x close

ใส่ใจผิวลูกแรกคลอด

baby

ใส่ใจผิวลูกแรกคลอด (modernmom)

          พูดถึงเด็กแรกเกิดแล้ว เรามักจะนึกถึงความบอบบางน่าทะนุถนอม ต้องการการปกป้อง โดยเฉพาะผิวหนังที่ห่อหุ้มร่างกายของเจ้าตัวเล็ก ซึ่งถือเป็นอีกส่วนหนึ่งที่คุณต้องเรียนรู้และดูแลให้ถูกวิธีค่ะ

รู้จักผิวเด็กแรกคลอด

          ผิวของทารกแรกคลอด เพียงแค่มองด้วยตาเปล่าก็รู้สึกได้ถึงความอ่อนนุ่ม คุณแม่มาทำความรู้จักผิวลูกแรกคลอดอย่างละเอียดกันค่ะ

ไขบนผิวหนัง

          เชื่อแน่ว่าแม่มือใหม่คงสังเกตเห็นว่า ตามตัวของลูกจะมีไขสีขาวเคลือบอยู่ แม่บางคนเลยสงสัยว่าไขขาว ๆ นี้คืออะไร จริง ๆ แล้ว เจ้าไขสีขาวที่ติดอยู่บนผิวเกิดจากต่อมไขมันผสมกับเศษขี้ไคลที่หลุดออกมาระหว่างที่ทารกอยู่ในครรภ์ ทำหน้าที่เสมือนเกราะทางธรรมชาติ ที่ช่วยปกป้องผิวหนังของลูกเราให้คงความชุ่มชื้นนั่นเอง สารเคลือบผิวเหล่านี้จะหายไปเองภายใน 2-3 สัปดาห์หลังคลอดค่ะ เพราะฉะนั้น คุณแม่ไม่จำเป็นต้องถูแรง ๆ เพื่อให้ไขนี้หลุดออกไปนะคะ เพราะไม่เช่นนั้น อาจจะทำให้ผิวบอบบางของลูกเป็นแผลได้

ผิวไม่เต่งตึง

          ผิวไม่เต่งตึง สังเกตดี ๆ จะพบว่าผิวของลูกมีลักษณะเหี่ยว ผิวบริเวณฝ่ามือและฝ่าเท้าก็ลอก อย่าเพิ่งตกอกตกใจค่ะ เพราะอาการผิวลอกหรือแห้งเป็นอาการปกติที่เกิดขึ้นกับทารกได้ และจะหายไปภายใน 1-2 วัน

ผิวบอบบาง

          ธรรมชาติของผิวทารกแรกคลอด ถ้าเทียบกับผิวของผู้ใหญ่แล้วถือว่าบอบบางกว่า 40-60% หลุดลอกได้ง่าย แถมยังมีต่อมเหงื่อและต่อมไขมันที่น้อยกว่า แบบนี้เองที่ทำให้ลูกเล็กไม่ค่อยมีเหงื่อ ดูเหมือนจะดีแต่ผิวแห้งง่ายต้องคอยดูแลค่ะ และแม้ว่าเด็กเล็กจะมีหนังกำพร้าที่หนา และแข็งแรง เพียงพอต่อการป้องกันการระเหยของน้ำและความร้อนออกจากร่างกาย สามารถป้องกันเชื้อโรคและสารเคมีต่าง ๆ ได้ แต่เบบี๋ก็ยังมีผิวที่บางและอ่อนแอเกิดการระคายเคืองต่อสารต่าง ๆ และยังติดเชื้อจากแบคทีเรียได้ง่ายกว่าผิวของผู้ใหญ่อีกด้วย

รอยจ้ำสีแดงอมชมพู

          เกิดการแตกของหลอดเลือดฝอยขนาดเล็ก เราอาจพบรอยพวกนี้ตามตัวของลูกได้ โดยเฉพาะบริเวณต้นคอด้านหลัง ซึ่งไม่เป็นอันตรายและจะหายไปเอง

ตัวเหลือง

          เพราะตับยังทำงานได้ไม่เต็มที่ ทารกจึงมีอาการตัวเหลืองเล็กน้อยหลังคลอด แต่ถ้าสังเกตเห็นว่าลูกตัวเหลืองมาก ก็ไม่ควรนิ่งนอนใจ พาไปพบแพทย์ดีกว่าค่ะ

ขนอ่อน

          ปกติขนอ่อนเหล่านี้มักพบบ่อยในทารกที่คลอดก่อนกำหนด เพราะขนอ่อนจะมีอยู่ตามเนื้อตัวของลูก และมองเห็นได้ตั้งแต่อยู่ในท้องแม่ แล้วขนเหล่านี้จะหลุดร่วงไปเมื่อตอนทารกครบกำหนดคลอด แต่ก็มีทารกที่คลอดตามกำหนดบางรายยังมีขนอ่อนให้เห็นอยู่ได้ คุณแม่ก็ไม่ต้องกังวลนะคะ เพราะขนเหล่านี้จะหลุดร่วงไปเองค่ะ

ตุ่มตามผิวหนัง

          ลักษณะแบนและเล็กสีขาวหรือเหลืองบริเวณจมูกของทารกแรกคลอดนั้น เป็นอาการปกติที่จะหายไปเองภายใน 2-3 สัปดาห์ค่ะ

          สำหรับเด็กที่คลอดก่อนกำหนด ผิวของเด็กกลุ่มนี้จะมีหนังกำพร้าที่บางมากกว่าเด็กที่คลอดปกติ สูญเสียน้ำและสูญเสียความร้อนออกทางผิวหนังได้ง่าย ต่อมเหงื่อไม่เจริญเติบโตอย่างที่ควร ทำให้ผิวแห้งแตกเอาง่ายๆ การดูดขับสารเคมีต่างๆ เป็นไปได้รวดเร็ว และเกิดการระคายเคืองได้ง่ายกว่าเด็กปกติ อาจเกิดการอักเสบและตุ่มหนองขึ้นได้ง่าย ๆ เลยทีเดียว

ดูแลปกป้องผิวเจ้าตัวน้อย

          การดูแลผิวบอบบางของทารกนั้น ไม่ยุ่งยากซับซ้อนค่ะ เพียงแค่การอาบน้ำก็สามารถล้างคราบเหงื่อไคลได้สะอาดแล้ว คุณแม่อาจจะอาบน้ำให้เจ้าตัวเล็กแบบวันเว้นวันหรือทุกวันก็ได้ เน้นที่ความสะอาดของน้ำที่ใช้อาบ ควรใช้น้ำต้มสุกที่เย็นแล้ว เพื่อความปลอดภัย และเมื่ออาบน้ำเสร็จแล้ว ใช้วิธีซับผิวด้วยผ้าอย่างอ่อนโยนแทนการเช็ดตัวค่ะ

          ที่สำคัญ ควรใส่ใจการเช็ดล้างบริเวณซอกรักแร้ด้วยสำลีที่สะอาด ขณะอาบน้ำและทำความสะอาดจู๋-จิ๋มของลูก หลังจากการขับถ่าย ใช้สำลีชุบน้ำสะอาดเช็ดบริเวณจุ๋-จิ๋ม หรือก้น ถ้าเปื้อนมากอาจใช้สบู่อ่อนๆ ล้างออกก็ได้ค่ะ หรืออาจจะทาแป้ง เพื่อลดความอับชื้นก็ได้ค่ะ นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงอากาศที่ร้อนชื้น ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดเหงื่อและผดผื่นชนิดต่าง ๆ รวมถึงการสวมเสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี ไม่คับเกินไป ช่วยให้ลูกร่าเริงสดใสสบายตัวค่ะ

          สำหรับการเลือกเสื้อผ้าให้ลูก ปัจจัยสำคัญคือการเลือกให้เหมาะกับอากาศบ้านเราอากาศร้อนชื้น ควรเลือกผ้าฝ้ายธรรมชาติ หรือผ้าป่านที่มีคุณสมบัติบางเบาโปร่งสบายระบายอากาศ และถ่ายเทความร้อนได้ดี เหมาะกับสภาพอากาศเมืองร้อนมาก ๆ เลยค่ะ

ครีมกันแดดกับผิวเบบี๋

          สำหรับเบบี๋ที่ต้องออกนอกบ้าน คุณแม่สามารถทาครีมกันแดดให้ลูกได้ค่ะแต่มีข้อแม้ว่า ลูกของคุณต้องอายุไม่ต่ำกว่า 6 เดือนค่ะ ส่วนการเลือกครีมกันแดดให้ลูกไม่ควรมีส่วนผสมของสาร PABA น้ำหอม หรือสารเคมีอื่น ๆ ที่อาจทำให้ผิวลูกระคายเคืองได้ แต่ควรเลือกครีมกันแดดที่เป็นกลุ่มไทเทเนียมไดออกไซด์ และซิงค์ออกไซด์ ซึ่งปลอดภัยกับผิวของคนทุกวัย โดยเฉพาะผิวเด็กและคนที่มีผิวแพ้ง่ายค่ะ ระดับ SPF ที่เหมาะกับผิวของเด็กคือ ประมาณ SPF 15 ก็เพียงพอแล้วสำหรับการปกป้องผิวลูกจากแสงแดด ที่สำคัญควรเลือกแบบที่ทนน้ำได้ เพื่อการปกป้องที่ดีกว่าค่ะ

คลิกอ่านความคิดเห็นของ เพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ


ขอขอบคุณข้อมูลจาก

Vol.15 No.178 สิงหาคม 2553

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ใส่ใจผิวลูกแรกคลอด อัปเดตล่าสุด 23 สิงหาคม 2553 เวลา 15:31:41 6,937 อ่าน
TOP