x close

รวมโรครังควานผิวหนังลูกเล็ก



รวมโรครังควานผิวหนังลูกเล็ก
(Modernmom)

          เด็กทารกวัยขวบปีแรก เป็นช่วงวัยที่ผิวหนัง ยังไม่แข็งแรงเท่าเด็กโตหรือผู้ใหญ่ ทำให้เกิดโรคผิวหนังที่แตกต่างจากคนวัยอื่น สำหรับปัญหาที่พบบ่อย พอจะแบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ได้ 2 กลุ่ม คือกลุ่มโรคผิวหนังติดเชื้อ และกลุ่มโรคผิวหนังที่ไม่ติดเชื้อค่ะ

กลุ่มที่ 1 โรคผิวหนังติดเชื้อ

สำหรับโรคในกลุ่มนี้ที่พบบ่อยในเด็กเล็ก คือ

1.โรคผิวหนังติดเชื้อแบคทีเรีย

           เชื้อที่อยู่บนผิวหนังปกติและในจมูก (Staphylococcus Aureus หรือ Streptococcus) โรคนี้อาจเกิดขึ้นบนผิวหนังปกติ หรือเกิดแทรกซ้อนร่วมกับโรคผิวหนังชนิดอื่นก็ได้ โดยมีสาเหตุเกิดจากเชื้อที่พบได้บนผิวหนังปกติหรือเชื้อที่อาศัยอยู่ในจมูก เมื่อผิวหนังมีร่องรอยจากการเกา จะเกิดการติดเชื้อและเกิดโรคนี้ขึ้น

          สังเกตอาการเบื้องต้น ผิวหนังอักเสบ เป็นผื่นแดง ต่อมาเป็นตุ่มน้ำใส ๆ ขนาดเล็กหรือใหญ่ก็ได้ ตุ่มน้ำจะแตกกลายเป็นน้ำเหลือง ส่วนมากมักเข้าใจกันว่าเป็นน้ำเหลืองเสีย ถ้าเด็กเกามาก ๆ เชื้อก็จะลุกลามลึกลงไป ทำให้เป็นแผลพุพอง เมื่อหายแล้วอาจกลายเป็นแผลเป็นได้

วิธีรักษาและป้องกัน

        ควรระมัดระวังไม่ให้ผิวเด็กถูกทำลาย เพื่อป้องกันการติดเชื้อ

        หมั่นตัดเล็บลูกให้สั้น เพื่อลดการทำลายผิวหนังจากการเกา

        รักษาความสะอาดของผิวหนัง โดยใช้สบู่ หรือสบู่ยา (ที่แพทย์แนะนำ) เพื่อทำลายเชื้อ

        หากอาการไม่ดีขึ้นอาจต้องใช้ยาปฏิชีวนะ สำหรับฆ่าเชื้อ เพราะเด็กวัยขวบปีแรกมีความด้านทานต่ำ เชื้ออาจลุกลามและเป็นอันตรายได้

        ถ้าแผลไม่ลึกก็มักจะหายโดยเหลือรอยต่างดำไว้บ้าง ซึ่งจะจางหายไปในภายหลัง

        เชื้อโรคที่เป็นผลจากพิษของเชื้อแบคทีเรีย (Staph Aureus)

          เราเรียกโรคนี้ว่า Staphylococcal Scalded Skin Syndrome (4S) พบมากในเด็กทารก เป็นผลให้เด็กสูญเสียเกลือแร่ทางผิวหนังเป็นจำนวนมาก

          สังเกตอาการ เชื้อแบคทีเรียตัวนี้ทำให้ผิวหนังพองและลอกแดงเป็นปื้นใหญ่ๆ คล้ายน้ำร้อนลวก จะมีผื่นรอบ ๆ ปากและจมูก

          วิธีรักษาและป้องกัน ส่วนใหญ่ต้องแอดมิด เพื่อความปลอดภัย ถ้าเป็นไม่มากอาจให้ยาปฏิชีวนะเพื่อทำลายเชื้อ ป้องกันเชื้อปล่อยพิษออกมาอีก

2. โรคผิวหนังติดเชื้อรา

          สำหรับเด็ดเล็กมักพบโรคนี้ร่วมกับผื่นแพ้ ผ้าอ้อม เพราะผิวหนังเด็กจะอักเสบจากการแพ้ และอับชื้น ทำให้เชื้อรากลุ่มแคนดิดาแทรกซ้อน สังเกตอาการ มีผื่นแดงจัด มักมีตุ่มใสและตุ่มหนองกระจายออกไปจากบริเวณที่เป็น ส่วนมากเชื้อจะอยู่ในทางเดินอาหาร ในช่องปากของทารก ลักษณะเป็นฝ้าขาว ๆ คล้ายคราบนม แต่จะติดแน่นกว่า

          เด็กที่กินยาปฏิชีวนะนาน ๆ จะทำให้เชื้อรานี้ เพิ่มจำนวนมากขึ้น ถ่ายอุจจาระออกมาสัมผัสกับผื่นอับชื้นหรือผื่นผ้าอ้อม ทำให้เชื้อเติบโตและกลายเป็นผื่นลูกลามมากขึ้นได้ ถ้าทารกมีอาการท้องเสีย ให้ยาปฏิชีวนะต่อเนื่อง ผื่นผ้าอ้อมทายาแก้แพ้ผ้าอ้อมแล้วไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์ผิวหนัง เพื่อตรวจดูว่ายังมีเชื้อราอยู่หรือไม่

วิธีรักษาและป้องกัน

        หลีกเลี่ยงภาวะที่ทำให้เกิดโรคนี้ เช่น การให้ยาปฏิชีวนะต่อเนื่องเป็นเวลานานโดยไม่มีเหตุสมควร

        ระวังและดูแลไม่ให้เกิดผื่นผ้าอ้อม

        ไม่ปล่อยให้มีปัสสาวะหรืออุจจาระหมักหมมอยู่ในผ้าอ้อมนานเกินไป

        ใช้ยาทาฆ่าเชื้อรา

          หรือทารกอาจติดเชื้อเกลื้อน ซึ่งเป็นเชื้อราชนิดหนึ่ง ติดจากพ่อแม่คนเลี้ยงที่เป็นโรคนี้ โดยเฉพาะแม่ที่มีเชื้อเกลื้อนบริเวณหน้าอกใต้ราวนม เวลาให้นมลูก เชื้อก็ติดต่อไปที่หน้า คิ้ว หน้าผากลูกได้มีลักษณะเป็นดวงขาว ๆ มีขุยบาง ๆ มีขอบเขตค่อนข้างชัดเจน

          วิธีการรักษาและป้องกัน ควรรักษาแม่หรือคนรอบข้างที่เป็นพร้อมกันกับเด็กด้วย โดยใช้ยาทาฆ่าเชื้อรา และรักษาความสะอาดไม่ควรให้มีเหงื่อหมักหมมทำให้เชื้อไม่หายขาด เป็น ๆ หาย ๆ ได้

กลุ่มที่ 2 ผิวหนังอักเสบที่ไม่ติดเชื้อ

          เป็นโรคที่พบบ่อยในเด็กขวบปีแรก และเป็นปัญหาที่คุณพ่อคุณแม่ควรทราบ เพื่อให้การดูแลเบื้องต้นก่อนไปพบแพทย์

1. โรคผื่นภูมิแพ้ (Atopic Dermatitis)

          พบได้บ่อยในเด็กทารกวัยขวบปีแรก ประมาณร้อยละ 60 (พบได้ร้อยละ 85 ในเด็กที่อายุไม่เกิน 5 ปี) เป็นโรคเรื้อรัง เป็น ๆ หาย ๆ โดยมีประวัติส่วนตัวหรือครอบครัวเป็นโรคในกลุ่มภูมิแพ้ เช่น ผื่น ภูมิแพ้ โรคหอบหืด โรคแพ้อากาศ และเยื่อจมูกอักเสบ

          สังเกตอาการ เด็กที่เป็นโรคนี้จะเริ่มมีอาการเมื่ออายุ 2-3 เดือนถึง 2  ปี โดยมีผื่นแดงที่แก้ม 2 ข้าง และด้านนอกของแขนขา และลำตัว ผิวหนังแห้ง มีอาการคันมาก ทำให้ระคายเคืองได้ง่ายจากการเสียดสี แม้แต่น้ำลายหรือเหงื่อของตัวเด็กเอง

วิธีรักษาและป้องกัน

        หลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้ผิวหนังระคายเคือง ทั้งเสื้อผ้า สบู่ ผงซักฟอก ยาทาผิวหนังที่เหนอะหนะ

        ทาครีมหรือโลชั่นเพื่อให้ผิวหนังชุ่มชื้น ช่วยลดอาการคันควรรีบทาทันทีหลังเด็กอาบน้ำ

        ถ้าเป็นมากควรพาไปพบแพทย์ผิวหนัง เพื่อแนะนำการใช้ยาที่ถูกต้อง รวมทั้งกินยาเพื่อช่วยลดอาการคัน เพราะถ้าเด็กยิ่งเกา ก็จะยิ่งทำให้ผื่นห่อมากขึ้นได้

2. โรคผื่นผิวหนังจากต่อมไขมันอักเสบ (Seborrheic Dermatitis)

          พบได้ในทารกวัย 3-12 สัปดาห์ โดยจะมีผื่นบริเวณที่มีต่อมไขมันมาก เช่น ศีรษะ คิ้ว แก้ม ใบหู ซอกคอ รักแร้ ขาหนีบ รวมถึงข้อพับแขนขา โรคนี้ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเกิดจากสาเหตุใด แต่สันนิษฐานว่า อาจเกิดจากปฏิกิริยาต่อการเพิ่มจำนวนของเชื้อราชนิดหนึ่ง ที่ชอบผิวหนังที่มีไขมันมาก ประกอบกับทารกวัยนี้ ต่อมไขมันจะถูกกระตุ้นให้เจริญเติบโตมากกว่าเด็กโต

          สังเกตอาการ มีผื่นเป็นขุยแห้ง ๆ สีน้ำตาลปนเหลือง เริ่มจากศีรษะ คิ้ว ต่อมาเพิ่มขึ้นตามตำแหน่งที่มีต่อมไขมันมาก เด็กจะไม่ค่อยคัน ไม่ค่อยเกาหรืองอแง
วิธีการรักษาและป้องกัน

          สำหรับบริเวณศีรษะใช้น้ำมันหรือน้ำมันมะกอกทาทิ้งไว้ 1-2 ชั่วโมง แล้วสระออกด้วยแชมพูเด็ก การถูเบา ๆ จะช่วยให้สะเก็ดหลุดได้ง่ายขึ้น ถ้าเป็นมากควรใช้ครีมที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์อ่อนๆ (1% Hydrocortisone) ทาเช่นเดียวกับทาผื่นแดงและขุยในตำแหน่งอื่นที่กล่าวมาข้างต้น

          Note! โรคนี้คุณแม่บางท่านอาจเข้าใจว่าเป็นผื่นภูมิแพ้ แต่ต่างกันที่โรคนี้จะไม่ค่อยมีอาการคันเหมือนผื่นภูมิแพ้ และเริ่มเป็นได้เร็วกว่า (ส่วนใหญ่มักเริ่มภายในเดือนแรก) ส่วนผื่นภูมิแพ้มักเริ่มในช่วงอายุ 2-3 เดือนขึ้นไป และที่สำคัญผื่นผิวหนังจากต่อมไขมันอักเสบจะหายเร็วกว่าผื่นภูมิแพ้ โดยมักจะหายก่อนอายุ 6 เดือน (ประมาณ 3-4 เดือน)

3. โรคผื่นผ้าอ้อม (Diaper Dermatitis)

          เป็นผื่นที่เกิดขึ้นบริเวณที่นุ่งผ้าอ้อม จากการระคายเคืองหรือแพ้สารสัมผัส พบบ่อยในเด็กทารกอายุ 3-18 เดือน โดยเกิดจากหลายปัจจัยร่วมกัน เช่น การสัมผัสกับสารระคายเคือง โดยเฉพาะจากปัสสาวะและอุจจาระที่มีน้ำย่อยโปรตีนและไขมัน ร่วมกับความเปียกขึ้นของผ้าอ้อมเป็นเวลานาน ยิ่งเป็นผ้าอ้อมสำเร็จรูปที่คุณภาพไม่ดีซึมซับได้น้อย และคุณแม่หรือพี่เลี้ยงละเลย ปล่อยให้หมักหมมปัสสาวะหรืออุจจาระเป็นเวลานาน

          สังเกตอาการ ดูจากผื่นสีแดงตามบริเวณผิวหนังที่สัมผัสกับผ้าอ้อม ได้แก่ ต้นขาด้านใน อวัยวะเพศ ท้องน้อยช่วงล่าง และก้น ส่วนที่นูน ส่วนบริเวณซอกขาที่อยู่ลึกเข้าไปจะไม่มีผื่น เพราะไม่สัมผัสกับผ้าอ้อม ถ้าเป็นมากจะเป็นแผลถลอก และอาจติดเชื้อจนกลายเป็นตุ่มน้ำหรือตุ่มหนองได้

วิธีการรักษาและดูแล

        ทำความสะอาดและรักษาผิวหนังให้แห้งอยู่เสมอ

        หมั่นเปลี่ยนผ้าอ้อมเมื่อเปียกชื้น

        เลือกใช้ผ้าอ้อมที่มีคุณภาพ ซึมซับความเปียกชื้นได้ดี

        ทาครีมหรือขี้ผึ้ง เพื่อเคลือบผิวบริเวณที่ต้องสัมผัสกับผ้าอ้อม ช่วยลดการเกิดผื่นซ้ำได้

        ถ้าเป็นมากควรใช้ยาทาผื่นผ้าอ้อมตามความจำเป็น และควรปรึกษาแพทย์ เพราะอาจมีการติดเชื้อราและเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย

          โรคผิวหนังสำหรับเบบี๋วัยขวบปีแรก เป็นเรื่องที่พบได้ทั่วไปด้วยวิธีการสังเกตแต่ละโรคข้างต้น คงช่วยให้คุณแม่ดูแลลูกในเบื้องต้นได้ และช่วยบรรเทาอาการต่าง ๆ ทำให้ลูกไม่ต้องเผชิญหน้ากับโรคเหล่านี้นานเกินไปค่ะ


    
    


ขอขอบคุณข้อมูลจาก

Vol.16 No.182 ธันวาคม 2553

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
รวมโรครังควานผิวหนังลูกเล็ก อัปเดตล่าสุด 21 มกราคม 2554 เวลา 14:40:23 59,459 อ่าน
TOP