x close

ยาสลบกับการศัลยกรรม เรื่องน่ารู้ก่อนทำสวยด้วยมีดหมอ




เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

          ความกังวลอีกประการหนึ่งของผู้ที่ตัดสินใจเข้ารับการทำศัลยกรรม นอกจากจะกังวลเรื่องผลที่จะได้หลังเสร็จสิ้นกระบวนการแล้ว ยังมีความกังวลเรื่องการเตรียมตัวเข้ารับการทำศัลยกรรม อย่างการใช้ยาชาหรือยาสลบอีกด้วย เพราะในช่วงเวลาเหล่านี้เท่ากับว่าผู้ป่วยหรือผู้ที่เข้ารับการทำศัลยกรรมได้ทิ้งชีวิต และความไว้ใจทั้งปวงเอาไว้ในมือแพทย์แล้ว แต่อย่างไรก็ตามการใช้ยาชาหรือยาสลบก็เพื่อบรรเทาความกลัว ความเจ็บปวด และความรู้สึกผิดปกติกับร่างกายระหว่างกระบวนการผ่าตัดนั่นเอง เพื่อลดความกังวล และสร้างความเข้าใจที่ดีระหว่างแพทย์และตัวผู้เข้ารับการทำศัลยกรรม ลองมาดูสิ่งที่ผู้เข้ารับการทำศัลยกรรมควรทราบก่อนเข้าสู่กระบวนการเสริมความงามกันค่ะ

ใครคือผู้ทำการให้ยาชา/ยาสลบ ?

          การได้ทราบว่าผู้ที่จะวางยาชา/ยาสลบแก่คุณคือใคร ก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการได้รู้จัก และได้ศึกษาประวัติ ข้อมูลของแพทย์ผู้จะลงมือศัลยกรรมให้กับคุณ ในการผ่าตัดศัลยกรรมนั้น แพทย์ผู้ลงมือผ่าตัดไม่ใช่ผู้วางยาชาหรือสลบเสมอไป แต่ผู้ที่ทำหน้าที่นี้โดยตรงเรียกว่า วิสัญญีแพทย์ ซึ่งมาจากบุคคลสองกลุ่มดังต่อไปนี้

          1. แพทย์ผู้ศึกษามาทางวิสัญญีวิทยา เป็นแพทย์ผู้จบการศึกษาวิชาสายวิสัญญีวิทยามาโดยเฉพาะ มีความเชี่ยวชาญด้านการวางยาชาและยาสลบเป็นพิเศษ

          2. พยาบาลผู้จบหลักสูตรวิสัญญีวิทยาและทำงานภายใต้การควบคุมของแพทย์ เป็นผู้ศึกษามาทางการพยาบาล แต่ได้มาศึกษาเพิ่มเติมเรื่องการให้ยาชาและยาสลบ แต่อย่างไรก็ตามต้องทำงานภายใต้การดูแลควบคุมของแพทย์อีกทีหนึ่ง

          หากผู้ให้ยาชาหรือยาสลบเป็นหนึ่งในบุคคลสองกลุ่มนี้ คุณก็สามารถวางใจในการผ่าตัดครั้งนี้ไปได้เปลาะหนึ่งแล้ว ทีนี้มาทำความรู้จักประเภทของยาชาและยาสลบกันบ้างดูบ้างนะคะ

ประเภทของยาชา/ยาสลบ

1. ยาชาเฉพาะจุด (Local Anesthesia)

          ยาชาแบบนี้ใช้ในการผ่าตัดเล็กทั่วไป เป็นการทำให้เกิดอาการชาในบริเวณเล็ก ๆ รู้สึกถึงแรงกด แต่ไม่เจ็บ เช่น การเย็บปิดบาดแผล ถอนฟัน ฯลฯ โดยผู้ป่วยจะรู้ตัวตลอดการผ่าตัด

2. ยาชาออกฤทธิ์เฉพาะบริเวณ (Regional Anesthesia)

          การฉีดยาชาเฉพาะที่คือการฉีดยาชาเข้าไปรอบ ๆ กลุ่มเส้นประสาท เพื่อให้บางส่วนของร่างกายเกิดอาการชา ไร้ความรู้สึก เช่นที่ แขน ขา ฯลฯ โดยที่ผู้ป่วยจะยังรู้สึกตัวและมีสติอยู่ตลอดเวลา ในบางกรณีแพทย์อาจให้ยากล่อมประสาทร่วมด้วย เพื่อให้ผู้ป่วยหลับและคลายความกังวล 

3. ยาสลบ (General Anesthesia)

          ในกรณีนี้ผู้ป่วยจะถูกทำให้หมดสติโดยสมบูรณ์ โดยการทำให้สลบผ่านการให้ยาสลบทางหลอดเลือดดำ (Intravenous Sedation) หรือการสูดดมไอระเหยผ่านทางหน้ากากก็ได้ ซึ่งจะใช้ในการผ่าตัดใหญ่ที่ต้องการตัดทั้งเรื่องความเจ็บปวดและความวิตกกังวลของผู้ป่วย

          การที่แพทย์จะเลือกใช้ยาชา/ยาสลบชนิดไหนกับคุณนั้น ขึ้นอยู่กับประเภทของการผ่าตัด ว่าเป็นการผ่าตัดเล็กหรือใหญ่ รวมทั้งพิจารณาจากสภาพร่างกายของคนไข้ด้วย ..และนี่ก็คือเรื่องราวเกี่ยวกับยาสลบและยาชาที่ผู้ที่จะเข้ารับการทำศัลยกรรมควรจะทราบเอาไว้ในเบื้องต้นค่ะ



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ยาสลบกับการศัลยกรรม เรื่องน่ารู้ก่อนทำสวยด้วยมีดหมอ อัปเดตล่าสุด 28 กุมภาพันธ์ 2555 เวลา 10:18:20 1,410 อ่าน
TOP