่อครบกำหนดคลอด

          จากนั้นหัวใจจะมีหน้าที่ต่อเนื่องในระบบไหลเวียนของเลือด ตั้งแต่ในครรภ์ตลอด 9 เดือน ซึ่งหัวใจทารกจะมีอัตราการเต้นเร็วมาก เมื่อเทียบกับผู้ใหญ่เพราะมนุษย์จะมีการเติบโตที่เร็วที่สุด ในช่วงชีวิตตอนอยู่ในครรภ์คุณแม่ จะเต้นประมาณ 140 -160 ครั้งต่อนาที และจะลดลงตามลำดับในระยะหลังคลอด ตามอัตราการเจริญเติบโตตามวัย ความสมบูรณ์ของหัวใจและความแข็งแรงของสุขภาพ

          หัวใจเป็นอวัยวะที่ทำงานตั้งแต่อยู่ในครรภ์แม่ และไปจนตลอดชีวิตอย่างไม่เคยได้หยุดพัก และไม่มีอวัยวะสำรองใช้เหมือนอวัยวะอื่น จะให้ดีคุณแม่ควรดูแลรักษาหัวใจลูก ตั้งแต่อยู่ในคุณแม่ให้สมบรูณ์แข็งแรงที่สุดนะคะ





ขอขอบคุณข้อมูลจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
หัวใจ ลูก 9 เดือนในท้อง อัปเดตล่าสุด 20 สิงหาคม 2553 เวลา 12:12:42
TOP