x close

ขาโก่ง...ปัญหาของสาวอยากสวย

ขาโก่ง

ขาโก่ง...ปัญหาของสาวอยากสวย (Appeal)


          สาว ๆ ที่มีปัญหาขาโก่ง มักมีปัญหากับการตามเทรนด์แฟชั่น นุ่งกางเกงก็เห็นขาโก่งชัดเจน นุ่งกระโปรงสั้นก็อวดขาโก่ง อีกแหละ ปัญหานี้คงมีบางคนที่คิดอยากแก้ไข แต่จะแก้ไขได้หรือไม่นั้นต้องสอบถาม นพ.กรกฎ พานิช ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ และเวชศาสตร์การกีฬา วิทยาลัยวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีการกีฬา มหาวิทยาลัยมหิดล ที่จะมาไขปัญหาให้คนขาโก่งหายข้องใจ ซึ่งคุณหมอกกรกฎอธิบายว่า "ขาโก่งในเด็ก และวัยหนุ่มสาวส่วนใหญ่เกิดจากพันธุกรรม ซึ่งมีทั้งขาโก่งแบบเป็นโรคและขาโก่งแบบธรรมชาติ"

ขาโก่งตามธรรมชาติ

          ขามักจะโก่งทั้งสองข้าง องศาของการโก่งไม่มากนัก และความโก่งของขาทั้งสองข้างใกล้เคียงกัน มักสังเกตเห็นตอนอายุน้อยกว่า 2 ขวบ ต่อมาความโก่งจะเริ่มลดลงและรูปร่างเข่าจะดูปกติเมื่ออายุประมาณ 3 ขวบ สำหรับบางคนขาอาจจะโก่งตั้งแต่เด็กจนโตเป็นผู้ใหญ่แต่ไม่มีอาการผิดปกติ

ขาโก่งแบบเป็นโรค

          ในกรณีของเด็กเกิดจากการมีพยาธิสภาพของกระดูกบริเวณรอบหัวเข่า มักเป็นที่เข่าข้างใดข้างหนึ่ง ทำให้โครงสร้างของเข่าทั้งสองข้างมีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด หรืออาจเป็นทั้ง 2 ข้าง แต่มีองศาของความโก่งมากและทำให้การเจริญเติบโตของกระดูกขาผิดปกติ อาจรุนแรงถึงขั้นทำให้การเดินมีความผิดปกติ ส่วนผู้ใหญ่หรือคนสูงอายุเกิดจากการใช้งาน (ความเสื่อม) หรืออาจเกิดจากการได้รับอุบัติเหตุบริเวณขา หรือเข่า

ขาโก่งรักษาได้ไหม

          การรักษาขาโก่งได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับลักษณะการโก่ง ในเด็กแบ่งเป็นสองกลุ่ม คือกลุ่มที่โก่งแบบเป็นโรคกับกลุ่มที่โก่งแบบธรรมชาติ

          กลุ่มที่โก่งแบบธรรมชาติ อาจจะรักษาด้วยการสังเกตอาการ และแก้ไขเมื่อมีองศาที่ผิดปกติมากเกินไป

          กลุ่มที่โก่งแบบเป็นโรค อาจจะรักษาด้วย การใช้อุปกรณ์ประคองเข่าในกรณีที่ความโก่งไม่มาก และอาจแก้ไขด้วยการผ่าตัดในกรณีที่มีความโก่งมากหรือมีอาการปวด

ขาโก่งกับคอสเมติก

          การรักษาขาโก่งเพื่อความสวยงามในผู้ใหญ่ (ในกรณีที่ไม่มีความเจ็บปวดจากการใช้ชีวิตประจำวัน) การผ่าตัดทำได้แต่ยังไม่เป็นที่นิยมมากนัก เพราะการผ่าตัดอาจเสี่ยงกับภาวะแทรกซ้อน (บางครั้งอาจอันตรายถึงชีวิต) ในเมืองไทยมีการผ่าตัดรักษาขาโก่งเพื่อความสวยงามไม่มากนัก แต่ในต่างประเทศมีการผ่าตัดรักษาขาโก่งเพื่อความสวยงามพอสมควร เช่น ประเทศรัสเซียและยูเครน ส่วนการผ่าตัดขาโก่งในคนไทยนั้น มักเป็นการรักษาคนสูงอายุหรือคนวัยกลางคนที่มีอาการขาโก่งจากการใช้งาน จากอุบัติเหตุ หรือจากการใช้ชีวิตประจำวัน จนส่งผลให้ขาโก่งและมีความเจ็บปวดร่วมด้วย ก็จะมีการผ่าตัดเพื่อแก้ปัญหาขาโก่ง พร้อมกับแก้ปัญหาความปวดด้วย

การรักษาแบบไม่ผ่าตัด

          มักเน้นเรื่องการบริหารกล้ามเนื้อให้แข็งแรง เพื่อให้เนื้อช่วยประคองเข่า อาจไม่ได้ช่วยให้ขาหายโก่ง แต่อาจทำให้อาการปวดลดลง

แบบผ่าตัด

          ในกลุ่มที่ผิดรูปมากจนการลงน้ำหนักแล้วเสียสมดุลจนเกิดความปวด จะผ่าตัดเพื่อเปลี่ยนแนวแกนกระดูก ทั้งนี้การเปลี่ยนแนวแกนกระดูกจะทำให้ขาที่เคยโก่ง (เข่าห่าง) หลังผ่าตัดจะทำให้เข่าชิดกันมากขึ้น

สาว ๆ อยากรักษาขาโก่ง?

          สามารถผ่าตัดรักษาได้ ถ้าไม่มีภาวะแทรกซ้อนก็ถือว่าโชคดี กรณีที่ผ่าตัดเพื่อความสวยงามศัลยแพทย์กระดูกอาจต้องคุยกับคนใช้ให้ละเอียด เพื่อชั่งน้ำหนักความคุ้มค่าของการผ่าตัด เพราะการผ่าตัดมีความเสี่ยงในทุกขั้นตอน ตั้งแต่ก่อนผ่าตัด การเตรียมตัวระหว่างผ่าตัดและหลังผ่าตัด

          ระยะเวลาพักฟื้น อาจต้องทำทั้งสองข้าง โดยผ่าตัดทีละข้าง หลังผ่าตัดในช่วงแรกยังเดินลงน้ำหนักได้ไม่เต็มที่ การยืนและเดินจะใช้ไม้ค้ำหรือใช้อุปกรณ์ช่วยพยุงการเดิน ประมาณ 1 ½-2 เดือน จากนั้นจะประเมินกระดูกที่ผ่าตัด ถ้ามีการเชื่อมตัวกันแล้วก็สามารถเพิ่มการลงน้ำหนัก และเพิ่มการใช้งานได้

          ความเสี่ยง ที่อันตรายที่สุดคือ การเสียชีวิต แม้จะมีเปอร์เซ็นต์ต่ำ บางครั้งขาอาจไม่ได้องศาตามที่ต้องการ อาจมีแผล มีการติดเชื้อและมีการอักเสบ รวมทั้งการหลวมของโลหะที่ดาม นอกจากนี้ก็จะมีแผลเป็นบริเวณใต้เข่าด้านใน ประมาณ 5 เซนติเมตร หรืออาจเกิดแผลคีลอยด์ในบางคน

          การดูแล หลังผ่าตัดการดูแลไม่ต่างจากภาวะกระดูกหัก ในช่วงแรกยังลงน้ำหนักไม่ได้เพราะว่าการผ่าตัดเป็นการตัด ทำให้กระดูกที่ปกติขาดออกจากกัน (ไม่ได้ตัดทิ้ง) จากนั้นจะดัดแนวกระดูกใหม่และเสริมความแข็งแรงด้วยแผ่นโลหะตามกระดูก อาจจะมีความไม่คล่องตัวในช่วง 2 สัปดาห์แรกหลังผ่าตัด

Tip :

          ขาโก่งเกิดจากการใช้งานมาก หรือเข่าเสื่อม ถ้าสามารถบริหารให้เนื้อเยื่อมีความยืดหยุ่น และแข็งแรง จะช่วยเรื่องบรรเทาอาการปวดได้ และอาจทำให้อัตราการโก่งช้าลง แต่ไม่สามารถทำให้ขาหายโก่ง

          ในประเทศรัสเซียหรือยูเครน นิยมผ่าตัดรักษาขาโก่งโดยการตัด ตัดกระดูก และเจาะกระดูกเพื่อวางโครงเหล็กตามกระดูกไว้นอกผิวหนัง (external fixation) ส่วนในเมืองไทยนิยมใช้โลหะตามกระดูกไว้ใต้ผิวหนัง (internal fixation)




ขอขอบคุณข้อมูลจาก

สิงหาคม 2554 ISSUE 04

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ขาโก่ง...ปัญหาของสาวอยากสวย อัปเดตล่าสุด 13 กรกฎาคม 2555 เวลา 15:46:33 12,240 อ่าน
TOP