สมรสพระราชทาน

สมรสพระราชทาน
สมรสพระราชทาน


สรุปข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก สยามดารา

        ระยะหลังๆ มานี้ เรามักจะได้เห็นคู่รักดาราหลายคู่ที่แต่งงาน และเข้ารับพระราชทานน้ำสังข์กันเป็นส่วนใหญ่ ทำให้เราๆ ท่านๆ กระทั่งว่าที่บ่าวสาวหลายต่อหลายคู่ แอบสงสัยว่า จริงๆ แล้วการขอพระราชทานน้ำสังข์นั้นมีระเบียบวิธีการอย่างไร และใครบ้างที่สามารถเข้ารับน้ำสังข์พระราชทานได้


          หนังสือ "รวมเรื่องและข้อปฏิบัติ เกี่ยวกับราชสำนัก" ให้รายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้ ไว้ว่า ... การขอพระราชทานให้ทรงประกอบพิธีสมรส หรือที่เรียกว่า ขอพระราชทานน้ำสังข์ นั้น มี 2 แบบ คือ... 

          - แบบเป็นทางการ 
          - แบบส่วนพระองค์ ซึ่งเรียกว่า น้ำสังข์ข้างที่ 

 สำหรับเกณฑ์ การพระราชทานน้ำสังข์ ให้บุคคลต่างๆ นั้น ส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับหลัก ดังนี้... 

          1. พระราชทาน แก่ผู้ที่ทรงรู้จัก คุ้นเคย 

          2. ทรงรู้จัก บิดา มารดา ของผู้ขอพระราชทาน 

          3. ผู้บังคับบัญชา เป็นผู้ขอ พระราชทาน ให้ ในกรณีที่เป็น ตำรวจ ทหาร หรือ พลเรือน ที่ไม่อยู่ในเกณฑ์ข้อ 1 และ 2 

          4. ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน เป็นกรณีพิเศษ 

          ทั้งนี้ ในขั้นแรก ผู้ขอพระราชทานน้ำสังข์ต้องทราบก่อนว่า ต้องการจะขอพระราชทานน้ำสังข์จากใคร ในการนี้จะใช้สำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ และสมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดาฯ 

          จากนั้นต้องทำหนังสือไปยังสำนักราชเลขาธิการ ขอให้นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานน้ำสังข์ เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จะทรงประกอบพิธีสมรสพระราชทานแล้ว ให้คู่สมรสติดต่อสำนักพระราชวัง เพื่อแจ้งรายชื่อสักขีพยานทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง ซึ่งกำหนดให้มีได้ฝ่ายละ 4 คน รวมทั้งชื่อบิดามารดาหรือผู้ปกครองของแต่ละฝ่าย สำหรับผู้ที่ยังไม่เคยเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทตามประเพณีบิดามารดาหรือผู้ปกครอง จะต้องนำคู่สมรสเข้าเฝ้าฯ ถวายตัวเสียก่อน

  สรุปลำดับขั้นตอนในการขอสมรสพระราชทาน 

          1. เขียนคำร้อง แจ้งความประสงค์เข้าไปที่สำนักพระราชวัง โดยนำเอกสารแบบฟอร์มขอพระราชทานน้ำสังข์ จากกองงานฯ มากรอกรายละเอียด เขียนประวัติของคู่บ่าวสาว และความสัมพันธ์กับเชื้อพระวงศ์ หรือถ้ามีคนในครอบครัวคนใด มีโอกาสได้ถวายงาน ก็ให้เขียนรายละเอียดลงไปด้วยจะเป็นการดี และเราสามารถระบุช่วงเวลาที่เราต้องการได้ เช่น ระหว่างปี 2549-2550 จากนั้นก็รอหมายแจ้งจากทางสำนักพระราชวัง 

          2. ทางสำนักพระราชวังแจ้งหมายกำหนดการวันเวลา และสถานที่ที่จะทำการเข้าเฝ้าฯ ช่วงระยะเวลาการรอจะแตกต่างกันไปในแต่ละคู่ ขึ้นกับจำนวนผู้ที่ทำเรื่องไว้ก่อนแล้ว และความสัมพันธ์ที่มีต่อพระราชวงศ์องค์นั้นๆ 

          3. แจ้งรายชื่อผู้ติดตามทั้งหมด (บิดา-มารดา และพยานของทั้งสองฝ่าย) ตามหนังสือระเบียบการ แจ้งว่าให้มีผู้ติดตามทั้งสองฝ่าย รวมกันไม่เกิน 8 ท่าน (รวม คู่บ่าว-สาว เป็นทั้งหมด 10 ท่าน)

          4. ถ้าต้องการจดทะเบียนสมรสในวันนั้น
ให้เตรียมเอกสารตามที่ระบุ เช่น สำเนาทะเบียนบ้าน บัตรประชาชน และค่าธรรมเนียม 200 บาทให้ทางสำนักพระราชวังก่อนวันเข้ารับพระราชทานน้ำสังข์ 

          5. ทางสำนักพระราชวัง จะกำหนดวันนัดซ้อมก่อนวันเข้าเฝ้าฯ 

          6. นัดซ้อมอีกครั้งในวันจริงพร้อมกันทั้งหมด (คู่บ่าว-สาว และผู้ติดตาม หรือสักขีพยาน) ซึ่งทางสำนักพระราชวัง จะนัดให้ไปถึงก่อนฤกษ์ประมาณ 3 ชั่วโมง และจะมีเจ้าหน้าที่คอยกำกับบอกแก้ไขจุดที่บกพร่องอีกครั้ง ไม่ต้องกังวลเรื่องรายละเอียดว่าเราต้องทำอะไร อย่างไรในตอนเข้าเฝ้าฯ เพราะทางเจ้าหน้าที่เค้าจะคอยฝึกสอนให้


          7. การแต่งกาย เจ้าบ่าวถ้าเป็นข้าราชการ ให้แต่งเครื่องแบบเต็มยศ ถ้าเป็นพลเรือนให้ใช้ชุดราชประแตน พร้อมติดเครื่องหมายเข้าเฝ้าที่คอเสื้อ 

          ส่วนเจ้าสาว ใส่ชุดไทยบรมพิมาน (ไม่กำหนดสีหรือชนิดของผ้า) แต่ ชุดไทยบรมพิมาน ที่ถูกแบบแผนนั้น จะต้องไม่มี ผ่าหลัง หรือ ผ่าหน้า  เพราะจะไม่สุภาพเวลาก้มกราบ และ หมอบคลาน แนะนำให้ ช่างเสื้อ จับจีบหน้านาง ประมาณ 2 จีบ ซึ่งจะกว้างกำลังดี ทำ ให้เรา หมอบกราบ ได้สะดวก ในวัน ลองชุด ควรลองหมอบ กราบ และ คลานเข่า ส่วนเรื่อง รองเท้า ไม่อนุญาตให้มี สายคาด หรือ สายรัดข้อเท้า ต้องเป็นแบบสวม หุ้มส้น เท่านั้น 

          สำหรับเครื่องประดับ ก็ควรใส่เพียงน้อยชิ้น ไม่มีควรเป็นระย้า ห้อยตุ้งติ้ง เพราะต้องมีการก้มกราบหลายครั้ง เกรงว่าสร้อยหรือตุ้มหูจะพันกันเอง หรือพันเส้นผมได้ และจะทำให้แลดูไม่งาม ส่วนสักขีพยานที่เป็นผู้หญิง ให้ใช้ ชุดไทยจิตรลดา 

          8. แบบผมของผู้หญิงควรเป็นทรงที่เรียบร้อย ไม่รุงรัง และไม่ฉีดสเปรย์ใส่ผมมากเกินไปจนเหนียวเหนอะหนะ เพราะอาจทำให้มีปัญหาในการทัดใบมะตูมได้ 

          9. เตรียมพานดอกไม้ ธูปเทียน สำหรับวันที่เข้าเฝ้าฯ หรือในวันจริง ถ้าเกรงว่าจะไม่ถูกต้องตามประเพณีก็สามารถให้ทางพระราชวังเตรียมให้ โดยให้ไปติดต่อแจ้งความจำนงและชำระเงินไว้ เมื่อถึงเวลาเข้าเฝ้าฯ ของเรา ทางเจ้าหน้าที่จะเป็นคนจัดการนำมาวางไว้ให้ที่โต๊ะ

          เมื่อถึงวันที่ทรงประกอบพิธี คู่สมรสต้องนำพานดอกไม้ธูปเทียนไปทูลเกล้าฯ ถวายคนละ 1 ชุด หลังจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถเสด็จฯ เข้าห้องพิธี เมื่อประทับนั่งแล้วคู่สมรสจะเข้ารับพระราชทานน้ำสังข์และใบมะตูม ทรงเจิมพระราชทาน 

          จากนั้นคู่สมรสจะลงนามในสมุดทะเบียนก่อน แล้วเจ้าพนักงานจะเชิญสมุดทะเบียนไปทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย แล้วจึงเป็นการลงนามของบิดามารดาหรือผู้ปกครอง ตลอดจนสักขีพยานทั้งสองฝ่ายเสร็จแล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้คู่สมรสเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทอีกครั้งหนึ่ง เพื่อพระราชทานเงินทุนแก่คู่สมรส พระราชทานพระบรมราโชวาทและพระราชทานพร


          10. เมื่อเสร็จพิธีในส่วนของเราแล้วก็สามารถกลับได้เลย ไม่ต้องรอให้ทำพิธีจนครบทุกคู่ (ปกติวันที่ทรงพระราชทานน้ำสังข์จะมีประมาณ 6-8 คู่ ทางสำนักพระราชวัง จะเป็นคนกำหนดแจ้งลำดับก่อนหลังมาให้)



  ตัวอย่างการ์ดแต่งงาน 


เนื่องในโอกาสที่

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมประกอบพิธีสมรสพระราชทาน

ระหว่าง

เจ้าสาว........... กับ   เจ้าบ่าว.........

บุตรี บุตร

บิดา บิดา

มารดา มารดา

เพื่อเป็นเกียรติแก่คู่สมรส

..........ประธาน........

มีความยินดีขอกราบเรียน เรียนเชิญ

ร่วมงานเลี้ยงฉลองสมรสพระราชทาน

ณ ห้อง....... โรงแรม.............

วันที่ ..............พุทธศักราช

เวลา......นาฬิกา

(ขออภัยหากมิได้มาเรียนเชิญด้วยตนเอง)


          หมายเหตุ : ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมประกอบพิธีสมรสพระราชทาน

          ที่ตั้งสำนักราชเลขาธิการ : สำนักราชเลขาธิการ พระบรมมหาราชวัง ถนนหน้าพระลาน กรุงเทพฯ 10200  โทร. 02 2255833-43, 02 2253457-67 โทรสาร 02 2243259 



ขอขอบคุณข้อมูลจาก
palaces.thai.net
thaiweddingmall.com
pirun.ku.ac.th 


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สมรสพระราชทาน อัปเดตล่าสุด 2 กันยายน 2552 เวลา 11:12:33 4,320 อ่าน
TOP
x close