x close

ไวรัส โรต้า ตัวการท้องเสียในเด็ก

baby

รู้จัก ROTA VIRUS ตัวการท้องเสียในเด็ก
(M&C แม่และเด็ก)

           สวัสดีค่ะกลับมาอีกครั้งในวันที่ฟ้าฉ่ำฝน ถนนเฉอะแฉะและมีน้ำท่วมขังเป็นหย่อม ๆ บ้านใครน้ำท่วมหรือต้องลุยน้ำบ่อย ๆ ระวังโรคเชื้อรา แล้วก็ฉี่หนูด้วยนะคะ เป็นหมอเด็กก็ต้องคอยติดตามกรมอุตุ เอ๊ย..สภาพดินฟ้าอากาศกันหน่อยค่ะ เพราะเด็ก ๆ เรามักป่วยเป็นโรคตามฤดูกาลกัน เช่น หน้าร้อนก็ท้องร่วง หน้าฝนก็เป็นหวัด พอหน้าหนาวก็กลับมาท้องเสียกันอีกรอบ นี่ยังไม่นับโรคที่เป็นไม่ค่อยเป็นเวล่ำเวลา อย่างไข้เลือดออก มือ-เท้า-ปากที่ออกอาละวาดอยู่เป็นพัก ๆ ให้เป็นข่าวอยู่บ่อย ๆ อีกต่างหาก ถ้าลูกใครอินเทรนด์มาก ใครเป็นอะไร หนูเป็นด้วยหมด ก็ไม่ไหวนะคะ ต้องพิจารณาตัวเองด่วน

           นี่ก็ใกล้จะปลายฝนต้นหนาวแล้ว อาจมีโรคเหงาระบาดในคนโสดได้ ต้องรีบป้องกันโดยการหาคู่โดยด่วน แต่ถ้ามีคู่อยู่แล้ว อาจมีอาการหูอื้อ ตาลาย เห็นโลกเป็นสีชมพู การรับรสผิดปกติ กินอะไรก็หวานไปหมด ไม่ต้องตกใจ อาการนี้จะเป็นอยู่ชั่วคราว เป็นแล้วหายได้เอง ไม่ต้องพบแพทย์แต่อย่างใด แต่ถ้าเป็นแม่ลูกอ่อนหรือมีลูกเล็กไม่เกิน 5 ขวบแล้วล่ะก็ ต้องระวังเพราะ... มันมาแน่...

           มันไหนล่ะ? มันที่ว่าก็คือ โรคท้องเสีย ที่เกิดจากเชื้อ ROTA VIRUS นั่นเองค่ะ เพราะโรคนี้จะออกอาละวาดทุกปีในช่วงหน้าหนาวที่มีอากาศเย็นน่ะค่ะ ต่างกับท้องเสียในช่วงหน้าร้อน ที่มักจะเกิดจากเชื้อแบคทีเรียมากกว่า เพราะอากาศร้อนทำให้อาหารบูดเสียได้ง่าย เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ชั้นดีของแบคทีเรีย แต่อากาศเย็นทำให้เชื้อไวรัสมีชีวิตอยู่ได้นานขึ้น ภาวะท้องเสียจากเชื้อไวรัสจึงมักระบาดในหน้าหนาว เช่นเดียวกับโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสอื่น ๆ เช่น อีสุกอีใส หวัด ไข้หวัดใหญ่ เป็นต้น

           โรคนี้พบได้บ่อยในช่วงอายุ 2 ขวบปีแรก เป็นสาเหตุของการท้องเสียที่พบได้บ่อยที่สุดในเด็กอายุแรกเกิดถึง 5 ปี จากสถิติของอเมริกา (บ้านเราไม่ค่อยจะมีการเก็บสถิติอย่างนี้เท่าไหร่ จึงต้องอาศัยยืมของเขามาอ้างอิงไปพลางก่อน) พบว่า มีเด็กป่วยด้วยเรื่องท้องเสียจากเชื้อนี้ 3,000,000 ครั้ง/ปี ในจำนวนนี้ต้องมาพบแพทย์ 500,000 ครั้ง/ปี และจำเป็นต้องนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล 50,000 ครั้ง/ปี ในบ้านเราพบได้ประมาณ 30 - 45 เปอร์เซ็นต์ของเด็กที่มาโรงพยาบาลด้วยเรื่องท้องเสีย (ทั้งนี้ ยังไม่นับพวกที่ไม่ได้มาโรงพยาบาลหรือไปคลินิก หรืออยู่บ้าน ปล่อยให้หายเอง) ซึ่งก็ใกล้เคียงกับสถิติของประเทศอเมริกาที่พบว่า 40 – 50 เปอร์เซ็นต์ของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีที่ต้องนอนโรงพยาบาลด้วยอาการท้องเสียเกิดจากเชื้อนี้ แต่ถ้าคิดถึงเด็กที่ป่วยด้วยเรื่องท้องเสียทั้งหมด พบว่า เกิดจากเชื้อนี้ประมาณ 5 - 10 เปอร์เซ็นต์ หมายความว่าในเด็ก 20 คนที่ท้องเสีย จะเกิดจากเชื้อนี้ 2 คน แต่เด็ก 1 ใน 2 คนนี้จะมีอาการรุนแรงจนต้องนอนโรงพยาบาล เป็นต้น

           เอ๊ะ..ยิ่งพูดยิ่งงงหรือเปล่าเนี่ย ว่ากันว่า เด็กทุกคนต้องเคยติดเชื้อนี้มาแล้วอย่างน้อย 1 ครั้ง ก่อนอายุครบ 5 ขวบ โรคนี้เป็นแล้วก็สามารถเป็นซ้ำได้อีก เพราะเชื้อตัวนี้มีหลายสายพันธุ์ คราวนี้เป็นจากสายพันธุ์นี้แล้ว คราวหน้าถ้าได้รับเชื้อที่เป็นสายพันธุ์ใหม่ ก็จะมีอาการได้อีก แต่มักจะไม่ค่อยรุนแรงเหมือนครั้งแรก เพราะมีภูมิคุ้มกันอยู่บ้าง

           โรคนี้แม้จะเจอบ่อย แต่โชคดีที่ส่วนใหญ่อาการมักไม่รุนแรงจนเสียชีวิต อัตราการตายจากโรคนี้ถือว่าต่ำมาก เมื่อเทียบกับจำนวนคนที่เป็นโรค ในแต่ละปีจะมีเด็กอายุ 0 - 5 ปีทั่วโลก ประมาณ 500,000 คนเสียชีวิตจากโรคนี้ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในประเทศกำลังพัฒนา อาการของโรคนี้ได้แก่ ไข้ เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลว บ่อยครั้ง ลักษณะอุจจาระเป็นน้ำ อาจมีน้ำมูกหรือไอร่วมด้วยเล็กน้อย ซึ่งเป็นอาการที่พบร่วมได้บ่อยเมื่อมีการติดเชื้อไวรัส อาการเหล่านี้จะนำไปสู่ภาวะขาดน้ำ ถ้าเป็นน้อยก็แค่ปากแห้ง รู้สึกกระหายน้ำ ถ้าขาดน้ำมากขึ้น ก็จะเริ่มมีอาการกระสับกระส่าย ซึม ถ้ารุนแรง ก็จะเริ่มเห็นตาลึกโบ๋ ผิวเหี่ยวจนจับตั้งได้ ความดันต่ำ ช็อก หมดสติ ถึงตายได้ ถ้าให้การรักษาไม่ทัน และเนื่องจากโรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัส จึงไม่มียาฆ่าเชื้อรักษา การรักษาส่วนใหญ่จึงเป็นการรักษาตามอาการ คือ เช็ดตัว ให้ยาลดไข้ ให้ยาแก้อาเจียน รักษาอาการขาดน้ำโดยให้กินน้ำเกลือแร่ครั้งละน้อย ๆ แต่ให้บ่อย ๆ ให้รับประทานอาหารอ่อน ย่อยง่าย ถ้าอาเจียนหรืออ่อนเพลียมาก กินไม่ได้ อาจจำเป็นต้องให้น้ำเกลือและยาฉีดทางเส้นเลือดจนกว่าอาการจะดีขึ้น โดยทั่วไปมักเริ่มมีอาการหลังจากได้รับเชื้อไปแล้ว 2 วัน และเป็นอยู่ 3 - 8 วัน

           ไวรัสตัวนี้ติดต่อได้ง่ายมาก โดยการสัมผัสกับอุจจาระหรือวัสดุที่ปนเปื้อนกับอุจจาระโดยตรง ดังนั้น การป้องกันการติดต่อที่ดีที่สุด คือ การล้างมือบ่อย ๆ ควรสอนเด็ก ๆ ให้ล้างมือบ่อย ๆ ฟอกสบู่ให้สะอาดทุกครั้งก่อนกินอาหารและหลังจากเข้าห้องน้ำ คนที่ดูแลเด็กก็ควรล้างมือฟอกสบู่ให้สะอาดทุกครั้งก่อนชงนม หรือหลังเปลี่ยนผ้าอ้อมให้เด็ก หลีกเลี่ยงการนำมือหรือของเล่นเข้าปาก เพราะเชื้อตัวนี้มีอยู่ในอากาศทั่วไป และแฝงอยู่ตามสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ โดยมีชีวิตอยู่ได้นานเป็นวัน ถ้าอยู่ nursery หรือ daycare ควรให้หยุดไปก่อนจนกว่าจะหายเป็นปกติ เพื่อป้องกันการติดต่อ

           การทานนมแม่จะเป็นอีกหนทางหนึ่งที่จะช่วยป้องกันโรคนี้ได้ เพราะในนมแม่จะมีภูมิต้านทานต่อโรคต่าง ๆ ผ่านจากแม่มาสู่ลูก ช่วยป้องกันการติดเชื้อได้หลายชนิด

           ในปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคนี้ชนิดกินให้ในเด็กอายุ 6 - 24 สัปดาห์ โดยให้ 2 ครั้งห่างกันอย่างน้อย 4 สัปดาห์ จากการศึกษาในปัจจุบันพบว่า วัคซีนตัวนี้สามารถป้องกันการเกิดโรคได้ 74 เปอร์เซ็นต์ แต่สามารถป้องกันการติดเชื้อรุนแรงจนต้องนอนโรงพยาบาลได้ 96 – 98 เปอร์เซ็นต์ หรือช่วยลดความรุนแรงของโรคนั่นเอง แต่เนื่องจากราคาของวัคซีนที่ค่อนข้างสูง ดังนั้น การที่จะให้วัคซีนตัวนี้หรือไม่นั้นก็คงต้องคำนึงในจุดนี้ด้วย ส่วนผลข้างเคียงของวัคซีนตัวนี้ที่อาจพบได้ คือ งอแง เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลวเล็กน้อย พบได้ประมาณ 1 - 3 เปอร์เซ็นต์ ภายใน 7 วันหลังได้รับวัคซีน

     
   
 
   คลิกอ่านความคิดเห็นของ เพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ    


ขอขอบคุณข้อมูลจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ไวรัส โรต้า ตัวการท้องเสียในเด็ก อัปเดตล่าสุด 22 กันยายน 2553 เวลา 14:32:25 1,635 อ่าน
TOP