x close

แม่จ๋า เพื่อนล้อว่าหนูตัวเตี้ย

แม่และเด็ก

แม่จ๋า เพื่อนล้อว่าหนูตัวเตี้ย
(โรงพยาบาลพญาไท)

            เมื่อคุณพ่อ คุณแม่ ได้ยินว่าลูกถูกเพื่อนล้อว่าตัวเตี้ย คงเกิดความไม่สบายใจ และกังวลว่าทำไมลูกของเราเติบโตช้ากว่าเพื่อนวัยเดียวกัน การเจริญเติบโตของเด็กนั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ได้แก่ พันธุกรรมความสูงของ บิดา-มารดา ภาวะโภชนาการ การออกกำลังกาย การนอนหลับในเวลาที่เหมาะสม รวมถึงความแข็งแรงของร่างกาย และระดับฮอร์โมนธัยรอยด์ ฮอร์โมนการเจริญเติบโต และฮอร์โมนเพศที่ปกติ
 
ในเด็กแต่ละช่วงอายุ จะมีอัตราการเจริญเติบโตที่แตกต่างกันดังนี้

            1. อายุแรกเกิด - 1 ปี ความสูงขึ้นประมาณ 25 ซม.ต่อปี

            2. อายุ 1- 2 ปี ความสูงขึ้นประมาณ 10 ซม.ต่อ ปี

            3. อายุ 2-4 ปี ความสูงขึ้นประมาณ 6-8 ซม.ต่อปี

            4. อายุมากกว่า 4 ปี หรือเริ่มเข้าวัยรุ่น ความสูงขึ้นประมาณ 5-6 ซม.ต่อปี

เกณฑ์ที่ใช้ในการสังเกตว่าควรจะพาลูกมาตรวจกับกุมารแพทย์ทางด้านการเจริญเติบโตคือ

            1. ลูกมีอัตราความสูงเพิ่มขึ้นน้อยกว่า 5 เซนติเมตรต่อปี

            2. ลูกมีความสูงน้อยกว่าเปอร์เซนต์ไทล์ที่ 3 จากกราฟมาตราฐานการเจริญเติบโต ของเด็กตามอายุ และเพศเดียวกัน

            3. ลูกตัวเตี้ยทั้งๆที่ พ่อแม่ตัวสูง

            ซึ่งคุณหมอจะตรวจร่างกายอย่างละเอียด และแนะนำการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม
            
สาเหตุที่ทำให้เด็กตัวเตี้ย มีดังนี้

            1. พันธุกรรมบิดา-มารดาตัวเตี้ย เราทราบกันดีว่าพันธุกรรมมีบทบาทกำหนดความสูงของลูกประมาณ 70 % ซึ่งมีสูตรประเมินความสูงเด็ก จากความสูงของบิดา-มารดาดังนี้

แม่และเด็ก

            เมื่อคำนวณได้เป็นความสูงเฉลี่ยของเด็ก เมื่เติบโตเต็มที่ ซึงมีค่า บวก/ลบ 7 เซนติเมตร หมายความว่า ถ้าเด็กมีโภชนาการที่ดี ออกกำลังกายสม่ำเสมอ นอนพักผ่อนในเวลาที่เหมาะสม และสุขภาพร่างกายแข็งแรง เด็กคนนั้นสามารถสูงได้มากกว่าความสูงเฉลี่ยตามพันธุกรรมถึง 7 เซนติเมตร ดังตัวอย่างจากเด็กญี่ปุ่นปัจจุบันมีความสูงมากกว่าคนญี่ปุ่นในอดีต เนื่องจากมีโภชนาการที่ดีขึ้น

            2. กลุ่มม้าตีนปลาย เป็นสาเหตุในเด็กชายมากกว่าเด็กหญิง เด็กกลุ่มนี้มีความยาวแรกเกิดปกติ เริ่มมีการเติบโตช้าลงในช่วง 2 ขวบปีแรก และหลังจากนั้นความสูงจะเพิ่มขึ้นในอัตราปกติ 5 ซม.ต่อปี อายุกระดูกช้ากว่าอายุจริง ประมาณ 2-4 ปีและเข้าสู่วัยหนุ่ม-สาว ช้ากว่าเพื่อนในวัยเดียวกัน แต่เมื่อสู่ช่วงวัยหนุ่ม- สาว เด็กสามารถทะยานความสูงได้ถึงความสูงตามพันธุกรรม

            3. สาเหตุจากเด็กมีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่นโรคเลือด โรคหัวใจ โรคปอด โรคไต โรคเบาจืด เป็นต้น ซึ่งเด็กกลุ่มนี้จะมีน้ำหนักที่ต่ำกว่าเกณฑ์ปกติร่วมด้วย ซึ่งแพทย์จะตรวจร่างกายอย่างละเอียด และตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัตรการณ์ เพื่อให้การวินิจฉัย จะได้ให้การรักษาจำเพาะตามโรคนั้น ๆ

            4. เด็กขาดฮอร์โมนที่สำคัญต่อการเจริญเติบโต ได้แก่ ฮอร์โมนธัยรอยด์ ฮอร์โมนการเจริญเติบโต และฮอร์โมนเพศ
 
            4.1 เด็กขาดฮอร์โมนธัยรอยด์ มีลักษณะอ้วนฉุ ตัวเตี้ย พัฒนาการช้า อายุกระดูกช้ากว่าอายุจริง หากเป็นตั้งแต่แรกเกิดและได้รับการรักษาช้าจะมีสติปัญญาอ่อน ลิ้นโต สะดือจุ่น ที่รู้จักกันว่าโรคเอ๋อ หากเริ่มเป็นในเด็กโต จะพบคอพอกร่วมด้วย จำเป็นต้องเจาะเลือดวัดระดับฮอร์โมนธัยรอยด์ เพื่อยืนยันการวินิจฉัย และให้การรักษาโดยรับประทานยาธัยรอยด์ทดแทนอย่างต่อเนื่อง จะทำให้เด็กมีพัฒนาการทางร่างกาย และสติปัญญาดีขึ้น

            4.2 เด็กขาดฮอร์โมนการเจริญเติบโต มีลักษณะน้ำหนัก ความยาวแรกเกิดปกติ แต่จะมีอัตราการเจริญเติบโตช้าลงหลังคลอด อายุกระดูกล่าช้ากว่าอายุจริงมากกว่า 2 ปีขึ้นไป หน้ากลมเหมือนตุ๊กตา เสียงแหลมเล็ก ยืนยันการวินิจฉัยโดยทดสอบวัดระดับฮอร์โมนการเจริญเติบโต เด็กที่ขาดฮอร์โมนการเจริญเติบโต เมื่อได้รับการรักษาโดยฉีดยาฮอร์โมนเติบโตเข้าใต้ผิวหนัง ทุกวัน วันละครั้ง อย่างต่อเนื่อง จะทำให้ความสูงเพิ่มขึ้นได้ใกล้เคียงความสูงตามพันธุกรรม (หากเด็กได้รับการรักษาเร็ว และต่อเนื่อง)

            4.3 เด็กขาดฮอร์โมนเพศ เด็กไม่มีลักษณะทางเพศชาย-หญิง เมื่อเข้าสู่วัยหนุ่ม-สาว คือ เด็กหญิงไม่มีเต้านม เด็กชายไม่มีหนวด เสียงไม่แตก ไม่มีขนหัวหน่าว ซึ่งเด็กกลุ่มนี้จะไม่มีอัตราความสูงทะยานขึ้นอย่างที่ควรจะเป็น อายุกระดูก ช้ากว่าอายุจริง

            5.สาเหตุจากโครโมโซมผิดปกติ เช่นโรค Turner syndrome พบในเด็กผู้หญิงเท่านั้น ตัวเตี้ย อาจพบมีความผิดปกติอื่นร่วมด้วย เช่น คอสั้นเป็นแผง ชายผมด้านหลังต่ำกว่าปกติ หนังตาตก หน้าอกกว้าง เส้นเลือดหัวใจผิดปกติ พัฒนาการทางเพศหญิงล่าช้า ดังนั้น เด็กหญิงที่ตัวเตี้ยมากผิดปกติ จำเป็นต้องตรวจโครโมโซมจากเลือด

            6.สาเหตุโรคกระดูกพันธุกรรม และโรคกระดูกอ่อน ลักษณะจำเพาะของโรคกระดูกพันธุกรรมคือ เด็กจะมีสัดส่วนร่างกายผิดปกติ สำหรับโรคกระดูกอ่อน จะพบว่ามีขาโก่ง หรือข้อเข่าชิดกันร่วมด้วย จำเป็นต้องเอ็กซเรย์กระดูก และเจาะเลือด ตรวจปัสสาวะ วัดระดับแคลเซียม ฟอสฟอรัส เพื่อให้การวินิจฉัย และการรักษาที่ถูกต้อง

            จากข้อมูลความรู้ดังกล่าวหากคุณพ่อ คุณแม่สงสัยว่าลูกตัวเตี้ยผิดปกติ ควรพาลูกมาตรวจกับกุมารแพทย์ทางด้านการเจริญเติบโต พร้อมทั้งนำข้อมูล น้ำหนัก ความยาว-ส่วนสูง ตั้งแต่แรกเกิด จนถึงปัจจุบัน มาให้แพทย์ด้วย เพื่อให้แพทย์ได้สืบค้นโรค และให้คำแนะนำพร้อมรักษาได้อย่างถูกต้อง




ขอขอบคุณข้อมูลจาก


 
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
แม่จ๋า เพื่อนล้อว่าหนูตัวเตี้ย อัปเดตล่าสุด 5 พฤศจิกายน 2553 เวลา 14:39:26
TOP