x close

เตรียมพร้อมรับมือรูปร่างเปลี่ยน

ตั้งครรภ์

เตรียมพร้อมรับมือรูปร่างเปลี่ยน
(momypedia)
โดย: ดาด้า

             ใดใดในโลกล้วนเปลี่ยนแปลง รวมถึงร่างกายของคุณแม่ตั้งครรภ์ด้วยค่ะ สิ่งที่เปลี่ยนแปลงชัดเจนที่สุด 3 ส่วนด้วยกันค่ะ คือ เต้านม ขนาดท้อง และน้ำหนัก เหล่านี้เปลี่ยนแปลงเพราะอะไร และจะรับมือกับการเปลี่ยนทางรูปร่างนี้อย่างไร

เต้านมขยายใหญ่

            ไตรมาสที่ 1 : ช่วงแรกของการตั้งครรภ์คุณแม่จะรู้สึกคัดตึงที่เต้านม เพราะมีเลือดคั่งบริเวณเต้านม ซึ่งถ้าสังเกตจะเห็นว่ามีเส้นเลือดใต้ผิวหนังเป็นร่างแหสีเขียว ขณะที่ฐานหัวนมจะดำและเกิดตุ่มเล็ก ๆ โดยรอบเรียกว่า "ตุ่มมอนต์โกเมอรี" (Montgomery)

            ไตรมาสที่ 2 : เต้านมเริ่มมีไขมันสะสม มีต่อมและท่อส่งน้ำนม และขนาดของเต้านมจะค่อย ๆ ขยายใหญ่ขึ้น

            ไตรมาสที่ 3 : ในช่วงนี้เต้านมจะขยายใหญ่มากกว่าในช่วงแรกค่ะ เพื่อนคุณแม่ดาด้าบางคนชื่นชอบหน้าอกหน้าใจตัวเองมาก เพราะเต้านมเต่งตึงและดูมีน้ำมีนวลมากกว่าที่เคยเป็นมา นั่นเพราะเต้านมเริ่มผลิตน้ำนมออกมาเพื่อเตรียมรับลูกน้อยที่กำลังจะคลอดนี้เองค่ะ

Prepare for your Shape

            ตลอดการตั้งครรภ์ขนาดหน้าอกคุณแม่จะเพิ่มขึ้นประมาณ 2-3 ไซซ์ (คุณแม่บางคนอาจจะมากกว่านี้) คุณแม่อย่าลืมที่จะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของขนาดหน้าอกนะคะ

เลือกชุดชั้นในที่เหมาะ

            ควรเริ่มเปลี่ยนชุดชั้นในช่วงไตรมาสที่ 2 ประมาณสัปดาห์ 10-12 เป็นต้นไป เพราะเป็นช่วงที่เต้านมเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงแล้ว

            เลือกโครงสร้างชุดชั้นในแบบรูปทรงกระเช้า เพื่อรองรับส่วนเต้านมที่ขยายใหญ่ขึ้น สายบ่ากว้างเพื่อกระจายน้ำหนักได้ดีกว่า สำหรับคุณแม่ที่หน้าอกใหญ่ ไม่ควรเลือกชุดชั้นในสายเล็กเพราะจะกดทับไหล่และทำให้ปวดหลัง

            เลือกแบบที่มีตะขอหลังที่สามารถปรับได้หลายระดับ ซึ่งจะช่วยให้คุณแม่ประหยัดกรณีที่คุณแม่อ้วนขึ้น

            เมื่อทดลองสวมชุดชั้นในแล้วสามารถเก็บเต้านมได้หมด แนวเสื้อราบกับลำตัวพอดี ไม่ถูกดึงรั้งให้สูงขึ้นไป

            หากซื้อชุดชั้นในช่วงไตรมาสที่ 3 คุณแม่อาจจะเลือกซื้อแบบที่เปิดฝาด้านหน้าเผื่อไว้ในช่วงหลังคลอดที่ต้องให้นมเลยก็ได้นะคะ

ดูแลเต้านม

            หากรู้สึกคัดตึงที่เต้านมอย่าเกาหรือใช้มือกดเค้นที่เต้านมอย่างรุนแรงนะคะ เพราะจะทำให้เต้านมอักเสบ แต่ควรดูแลเต้านม ด้วยวิธีต่อไปนี้

            ใช้น้ำอุ่นประคบเต้านมเพื่อช่วยบรรเทาอาการคัดตึง

            หมั่นทาครีมที่เต้านม เพราะเต้านมที่ขยายใหญ่ขึ้นนั้น อาจจะทำให้ผิวบริเวณเต้านมแตกลาย

            บริหารเต้านมเพื่อคงความกระชับ ด้วยการยืนหันหน้าเข้าหาผนัง ระยะห่าง 1 ช่วงแขนโดยมือทาบบนผนัง ขณะหายใจเข้าให้งอศอกกดลำตัวเข้าชิดผนัง จากนั้นหายใจออกแล้วยืดแขนจนสุดดันตัวเองออกจากผนัง คล้ายท่าซิตอัพแต่เป็นท่ายืน ทำประมาณ5-10ครั้ง จะช่วยกระชับกล้ามเนื้อบริเวณเต้านมได้

            ส่วนในช่วงไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์หากรู้สึกตัดตึงเพราะเต้านมเริ่ม ผลิตน้ำนมแล้ว คุณแม่สามารถใช้นิ้วคลึงที่บริเวณลานนมเบา ๆ เป็นวิธีที่ช่วยป้องกันหัวนมบอดได้

ขนาดท้อง

            ไตรมาสที่ 1 : ขนาดของท้องจะสัมพันธ์กับขนาดของมดลูก ซึ่งในช่วงแรกที่ยังเป็นตัวอ่อนนี้ ขนาดมดลูกอาจจะใหญ่ขึ้นมากว่าผลส้มนิดหน่อย จึงยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงของขนาดท้องมากนัก

            ไตรมาสที่ 2 : มดลูกจะค่อยๆ ขยายตัวอย่างรวดเร็วจนเริ่มโผล่พ้นของกระดูกหัวหน่าวขึ้นไป ซึ่งขนาดท้องก็จะเริ่มขยายขึ้น เพราะลูกน้อยในครรภ์เป็นทารกและมีอวัยวะแล้ว จนในช่วงท้ายไตรมาสที่สองก็จะเริ่มเห็นขนาดท้องที่ใหญ่ขึ้นแล้วค่ะ

            ไตรมาสที่ 3 : มดลูกเริ่มขยายใหญ่เต็มที่ ขนาดมดลูกใหญ่กว่าขนาดตัวลูกน้อย ช่วงนี้คุณแม่เอวจะเริ่มหาย เพราะเมื่อท้องโตขึ้นเอวก็ขยายขนาดตามไปด้วย ขนาดท้องแต่ละคนแตกต่างกันขึ้นอยู่กับความสูงและโครงสร้างร่างกายนะคะ หลายคนที่กังวลว่าท้องเล็กแล้วลูกจะไม่สมบูรณ์ หากให้คุณหมอตรวจแล้วพบว่าปกติดีก็ไม่มีเรื่องที่ต้องกังวล

Prepare for your Shape

เลือกเสื้อใส่สบาย

            ด้วยความที่ช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ท้องยังไม่ขยายมากนัก แต่อย่าเผลอใส่กางเกงยีนหรือกระโปรงเอวต่ำที่รัดติ้วตัวเดิมนะคะ เพราะจะกดทับที่มดลูก ซึ่งอาจจะกระทบกับลูกน้อยในครรภ์ และยังทำให้คุณแม่ไม่สบายตัว เพราะระหว่างการตั้งครรภ์อาจจะเกิดอาการท้องอืดท้องเฟ้อ การใส่เสื้อผ้าหลวม ๆ จะช่วยบรรเทาอาการลงได้ค่ะ

            เลือกเนื้อผ้าแบบยืดขยายได้ เช่น ผ้ายืดสแปนเด็กซ์ ผ้าที่มีส่วนผสมของไลครา หรือผ้าฝ้ายที่มีคุณสมบัติในการระบายอากาศ เหมาะกับคุณแม่ท้องทุกไตรมาสค่ะ โดยเฉพาะท้ายไตรมาสที่ 2 และไตรมาสที่ 3 คุณแม่อาจจะเคลื่อนไหวลำบาก การใส่เนื้อผ้าสบายจะช่วยให้การเคลื่อนไหวคล่องตัวขึ้น

            ในช่วงไตรมาส 3 ท้องคุณแม่ขยายขนาดเต็มที่ การเลือกกางเกงหรือใช้ผ้าพยุงหน้าท้องมีส่วนช่วยพยุงท้องที่มีขนาดใหญ่ของคุณแม่ได้

Concern:

ไตรมาสสุดท้ายเมื่อใกล้ถึงกำหนดคลอดลูกในครรภ์จะเริ่มเคลื่อนศีรษะเข้าสู่ช่อง เชิงกราน คุณแม่อาจจะรู้สึกว่าท้องเล็กลงนี่คืออาการท้องลดค่ะ ถือเป็นสัญญาณใกล้คลอดของคุณแม่ได้นะคะ

น้ำหนัก

            ไตรมาสที่ 1 : น้ำหนักอาจจะยังไม่เปลี่ยนแปลงมากเ อาจพิ่มขึ้นไม่เกิน 2 กิโลกรัม แบ่งเป็นน้ำหนักลูกน้อยประมาณ 48 กรัม ที่เหลือคือส่วนที่ขยายของมดลูก เต้านม รก และน้ำคร่ำ รวมถึงปริมาณเลือดที่เพิ่มขึ้น แต่คุณแม่บางคนอาจจะน้ำหนักลดลงเพราะอาการแพ้ท้องอย่างหนัก

            ไตรมาสที่ 2 : น้ำหนักอาจจะเพิ่มขึ้นประมาณ 4-5 กิโลกรัม แบ่งเป็นน้ำหนักของลูกเพียง 1 กิโลกรัม ที่เหลือเป็นรก น้ำคร่ำ ส่วนขยายของเต้านม มดลูก ปริมาณเลือดและน้ำที่เพิ่มขึ้น ซึ่งช่วงนี้คุณแม่จะมีไขมันสะสมอยู่ในตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 1 กิโลกรัม

            ไตรมาสที่ 3 : น้ำหนักอาจจะเพิ่มขึ้นจากเดิมประมาณ 4-5 กิโลกรัม ซึ่งลูกในครรภ์จะมีน้ำหนัก 3-4 กิโลกรัม ที่เหลือเป็นรก น้ำคร่ำ และส่วนขยายของเต้านม มดลูก รวมถึงปริมาณเลือดและน้ำที่เพิ่มขึ้น และช่วงนี้คุณแม่จะมีไขมันสะสมอยู่ในตัวเท่ากับน้ำหนักตัวของลูก

Prepare for your Shape

เลือกโภชนาการดี

            โภชนาการช่วงนี้เป็นสิ่งที่คุณแม่ต้องระวัง หากยึดคติเดิมๆ ว่า “ฉันกินเผื่อลูก” จะทำให้คุณแม่หนักใจกับน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นภายหลัง หากไม่อยากกังวลใจกับน้ำหนัก ควรควบคุมให้น้ำหนักขึ้นตลอดการตั้งครรภ์ประมาณ 10-12 กิโลกรัม

            เลี่ยงอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต ไขมัน น้ำตาลและจังก์ฟู้ด กินได้พอหายอยากแต่อย่าเพลินจนลืมหยุด อาหารเหล่านี้จะกลายเป็นไขมันสะสมในร่างกายคุณแม่ ซึ่งลดยากหลังคลอดเชียวค่ะ และมันอาจจะกลายเป็นไขมันหรือเซลลูไลต์ไปแล้วก็ได้

ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม

            เลือกออกกำลังกายที่เหมาะสมและถูกจริตความชอบของคุณแม่เองนะคะ อย่าลืมที่จะออกกำลังอย่างเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง การออกกำลังกายที่เหมาะสมในช่วงตั้งครรภ์ เช่น โยคะ ว่ายน้ำ เดิน หรือฟิตบอล การออกกำลังกายนั้นควรทำอย่างต่อเนื่องและอย่าหักโหม โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสที่ 3 เพราะจะกระทบต่อลูกน้อยในครรภ์ได้นะคะ

            คุณแม่อย่าเผลอเอาใจไปติดอยู่กับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นช่วงนี้มากนัก เพราะการที่สรีระเปลี่ยนแปลงระหว่างตั้งครรภ์เป็นเรื่องปกติ หลังคลอดแล้วทุกอย่างจะกลับมาเหมือนเดิมค่ะ อย่าเพิ่ง อด งด ลด อาหารเพราะกลัวจะอ้วน นึกถึงลูกแล้วเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และปฏิบัติตามที่คุณหมอแนะนำ อย่างเคร่งครัด หลังคลอดคุณแม่ก็จะมีรูปร่างดีเหมือนเดิมได้ค่ะ

สิ่งที่เปลี่ยนแปลงตลอดการตั้งครรภ์

            สรีระของร่างกาย 39% อวัยวะภายใน ได้แก่ เลือด 22% น้ำคร่ำ 11% มดลูก 11% รก 9% หน้าอก 8% น้ำหนักควรขึ้นอาทิตย์ละ ½-1 กก. ต่อสัปดาห์ตลอดการตั้งครรภ์


เรื่องราวผู้หญิง ความสวยงาม แฟชั่น ความรัก มากมาย คลิกเลย

คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ



ขอขอบคุณข้อมูลจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เตรียมพร้อมรับมือรูปร่างเปลี่ยน อัปเดตล่าสุด 22 กุมภาพันธ์ 2553 เวลา 14:47:01 3,338 อ่าน
TOP